เมื่อพูดถึงงานศิลปะ ภาพแรกที่ลอยมาในหัวคุณคืออะไร?
ใช่รูปวาด Impression, soleil levant ของ โคลด โมเนต์ หรือไม่ หรือจะเป็นรูปชื่อดังที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง Starry Night ที่วาดโดย วินเซนต์ แวน โก๊ะ หรือเปล่า?
หรืออาจจะเป็นฉากสะเทือนอารมณ์ในภาพยนตร์ชวนเหงา In The Mood for Love (2000) ของ หว่องกาไว หรือฉากประทับใจในภาพยนตร์ภาพชวนฝันที่มู้ดแอนด์โทนสวยแจ่มอย่าง Call Me by Your Name (2017) ของ ลูกา กัวดาญิโน
หรือแท้ที่จริงแล้ว งานศิลปะในความทรงจำของคุณ คือเหล่าบรรดาเพลงโปรดที่คุณเรียกหามันมากล่อมเกลาในทุกเวลาที่ต้องการ
แม้ว่าภาพจำของศิลปะในมุมมองของแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่ที่ทุกคนรับรู้ร่วมกันคือ งานศิลปะทุกชิ้นมี ‘เรื่องราว’ และ ‘อารมณ์ทรงพลัง’ รวมถึง ‘ตัวตน’ ของศิลปินซ่อนไว้อยู่เสมอ ซึ่งในมุมมองของ คุณชินสุวีร์ เจตน์จำรัส ผู้ที่เชื่อมั่นในพลังของแพสชันอย่างสุดหัวใจ มองว่าศิลปะไม่ได้ซ่อนตัวตนของศิลปิน แต่เป็นงานที่เผยถึงความตั้งใจที่จะบอกเล่า ‘แพสชัน’ (Passion) สู่ผู้เสพงานทุกคน แม้ว่าเรากับศิลปินจะไม่เคยโอภาปราศรัยกันเลยก็ตาม
แพสชัน คือพลังพิเศษ รับรู้ได้โดยไม่ต้องบอกเล่า
เพราะไม้บรรทัดใช้วัดคุณค่างานศิลปะไม่ได้ ความชอบของผู้เสพงานก็เป็นเพียงรสนิยมส่วนตัวที่ไม่อาจใช้เป็นมาตรวัดผลงานชิ้นหนึ่งได้ทั้งหมด ดังนั้นนอกจากการขัดเกลางานด้วยแรงบันดาลใจแล้ว ชินสุวีร์ เจตน์จำรัส จึงเชื่อมาโดยตลอดว่า ‘แพสชัน’ หรือ ‘ความหลงใหลอันแรงกล้า’ เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ศิลปินสามารถถ่ายทอดความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความเป็นตัวเองออกมาได้อย่างโดดเด่นและแตกต่าง ซึ่งปัจจัยนี้ถือเป็นเสน่ห์ของงานศิลปะราวกับเป็นเวทมนตร์สะกด เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ต่างดินแดน ต่างภาษา ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาศิลปินมาก่อน แต่ก็สามารถชื่นชมพลังพิเศษนี้ผ่านงานศิลป์ได้อย่างไม่รู้จบ
ชิน-ชินสุวีร์ เจตน์จำรัส ประธานกรรมการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ ALIVE UNITED
แต่การจะขับเคลื่อนแพสชันที่อยู่ในตัวศิลปินให้ออกมาอย่างชัดเจน ไม่ล่องลอย ชินสุวีร์มองว่าบางครั้ง ‘การอดทนรอเวลา’ เพื่อตามหา ‘That Moment’ ก็จะช่วยหลอมรวมแพสชันให้เข้ากับความเป็นศิลปิน จนท้ายที่สุดก็จะได้งานศิลปะที่สร้างความประทับใจได้ และตัวเขาเองก็เคยสัมผัสกับโมเมนต์นั้นมาแล้ว
ผลงานภาพ: ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ – ALIVE’S ARTIST
การได้ร่วมงานกับคุณทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพสายสตรีท เป็นการเติมความเชื่อมั่นเรื่องแพสชันให้กับชินสุวีร์หนักแน่นขึ้นไปอีก เพราะความประทับใจที่มีไม่ได้เกิดจากผลงานเท่านั้น แต่เกิดจากการเข้าถึงแพสชันของศิลปินผู้ที่ลั่นชัตเตอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการรู้จักอดทน เพื่อรอเวลาและหาจังหวะที่สามารถใส่ ‘แรงบันดาลใจ’ และ ‘ตัวตน’ เข้าไปได้อย่างพอดี จนสามารถแสดง ‘ความตั้งใจ’ ‘ความหลงใหล’ และ ‘ความเป็นศิลปิน’ ในงานได้อย่างแจ่มชัด
แพสชัน คือพลังงานให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ตั้ม-ชนิพล กุศลชาติธรรม – Rockkhound (ร็อคฮาวด์) – ALIVE’S ARTIST
นอกจากทวีพงษ์แล้ว ยังมีศิลปินอีกคนที่มีความเต็มเปี่ยมไปด้วย ‘แพสชัน’ ในการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองอย่าง คุณชนิพล กุศลชาติธรรม หรือ ตั้ม Rockkhound ผู้ใช้แพสชันสร้างงานศิลปะเพื่อผลักพาตัวเองไปข้างหน้า มันเป็นความหวือหวาจากพลังงานที่มาจากความทุ่มเทอันเหลือล้น และความทะยานอยากท้าทายตัวเองอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งในมุมมองของคนศรัทธาแพสชันอย่างชินสุวีร์เองมองว่านี่คือเครื่องสะท้อนความเป็นมืออาชีพ และทำให้งานศิลปะเกิดสิ่งใหม่ น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ เพราะทุกๆ ศิลปินที่ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองล้วนแล้วแต่มีพลังในการขับเคลื่อนที่แตกต่างและทรงพลังมากเลยทีเดียว
ผลงานภาพ: ชนิพล กุศลชาติธรรม – ALIVE’S ARTIST
แพสชันเติบโตได้ หากหล่อเลี้ยงให้ถูก ‘พื้นที่’
เชื่อไหมว่า นอกจากศิลปินแล้ว มีอีกอย่างที่สามารถสร้างงานศิลปะได้ คือ ‘พื้นที่’
คุณอาจโต้เถียงอยู่ในใจว่าพื้นที่จะสร้างศิลปะได้อย่างไร ถ้าเช่นนั้น ลองหยิบจับสิ่งของใกล้ตัวมาสักชิ้น จะเป็นแว่นตาที่กำลังใส่อยู่ในตอนนี้ก็ได้ จากนั้นลองมานั่งมองทุกซอกทุกมุมของแว่นตาชิ้นนี้ดู และลองพิจารณาว่าการจะได้แว่นตามาสักชิ้น ต้องใช้ศิลปะอะไรบ้าง ลองให้แว่นตาชิ้นนั้นช่วยเปลี่ยนมุมมองของคุณดู
กระบวนการข้างต้นอาจยากและซับซ้อนไปหน่อย แต่มันจะเข้าใกล้ความเป็นศิลปะทันที หากเรานำแว่นตาไปวางไว้ในพิพิธภัณฑ์หรืออาร์ตแกลเลอรีสักแห่ง แว่นตาก็จะสามารถกลายเป็น Modern Art หรืองานศิลปะสักแขนงหนึ่ง ไม่ต่างกับเหตุการณ์ในปี 2016 ที่มีคนวางแว่นไว้ใน San Francisco Museum of Modern Art และทำให้แว่นตาคู่ใจที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตของผู้สวมใส่สามารถเล่าเรื่องได้ กลายเป็นงานศิลปะที่ผู้คนพร้อมจะค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ จากเหตุการณ์นี้ เราจึงอาจพูดได้ว่า ถึงงานศิลปะจะขับเคลื่อนด้วยความทุ่มเทหลงใหล และมีการเล่าเรื่องที่น่าตื่นเต้นและแปลกใหม่เพียงใด แต่หากปราศจาก ‘พื้นที่’ ที่เข้าใจความสำคัญของ ‘แพสชัน’ รวมถึง ‘พื้นที่’ ที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาค้นหาความหมาย งานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดก็อาจไม่ต่างจากแว่นตาที่วางอยู่ในบ้านเรา
นี่คือที่มาของการเปิดพื้นที่ ALIVE UNITED จากความตั้งใจของชินสุวีร์ ที่อยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นดั่งสะพานเชื่อมผลงานของศิลปินไทยให้คนทั่วโลกได้มองเห็น และแบ่งปันมวลแพสชันที่อัดแน่นไปด้วยกัน โดยที่เอกลักษณ์และตัวตนก็ยังคงอยู่ เพราะต้องยอมรับว่า แม้โลกแห่งศิลปะจะไร้พรมแดน แต่ในความเป็นจริง แพสชันของศิลปินในงานศิลปะตามแพลตฟอร์มที่ขายงานบนโลกออนไลน์ (Online Marketplace) ส่วนมากจะมีเงื่อนไขที่ซับซ้อน ทำให้มีหลายภาพที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก เช่น Noise, Blur หรือ Focus และอีกมากมาย อีกทั้งยังมีขั้นตอนหลายอย่างในการผ่านเกณฑ์ตรวจสอบผลงาน ทั้งที่ผลงานเหล่านั้นมีเรื่องราวหรือคุณภาพของงานที่น่าสนใจและแตกต่าง และเป็นในแบบที่ตัวเองต้องการจริงๆ
ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ – ALIVE’S ARTIST
ถ้ามีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้แพสชันได้สร้างความหมาย ไม่ถูกด้อยค่า อย่าง ALIVE UNITED มารองรับ คนทั่วโลกก็จะสามารถเข้าถึงศิลปะอันน่าตื่นตาของศิลปินไทยทุกรูปแบบได้ โดยไม่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นงานศิลปะประเภทใด ไม่มีเงื่อนไขของขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะไม่ต้องการให้ศิลปินลดแพสชันของตัวเอง แต่อุดมการณ์คือ ตั้งใจให้ศิลปินทุกคนมีส่วนร่วม ‘KEEP PASSION ALIVE’ ในผลงานศิลปะให้ได้
ผลงานภาพ: นิกสิทธิ์ วงศ์สวัสดิ์ – ALIVE’S ARTIST
ไม่ว่าศิลปินจะถนัดศิลปะแบบไหน ขอเพียงตั้งใจลงมือสร้างงานอย่างจริงจังโดยใช้ ‘แพสชัน’ หล่อเลี้ยงและผลักดันให้ศิลปะก้าวไปข้างหน้า ALIVE UNITED ก็พร้อมจะเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้ถ่ายทอดตัวตนและ ‘แพสชัน’ ได้อย่างมีอิสรภาพ
หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่มี ‘แพสชัน’ ในการถ่ายทอดมุมมองของตัวเอง สามารถร่วมเป็นศิลปินได้ที่ aliveunited.com
*จำกัดจำนวนศิลปินเข้าร่วม