×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส ส.ส. หญิงแกร่งจากนิวยอร์ก กับถนนการเมืองที่อาจสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในสหรัฐฯ

18.08.2020
  • LOADING...
อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส ส.ส.

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส (AOC) ส.ส. เขต 14 นิวยอร์ก เป็นนักการเมืองหญิงที่ได้รับการจับตามากที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐฯ ด้วยบุคลิกท้าชน การพูดที่ฉะฉาน หลักแหลม และจุดเด่นเรื่องนโยบายแบบซ้ายสุดโต่ง 
  • AOC เป็นนักการเมืองคนแรกๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการยุบหน่วยงาน ICE หลังจากที่ทรัมป์ออกนโยบายอย่างแข็งกร้าวต่อผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย 
  • อีกนโยบายที่เป็นลายเซ็นของ AOC คือ Green New Deal ซึ่งเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศภายในปี 2050

หากพูดถึงนักการเมืองหญิงในสหรัฐฯ ที่กำลังมาแรงและถูกจับตาจากสื่อมวลชนในประเทศอย่างมาก หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส ส.ส. เขต 14 นิวยอร์กอย่างแน่นอน ด้วยความที่เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีบุคลิกดี ให้สัมภาษณ์สื่อได้อย่างหลักแหลมและฉะฉาน นอกจากนี้เธอยังมีจุดเด่นเรื่องแนวคิดทางการเมืองและนโยบายแบบซ้ายสุดโต่ง

บทความนี้ชวนทำความรู้จักเธอมากยิ่งขึ้นในแง่มุมที่หลายคนอาจยังไม่รู้

 

อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส ส.ส.


อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า AOC เกิดในครอบครัวของผู้อพยพชาวเปอร์โตริโกในย่านบรองซ์ของเมืองนิวยอร์ก ก่อนที่จะไปสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ในเมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งในระหว่างที่เธอเรียนระดับปริญญาตรีอยู่นั้น เธอมีโอกาสไปฝึกงานกับ เท็ด เคนเนดี ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ในขณะนั้น และด้วยความที่เธอสามารถพูดภาษาสเปนได้ ทำให้ AOC มีโอกาสได้เป็นผู้ประสานงานช่วยเหลือผู้อพยพจากเม็กซิโกและอเมริกากลางที่ถูกสำนักงานควบคุมการอพยพและเข้าเมือง (Immigration and Customs Enforcement: ICE) จับกุมตัวเพื่อเนรเทศ

ในปี 2011 ที่ AOC สำเร็จการศึกษานั้นเป็นช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์พอดี ทำให้เธอหางานทำไม่ได้ จึงต้องกลับไปอยู่กับครอบครัวที่บรองซ์ และทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารและบาร์เทนเดอร์ไปก่อน เธอมักให้สัมภาษณ์ว่าชีวิตของเธอช่วงนั้นลำบากมาก เธอต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน แต่นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เธอเข้าใจถึงความยากลำบากที่คนอเมริกันกว่าครึ่งประเทศต้องประสบ

เธอได้มาทำงานการเมืองอีกครั้งในปี 2016 ด้วยการเข้าร่วมเป็นทีมงานหาเสียงเลือกตั้งขั้นต้นของ เบอร์นี แซนเดอร์ส และจากการทำงานกับแซนเดอร์สนี่เองที่ทำให้เธอมีโอกาสพบปะกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาในหลากหลายรูปแบบ เช่น ชาวอเมริกัน-แอฟริกันในเมืองฟลินต์ มลรัฐมิชิแกน ที่ประสบปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำประปา และชาวอินเดียนแดงในมลรัฐนอร์ทดาโกตา ที่กำลังถูกไล่ที่จากโครงการท่อส่งน้ำมันของรัฐบาล ผลจากการเรียนรู้ปัญหาเหล่านี้ทำให้ AOC เกิดแรงบันดาลใจอยากจะลงเล่นการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนของชาวบ้านไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในรัฐสภา

 

หญิงแกร่งจากนิวยอร์ก


ในปี 2018 เธอต้องการลงสมัครเป็น ส.ส. เขต 14 ของนิวยอร์ก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ย่านบรองซ์ทางตะวันตก (บ้านเกิดของเธอ) และย่านควีนส์ทางเหนือ แต่ปัญหาของเธอก็คือเขต 14 นี้มีเจ้าของพื้นที่เดิมอย่าง โจ โครว์ลีย์ ซึ่งเป็น ส.ส. พรรคเดโมแครตเหมือนกันจับจองอยู่แล้ว ที่สำคัญคือโครว์ลีย์เป็นนักการเมืองรุ่นเฮฟวีเวตที่เป็น ส.ส. มาแล้วถึง 10 สมัย และเขาก็เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนต่อไป หาก แนนซี เปโลซี ตัดสินใจที่จะเกษียณตัวเอง

AOC รู้ดีว่าเธอไม่มีเงินทุนสำหรับหาเสียงมากพอที่จะไปสู้กับโครว์ลีย์ด้วยการซื้อโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ได้ เธอจึงเลือกใช้วิธีหาเสียงด้วยการเคาะประตูบ้านและแจกใบปลิวที่มีต้นทุนต่ำกว่า ในส่วนของเนื้อหาในการหาเสียง เธอพยายามเน้นย้ำถึงความแตกต่างของนโยบายของเธอที่เป็นซ้ายแบบสุดโต่ง (ถึงขนาดที่เธอเป็นสมาชิกองค์กรสังคมนิยมแห่งอเมริกา หรือ Democratic Socialist of America)

 

หญิงแกร่งจากนิวยอร์ก


ในขณะที่โครว์ลีย์มีนโยบายแบบกลางซ้าย เธอโจมตีว่านโยบายแบบกลางซ้ายไม่เคยได้ผลจริง คนอเมริกันที่จนก็ยังจนเหมือนเดิม คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ก็ยังเข้าถึงไม่ได้เหมือนเดิม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ชาวบรองซ์และควีนส์จะต้องเลือกนักการเมืองที่มีนโยบายแบบสุดโต่งและมีบุคลิกท้าชน ไม่ประนีประนอมอย่างเธอเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภา นอกจากนี้เธอยังใช้ความเป็นคนผิวสีให้เกิดประโยชน์ด้วยการสื่อสารออกไปว่าย่านบรองซ์และควีนส์เป็นย่านของคนฮิสแปนิกและคนดำ ทำไมเรายังให้คนขาวเป็นผู้แทนของเรา ทำไมเราไม่ให้คนผิวสีด้วยกันเข้าไปทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชุมชน

กลยุทธ์ของ AOC ได้ผล เธอชนะเลือกตั้งขั้นต้นเหนือโครว์ลีย์ด้วยคะแนนเสียง 57% ต่อ 43% ได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตทั้งที่เธอใช้เงินหาเสียงไปแค่ประมาณ 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (ในขณะที่โครว์ลีย์ใช้เงินหาเสียงถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนในการเลือกตั้งทั่วไปนั้น เธอก็ได้คะแนนเสียงถล่มทลายเกือบ 80% ชนะคู่แข่งจากพรรครีพับลิกันไปอย่างขาดลอย สร้างประวัติศาสตร์เป็น ส.ส. หญิงที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 29 ปีในตอนนั้น

นอกจากนี้ผลจากการที่ AOC เอาชนะโครว์ลีย์ได้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักการเมืองผิวสีหลายคนออกมาชาเลนจ์นักการเมืองผิวขาวในการเลือกตั้งขั้นต้นในเขตที่คนผิวสีอยู่เป็นจำนวนมาก หลายคนก็ประสบความสำเร็จ เช่น อยานนา เพรสลีย์ ที่เอาชนะ ไมค์ คาปูอาโน ในเขต 7 ของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ และจามาล โบว์แมน ที่เอาชนะ เอเลียต เอนเกิล ในเขต 16 ของมลรัฐนิวยอร์ก

ช่วงเกือบ 2 ปีในการทำหน้าที่ ส.ส. ของ AOC เธอพยายามผลักดันนโยบายแบบซ้ายสุดโต่งออกมาหลายเรื่อง ซึ่งแม้ว่านโยบายที่เธอผลักดันจะไม่ประสบความสำเร็จออกมาเป็นกฎหมายได้จริงๆ สักเรื่อง เนื่องจากสภาสูงยังถูกคุมโดยพรรครีพับลิกัน และประธานาธิบดียังเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันอยู่ แต่อย่างไรก็ดี นโยบายที่เธอเสนอมาก็สร้างความสั่นสะเทือนในสังคมจนมีการนำไปอภิปรายอย่างกว้างขวาง

นโยบายที่เป็น ‘ลายเซ็น’ ของ AOC ที่สื่อมวลชนพูดถึงกันอย่างกว้างขวางมีอยู่ 2 นโยบาย คือการเสนอให้ยุบหน่วยงาน ICE และนโยบายจัดการกับปัญหาโลกร้อนที่มีชื่อว่า Green New Deal

AOC เป็นนักการเมืองคนแรกๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการยุบหน่วยงาน ICE ไปเสีย หลังจากที่ทรัมป์ออกนโยบายอย่างแข็งกร้าวต่อผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วยการจับผู้ใหญ่เข้าคุกทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนเด็กที่ติดมาด้วยก็จะถูกแยกจากพ่อแม่ให้ไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กภายใต้ความควบคุมของ ICE (ซึ่งมีสภาพย่ำแย่ เด็กๆ ต้องนอนกับพื้น มีแค่ฟอยล์ไว้ห่มตัวเพื่อกันความหนาว)

สื่อมวลชนและคนอเมริกันจำนวนมากเห็นว่านโยบายแยกเด็กออกจากพ่อแม่ของทรัมป์นั้นมีความโหดร้ายทารุณเกินเหตุ จึงออกมาประท้วงต่อต้านเพื่อให้รัฐบาลหยุดนโยบายนี้เสีย นักการเมืองซ้ายจัดที่นำโดย AOC โกรธแค้นกับนโยบายนี้มากถึงขนาดเสนอให้ยุบ ICE ไปเสียเลย แต่แนวคิดเรื่องการยุบ ICE ของ AOC เป็นนโยบายสุดโต่งที่นักการเมืองส่วนใหญ่ของพรรคเดโมแครต (รวมทั้งตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างไบเดน) ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม พรรครีพับลิกันก็เห็นถึงโอกาสและใช้แนวคิดเรื่องการยุบ ICE มาโจมตีพรรคเดโมแครตว่าเป็นพวกที่ไม่เอาจริงกับปัญหาการลักลอบเข้าเมือง (โดยพยายามฉายภาพของ AOC ให้เป็นตัวแทนของเดโมแครตทั้งพรรค)

อีกนโยบายที่เป็นลายเซ็นของ AOC คือ Green New Deal ซึ่งเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ (Net-zero Emission) ภายในปี 2050 ซึ่งการจะทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จได้นั้น AOC เสนอให้มีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด (เช่น ลมและแสงอาทิตย์) ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนที่ถ่านหินและน้ำมัน ซึ่งนโยบายนี้ก็ถูกพรรครีพับลิกันโจมตีเช่นกันว่าทำให้ชาวอเมริกันนับล้านคนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและถ่านหินต้องตกงาน และรัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นภาษีจำนวนมหาศาลเพื่อไปอุ้ม (Subsidize) พลังงานสะอาดที่มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าถ่านหินและน้ำมัน

อีกหนึ่งสัญลักษณ์และภาพจำที่ชาวอเมริกันมีต่อ AOC นั้นคือการทำหน้าที่ซักถาม มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ Facebook ในสภา จากกรณีฉาว Cambridge Analytica ในปี 2019 โดยหลังจากนี้เราอาจได้เห็นการทำหน้าที่ลักษณะนี้บ่อยขึ้น

อาจกล่าวได้ว่างาน ส.ส. ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นเพียงบททดสอบแรกในสภาคองเกรสเท่านั้น ขณะที่เส้นทางการเมืองของเธอยังคงทอดตัวอีกยาวไกล ซึ่งแต่ละก้าวจะพิสูจน์ความเป็น ‘หญิงแกร่ง’ ในตัว AOC

คำถามว่าเธอจะสร้างปรากฏการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มากแค่ไหน และถนนสายการเมืองของเธอจะไปสุดที่ตรงไหน เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ  

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X