×

บุฟเฟต์ กินอย่างไรให้คุ้ม?

31.07.2020
  • LOADING...

สำหรับคนเล่นทวิตเตอร์ จะเข้าใจดีว่าเราแต่ละคนต่างมีแฮชแท็กที่ชอบแอบเข้าไปส่องตามแต่ความสนใจส่วนตัว สำหรับหมอเองก็มีหนึ่งแฮชแท็กที่ว่างๆ ก็จะเผลอไปส่องและไถฟีดดู นั่นคือแฮชแท็กฮิต #อร่อยไปแดก ซึ่งในฟีดจะเต็มไปด้วยโพสรีวิวร้านอาหารและเมนูอาหารอร่อยหลากหลาย และแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเน้นที่รสชาติมากกว่าเรื่องสุขภาพ แต่หมอซึ่งเป็นสายแข็งสุขภาพ ก็ชอบเข้าไปส่องเพื่อให้ทราบว่าคนกำลังฮิตกินอะไรกันอยู่บ้าง ซึ่งหมอสังเกตว่าหนึ่งในประเภทร้านอาหารที่ได้รับความนิยมมาตลอดสำหรับสาย #อร่อยไปแดกคือ บุฟเฟต์ โดยเฉพาะบุฟเฟต์เกาหลีและบุฟเฟต์ชาบูที่กำลังมาแรงในช่วงนี้

ร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์หรือ All You Can Eat นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หมอเองถูกพาไปลิ้มลองร้านประเภทนี้ตั้งแต่วัยเด็ก ต้องยอมรับว่าในตอนนั้นรู้สึกว่าร้านอาหารที่กินได้ไม่อั้นนั้นว้าวสุดๆ ชอบความรู้สึกที่จะกินอะไรแค่ไหนก็ได้ และแอบงงว่าร้านจะคุ้มได้อย่างไร จนกระทั่งโตขึ้นหน่อย ได้มีโอกาสอ่านหนังสือต่างๆ จึงเข้าใจเศรษฐศาสตร์ของบุฟเฟต์ว่า ความคุ้มหรือไม่นั้นเป็นการรับรู้ของแต่ละคน แม้คนส่วนใหญ่จะรับรู้ว่าตัวเองกินได้คุ้มกับเงินที่จ่ายไป ส่วนสิ่งที่ร้านอาหารรับรู้คือกำไรที่ได้จากส่วนต่างของเงินที่ได้รับจากลูกค้าทั้งหมดกับต้นทุนอาหารที่จ่ายไปในแต่ละวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะกำไรมากกว่าขาดทุน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าที่กินจัดเต็มจนมูลค่าอาหารที่กินมากกว่ามูลค่าเงินที่จ่ายไปนั้นมีไม่มาก และส่วนใหญ่มากับลูกค้าที่กินน้อยกว่า เช่น ภรรยา แม่ หรือลูก ร้านอาหารแบบบุฟเฟต์จึงมีแนวโน้มที่จะทำตัวให้เป็นร้านอาหารของครอบครัว ซึ่งจะนำมาสู่ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในภาพรวม และยิ่งลูกค้ามากขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิด Economies of Scale ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่างๆ ลดลง และขยายตัวเลขกำไรให้เพิ่มขึ้นตาม

 

 

สำหรับลูกค้า หากเรามองในแง่กินให้คุ้มทางเศรษฐศาสตร์ ย่อมหมายถึงกินให้มากกว่าเงินที่จ่ายไป ซึ่งหลายครั้งหมายถึงกินเกินขีดของความอิ่ม งานวิจัยพบว่า การเลือกที่จะกินร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์บ่อยสัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโรคอ้วนนั้นนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก และอื่นๆ อีกมากมายหลายโรค นั่นแสดงว่าในการกินบุฟเฟต์นั้น นอกจากการเสียเงินแล้ว ยังมีการเสียสุขภาพเป็นต้นทุนแฝงที่เราลืมนำมาคำนวณด้วย

หมอจึงอยากเสนออีกทางเลือกหนึ่งในการวัดความคุ้มจากการกินบุฟเฟต์ คือเปลี่ยนมาประเมินความคุ้มในมุมความสุข เริ่มจาก สุขกาย คือกินให้ร่างกายไม่ลำบาก กางเกงไม่ปริ เครื่องชั่งน้ำหนักไม่โวยวาย โดยทิปส์ง่ายๆ ข้อหนึ่งที่สามารถทำได้คือ รอบแรกเริ่มจากอาหารที่ดีต่อสุขภาพก่อน 

 

 

วิจัยพบว่า คนที่เริ่มจานแรกของบุฟเฟต์ด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีแนวโน้มจะกินน้อยกว่าคนที่เริ่มจานแรกด้วยอาหารชวนอ้วน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ครั้งหน้าที่ไปกินชาบูบุฟเฟต์ รอบแรกให้ยับยั้งชั่งใจ เริ่มจากเนื้อปลาสดและชุดเห็ดผักรวมก่อน แล้วค่อยต่อไปยังเนื้อหมูหรือเนื้อวากิวในรอบถัดไป จะช่วยให้ภาพรวมในมื้อนั้นของคุณดีต่อสุขภาพขึ้น อีกทิปส์ที่สำคัญแต่คนมักมองข้ามคือ เครื่องดื่ม เพราะบุฟเฟต์มักมาพร้อมเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม การเปลี่ยนเป็นน้ำเปล่า (แม้จะต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่ม) จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลส่วนเกินในมื้อนั้นได้มาก

 

 

อีกหนึ่งความคุ้มที่ควรนำมาประเมินการกินบุฟเฟต์คือ สุขใจ ซึ่งจะเพิ่มความคุ้มได้เมื่อเราเปลี่ยนโฟกัสจากอาหารมาเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะอาหาร เพราะบทสนทนาดีๆ บนโต๊ะอาหารส่งผลให้เรากินช้าลง อิ่มง่ายขึ้น และช่วยให้เอนดอร์ฟินกับเซโรโทนินหลั่งออกมาให้รู้สึกดีได้ ไม่แพ้การกินอาหารชวนอ้วนเป็นปริมาณมากเลยทีเดียว

ท้ายสุดแต่ไม่สุดท้ายคือ ความสุขใจหลังจบมื้ออาหาร ที่เกิดขึ้นเมื่อเราสามารถกินจนอิ่มพอดี ไม่อิ่มเกินพอดี ไม่ผิดแผนที่ตั้งใจไว้ ไม่จุกจนอยากจะไปล้วงคอ และไม่เสียต้นทุนทางสุขภาพมากจนเกินควร ส่วนตัวหมอคิดว่าความคุ้มจากความสุขกายและสุขใจจากการกินบุฟเฟต์แบบทางสายกลางนี้ เป็นความคุ้มที่คู่ควรกับความอร่อยแบบยั่งยืนมากกว่าความคุ้มทางการเงิน

ครั้งหน้าที่ไปกินบุฟเฟต์ ลองนำทิปส์ที่หมอหยิบยกมาเล่าไปใช้ดูนะคะ จะได้ทราบว่าประสบการณ์ #อร่อยไปแดก แบบ #ผอมได้ไม่ต้องอด นั้นคุ้มอย่างไร

 

ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising