การเลือกตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้ข้อสรุปออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด ได้ Electoral College มากถึง 306 เสียง และจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ในขณะเดียวกันพรรคเดโมแครตของเขาก็สามารถรักษาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไว้ได้ แม้จะเสียเก้าอี้จำนวนหนึ่งให้กับพรรครีพับลิกันไปก็ตาม
อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่จบลงเสียทีเดียว เพราะเรายังไม่รู้ว่าเดโมแครตหรือรีพับลิกันจะได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา เพราะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในมลรัฐจอร์เจีย 2 ที่นั่ง (ทั้งการเลือกตั้งปกติและการเลือกตั้งซ่อมเพื่อทดแทนอดีต ส.ว. จอห์นนี ไอแซคสัน ที่ลาออกเมื่อปี 2019 ด้วยปัญหาสุขภาพ) ยังหาผู้ชนะไม่ได้และจะต้องไปเลือกตั้งกันอีกครั้งในวันที่ 5 มกราคม 2021
กฎเกณฑ์เฉพาะตัวของจอร์เจีย
สาเหตุที่จะต้องมีการเลือกตั้งกันอีกรอบในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ เป็นเพราะว่ามลรัฐจอร์เจียมีกฎการเลือกตั้งที่ระบุว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งจำเป็นที่จะต้องได้เสียงเกิน 50% ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่มีผู้สมัครคนไหนได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสองคนต้องมาต่อสู้กันอีกรอบ (Run-off Election) ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งปกติ ผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 คนคือ ส.ว. เจ้าของตำแหน่งเดิมอย่าง เดวิด เพอร์ดู จากพรรครีพับลิกันและผู้ท้าชิงอย่าง จอน ออสซอฟฟ์ จากพรรคเดโมแครต ในส่วนของการเลือกตั้งซ่อมจะเป็นการแข่งกันระหว่าง ส.ว. รักษาการณ์อย่าง เคลลี เลฟเลอร์ จากพรรครีพับลิกัน และผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตอย่างสาธุคุณ ราฟาเอล วอร์นอค
ซึ่งการเลือกตั้งใน 2 เก้าอี้ที่เหลือในมลรัฐจอร์เจียนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดชะตากรรมของรัฐบาลของโจ ไบเดน เพราะหลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตสามารถครองที่นั่งในสภาสูงได้ 48 ที่นั่ง ในขณะที่พรรครีพับลิกันครองที่นั่งไปแล้ว 50 ที่นั่ง ซึ่งก็แปลว่าโอกาสเดียวที่เดโมแครตจะกลับมาครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ คือพวกเขาจะต้องชนะการเลือกตั้งที่จอร์เจียทั้ง 2 ที่นั่ง เพื่อให้ได้เสียงกลับมาเท่ากันที่ 50 ต่อ 50 และให้รองประธานาธิบดีอย่าง คามาลา แฮร์ริส เป็นคนตัดสินเข้าข้างเดโมแครต (Tie-breaker)
สภาสูงจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของรัฐบาลไบเดน
การได้หรือไม่ได้ครอบครองเสียงข้างมากในสภาสูงจะมีผลอย่างมากต่อทิศทางการบริหารประเทศของไบเดน เพราะถ้าหากพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากได้ ไบเดนก็อาจจะมีโอกาสผลักดันนโยบายหลายอย่างของฝ่ายซ้ายได้สำเร็จ เช่น นโยบายลงทุนกับพลังงานสะอาด (คล้ายกับ Green New Deal), การปฏิรูประบบยุติธรรม และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (ถึงแม้ว่าไบเดนอาจจะต้องออกแรงมากหน่อยในการโน้มน้าวให้ ส.ว. สายกลางของพรรคอย่าง โจ แมนชิน จากมลรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย และเคอร์สเตน ซินิมา จากมลรัฐแอริโซนา โหวตให้กับนโยบายของเขา)
ในทำนองตรงกันข้าม ไบเดนและฝ่ายซ้ายในพรรคน่าจะต้องเลิกวาดฝันถึงนโยบายเหล่านี้ไปได้เลย ถ้ารีพับลิกันเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมาก เพราะผู้นำของ ส.ว. ของรีพับลิกันอย่าง มิตช์ แม็กคอนเนลล์ คงจะไม่ยินยอมให้นโยบายเหล่านั้นผ่านมือของเขาไปได้ง่ายๆ ไบเดนน่าจะสามารถผลักดันได้แค่นโยบายกลางๆ เช่น การอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 และการลงทุนกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน
หรือที่อาจจะเลวร้ายไปกว่านั้น แม็กคอนเนลล์อาจจะเล่นบทบาทการเป็นฝ่ายค้านแบบเต็มตัว (Obstructionist) ที่ไม่ยอมให้ไบเดนผ่านนโยบายอะไรได้เลย รวมทั้งไม่ยอมให้แต่งตั้งตุลาการหรือเจ้าหน้าที่เมืองในตำแหน่งสำคัญๆ เลย (แบบที่เขาเคยทำกับบารัก โอบามา ในช่วงปีท้ายๆ ของการเป็นประธานาธิบดี) ซึ่งถ้าแม็กคอนเนลล์ ตัดสินใจแบบนั้น ไบเดนอาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการที่จะดึงเสียงของ ส.ว. สายกลางของพรรครีพับลิกันอย่าง ซูซาน คอลลินส์ จากรัฐเมน, ลิซา เมอร์เคาสกี จากรัฐอะแลสกา และมิตต์ รอมนีย์ จากรัฐยูทาห์ มาสนับสนุนร่างกฎหมายของเขาเป็นครั้งๆ ไป
จอร์เจียคือ ‘ใต้ใหม่’
ออสซอฟฟ์และวอร์นอคมีโอกาสอยู่พอสมควรที่จะชนะการเลือกตั้งในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ถึงแม้ว่าจอร์เจียจะเป็นมลรัฐทางตอนใต้ที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันมาอย่างยาวนาน แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนสามารถพลิกกลับมาเอาชนะทรัมป์ กลายเป็นผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตคนแรกในรอบ 28 ปีที่สามารถเอาชนะได้ในจอร์เจีย
จอร์เจียและมลรัฐทางภาคใต้อื่นๆ เป็นฐานเสียงให้กับพรรครีพับลิกันมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่มลรัฐเหล่านี้คือมลรัฐที่เคยมีการใช้แรงงานทาส ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน แม้ว่าการค้าทาสจะถูกยกเลิกไปแล้วกว่า 150 ปี
คนผิวขาวในภาคใต้มองว่าพรรคเดโมแครตเป็นพรรคของคนดำ และออกนโยบายเอาใจแต่คนดำ ทำให้พวกเขาพร้อมใจกันโหวตให้กับผู้สมัครของพรรครีพับลิกันที่พวกเขามองว่าเป็นพรรคผู้รักษาประโยชน์ให้คนผิวขาวมาโดยตลอดนับตั้งแต่ยุคของริชาร์ด นิกสัน
อย่างไรก็ดี การเติบโตของเมืองแอตแลนตาที่เป็นศูนย์กลางการเงิน การธนาคาร การศึกษา และการแพทย์ของมลรัฐในเขตภาคใต้ ทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองของจอร์เจียเปลี่ยนไป เพราะการเติบโตของแอตแลนตาทำให้ประชากรคนผิวดำเพิ่มขึ้นในเมืองอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการอพยพของคนขาวที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมมาสู่เมืองและชานเมืองรอบๆ ตามการเติบโตของการจ้างงานในรูปแบบที่ต้องอาศัยการศึกษาระดับปริญญาหรือความชำนาญเฉพาะด้าน (Profession)
อันที่จริง พรรคเดโมแครตเห็นโอกาสการพลิกกลับมาชนะที่จอร์เจียมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ในการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 ตัวแทนพรรคอย่าง สเตซีย์ เอบรัมส์ ก็แพ้ให้ผู้สมัครจากรีพับลิกันอย่าง ไบรอัน เคมป์ ไปอย่างฉิวเฉียดแค่ 1.4% ซึ่งหลังจากที่เธอแพ้การเลือกตั้ง เอบรัมส์ก็ได้ทำงานให้พรรคมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพยายามบุกเข้าไปถึงชุมชนคนผิวสีในแอตแลนตา เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด ซึ่งความพยายามตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของเอบรัมส์ก็ดูเหมือนจะได้ผล เพราะแอตแลนตาแทบจะเป็นมหานครเดียวที่คนผิวสีออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในจำนวนที่มากขึ้น และทำให้ไบเดนชนะที่นี่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับสมัยฮิลลารี คลินตัน และเมื่อรวมกับการที่ไบเดนสามารถชนะใจคนผิวขาวในย่านชานเมืองของแอตแลนตาได้ ทำให้ในที่สุดแล้วเขาสามารถเฉือนเอาชนะทรัมป์ไปได้กว่า 14,000 คะแนน
ออสซอฟฟ์และวอร์นอคจำเป็นต้องใช้สูตรเดียวกันกับไบเดนในการที่จะชนะเลือกตั้งที่จอร์เจีย แต่ปัญหาคือเปอร์เซ็นต์การมาใช้สิทธิของคนผิวสีมักจะตกลงอย่างมากในการเลือกตั้งนอกรอบ และเขาทั้งสองก็อาจจะไม่ได้ชนะที่ชานเมืองอย่างเป็นกอบเป็นกำเหมือนไบเดน เพราะเสียงที่ไบเดนได้มาจากชานเมืองน่าจะเป็นเสียงสะท้อนของความไม่ชอบในตัวทรัมป์ มากกว่าพรรครีพับลิกันโดยรวม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์