×

เปิดวงเสวนาแข่งเรือปลอดเหล้า หาแนวทาง-มาตรการ รับมือโควิด ป้องกันคลัสเตอร์ สืบสานคุณค่างานประเพณี

โดย THE STANDARD TEAM
24.10.2021
  • LOADING...
Boat Race

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายเจ้าภาพจัดงานแข่งเรือ เครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุข จัดเวทีเสวนา Online เพื่อระดมความคิดเห็นผ่าน Facebook Live เพจเครือข่ายงดเหล้า

 

ศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการดื่มมีแนวโน้มลดลง แต่ยังค่อนข้างทรงๆ อยู่ สสส. จึงต้องมุ่งเน้นป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ การที่ได้เห็นเด็กเยาวชนเข้าร่วมงานแข่งเรือปลอดเหล้าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ  อย่างไรก็ตามฝ่ายธุรกิจยังไม่หยุดนิ่งที่จะใช้งานประเพณีวัฒนธรรมและกีฬาเป็นเครื่องมือช่วยขยายตลาดและสร้างนักดื่มหน้าใหม่ ดังนั้นการพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยจึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญของ สสส. ที่จะต้องเน้นในช่วง 10 ปีต่อไป และพยายามร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีให้ปลอดจากปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะงานแข่งเรือในหลายพื้นที่มีความเข้มแข็ง มีบทบาทขับเคลื่อนรณรงค์สร้างเสริมวิถีชีวิตปลอดเหล้า แม้ปีนี้จะจัดงานไม่ได้ แต่บางพื้นที่เช่นจังหวัดน่านก็ยังมีการจัดกิจกรรมพบปะของช่างทำเรือขึ้นมา (จุมสล่าเรือน่าน ณ หอศิลป์ริมน่าน) เพื่อไม่ให้ว่างเว้น ชี้ให้เห็นว่าจังหวัดน่านยังคงให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานแข่งเรือ ไม่ใช่แค่ฝีพาย นักพากย์ กองเชียร์หรือผู้ชม แต่ยังมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องลงลึกในวิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ และยังมีโอกาสต่อยอดสู่กิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อีกด้วย

 

วิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวว่า ภาพรวมงานแข่งเรือปลอดเหล้าที่ผ่านมา เริ่มจากยุคแรกๆ ที่จังหวัดน่าน ที่เต็มไปด้วยการสื่อสารการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ และมีการดื่มกินเหล้าเบียร์เต็มงานนำมาซึ่งปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาทภายในงานที่กลายเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเริ่มจัดงานแบบปลอดเหล้าทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการมีเด็กเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ ในที่สุดก็ได้ทำให้งานแข่งเรือจังหวัดน่าน กลายเป็นงานแข่งเรือปลอดเหล้าต้นแบบของประเทศ และได้ขยายไปพื้นที่ต่างๆ จนปัจจุบันมีงานแข่งเรือปลอดเหล้ากว่า 76 พื้นที่ทั่วประเทศ ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จคือความปลอดภัย ความห่วงใยในอนาคตลูกหลานและความภาคภูมิใจในงานประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นตนเอง เมื่อคนในแต่ละท้องถิ่นเห็นคุณค่าทำให้จัดงานปลอดเหล้าไปต่อได้ในระยะยาว สำหรับความเป็นไปได้คือการจัดงานแข่งเรือในช่วงสถานการณ์โควิด คือการจัดงานแบบ SMS (Small / Meaningful / Safe) งานเล็กๆ แต่เน้นที่คุณค่าความหมายของงานประเพณีและจัดภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยอาจใช้เรือท้องถิ่น เรือพื้นบ้าน กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เป็นสีสัน เพื่อสร้างความสามัคคี รอยยิ้ม เสียงหัวเราะให้กับผู้ชมและยังเป็นการฝึกคนในพื้นที่ให้มีทักษะการพายเรือและว่ายน้ำอันจะมีส่วนสำคัญมากยามเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ และเนื่องจากปีนี้ไม่ได้มีการจัดงานแข่งเรือดังกล่าว ทางสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าก็ยังให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เน้นกลุ่มเยาวชนเช่น อาทิ การอบรมนักพากย์เรือเยาวชนในแต่ละภาคที่มีต้นทุนเดิมอยู่เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนยังมีกิจกรรมในช่วงนี้และสอดแทรกเนื้อหาคุณค่าแท้วัฒนธรรมทางสายน้ำที่ควรดูแลรักษาสืบทอดต่อรุ่นสู่รุ่น

 

สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวในฐานะเจ้าภาพจัดงานว่า น่านมีงานแข่งเรือมาอย่างยาวนาน เป็นวัฒนธรรมที่มีมาต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในคำขวัญของจังหวัด และมีเหล้าเบียร์ฝังรากลึกอยู่ในงานด้วยเสมอมา ในงานจะมีคอกที่พักคนเก่งของตำรวจเพื่อจับคนเมากักไว้ ขณะที่หมอพยาบาลไม่สามารถลาได้ในช่วงงานแข่งเรือเพราะมีผู้ประสบเหตุเข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ แม้แต่ฝีพายยังเข้ามาทะเลาะกับกรรมการหากไม่พอใจคำตัดสิน ใครที่ชนะก็ฉลองกันสุดเหวี่ยงแม้แต่คนขับรถ  ก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา กระทั่ง สสส. ลงมาพยายามร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในครั้งนั้นยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เริ่มด้วยการรณรงค์ก่อน ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดตัดสินใจสั่งให้สรรพสามิตจังหวัดไม่ออกใบอนุญาตขายในงานแข่งเรือ  หากร้านใดขายจะห้ามมิให้มาจำหน่ายในงานอีก เป็นการแสดงเขตพื้นที่โซนนิ่งและสื่อสาธารณะให้รับรู้ว่ามางานนี้แล้วต้องไม่มีเหล้า โดยเฉพาะนักพากย์ที่ต้องไม่พูดถึงเหล้าเบียร์ในงาน 

 

จากการที่หลายฝักหลายฝ่ายได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งนักพากย์ ผู้ชม อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.)  เยาวชน ทำให้งานแข่งเรือน่านค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจากดำเป็นขาวในที่สุด  และทำให้ผลสถิติข้อมูลระหว่างที่มีงานแข่งเรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สถิติอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาทค่อยๆ ลดลงแบบปีต่อปี และผู้คนเมืองน่านค่อยๆ ยอมรับงานแข่งเรือแบบปลอดเหล้า แม้จะมีความพยายามเข้ามาแทรกแซงของภาคธุกิจที่พยายามจะดึงกลับสู่แบบเดิม แต่ก็มีการอธิบายให้เห็นโดยใช้ข้อมูลสถิติดังกล่าวมากล่าวอ้างเพื่อชี้ให้เห็นภาพความเสี่ยงด้านสถานการณ์โควิด หากเป็นผู้ที่จัดงานเป็นประจำจะพอมองออกว่า ความเสี่ยงอยู่ตรงจุดใดบ้าง เชื่อว่าผู้ที่คลุกคลีกันอยู่ประจำจะไม่ใส่หน้ากากเข้าหากัน แม้ตอนทานข้าวที่ต้องมีการเปิดหน้ากากใส่กัน ในพื้นที่หากมีการจัดงานจะต้องมีการควบคุมสถานการณ์ให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งนี้การจัดงานต่างๆ จะต้องยื่นเสนอการจัดงานให้กับ ศบค. จังหวัดก่อน เพื่อเตรียมบริหารความเสี่ยงและกำหนดรูปแบบ  ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการจัดงานจะบังคับให้คนทำตามกฎทั้งหมดได้ยากหากเป็นพื้นที่เปิด มีทางเข้าออกหลายทางและมีคนร่วมงานจำนวนมาก ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดและคนเมืองน่านเองที่ยังฉีดวัคซีนในจำนวนที่ไม่มากนัก ปีนี้จึงตัดสินใจไม่มีการจัดแข่งเรือ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ยังมีงานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอื่นๆ อยู่ เช่น ถนนคนเดิน แต่ต้องมีมาตรการที่เคร่งครัดสำหรับทุกคน

 

ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ หรือหมอบอย โรงพยาบาลน่าน พูดถึงงานแข่งเรือปลอดเหล้าถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่สามารถเกิดขึ้นได้จริงโดยเริ่มต้นที่ จังหวัดน่าน ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนเมืองน่านอย่างถ่องแท้ คนน่านเดิมเชื่อว่าเหล้าเป็นเครื่องมือลดความอาย ช่วยให้การสื่อสารแสดงออกทำได้ง่ายขึ้นเมื่อกระดกเหล้าเข้าไปแล้ว แต่กระนั้นเมื่อดื่มเข้าไปนอกจากความอายจะลดลงแล้ว สติก็ลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมามากมาย กระทั่งทำให้จังหวัดน่าน ดื่มเหล้ากันเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ถึงขั้นเคยขึ้นแท่นยืนหนึ่งมาแล้ว จึงเป็นที่มาของการที่ต้องมีการรณรงค์ให้ปลอดเหล้าโดยเฉพาะในงานแข่งเรือ เพื่อลดปัญหาและความสูญเสีย รวมถึงปัญหาสุขภาพของเยาวชนที่เริ่มพบภาวะความดันสูงที่มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้าเบียร์ด้วย

 

การแก้ปัญหาเริ่มจากงานที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดคืองานแข่งเรือปลอดเหล้าที่ทำให้สถิติอุบัติเหตุลดลงอย่างมีนัย จากวันละเป็นร้อยเหลือเพียง 2-3 รายต่อปีเท่านั้น บางปีไม่มีเลยแม้แต่รายเดียว และยังช่วยให้การจัดงานทำได้อย่างราบรื่น จากเดิมที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้สู่การทำได้จริง และยังได้ส่งผลต่อยอดสู่งานอื่นๆ อีกด้วย ถือเป็นสงครามที่สู้กับธุรกิจที่ทำให้สังคมป่วยและทำลายตนเอง ซึ่งร้ายแรงไม่แพ้ไวรัสที่ระบาดเลย งานแข่งเรือปลอดเหล้าถือเป็นชัยชนะของระบบสุขภาพชุมชน  

 

ด้านมาตรการป้องกันโควิดของสาธารณสุข การจัดงานต้องพิจารณา 3 ประการ ได้แก่ ความเสี่ยง ความจำเป็น  และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การจัดงานในปีนี้อาจมีความเสี่ยงเพราะมีคนมาร่วมตัวกันจำนวนมากและอาจมีนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นมาร่วม ด้านความจำเป็นต้องให้คนน่านตัดสินใจว่าจำเป็นต้องจัดปีนี้ไหมหรือรอปีหน้าได้ ด้านความเสียหายถ้าเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิดจะกระทบกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ด้วยสถานการณ์จึงเห็นด้วยที่จังหวัดน่านงดจัดงาน เพราะคนน่านได้รับวัคชีนเข็มแรก 40% เข็มที่สอง 29% ซึ่งถือว่าน้อยมาก

 

ส่วน พีรพงศ์ พรหมบุตร นักพากย์เรือยาวปลอดเหล้า จากถิ่นช้างดำเมืองสุรินทร์ กล่าวถึงข้อครหาที่ว่ามาสุรินทร์ต้องกินสุรา ไม่งั้นเป็นหมาสุรินทร์ ซึ่งกลายเป็นที่มาของงานแข่งเรือปลอดเหล้าที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อแก้ข้อครหานี้ ตนจึงได้ก้าวสู่การเข้าร่วมงานแข่งเรือปลอดเหล้าเพื่อพยายามให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งงานแข่งเรือถือเป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิมของสังคมไทยที่มักมีเหล้าพ่วงอยู่เสมอ จึงต้องมีการร่วมรณรงค์ในสนามแข่งเรือ ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในงานคือนักพากย์เรือ  เพราะถือไมโครโฟนอยู่ จะส่งเสียงอะไรลงไปผู้คนจะรับรู้ทั้งหมด ดังนั้นนักพากย์จึงถือเป็นผู้ที่มีบทบาทในงานเป็นอย่างยิ่ง

 

แต่ก่อนนักพากย์จะได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจแอลกอฮอล์ให้ช่วยพูดโปรโมตให้กับค่ายต่างๆ ตนก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ด้วยความที่ตนเป็นครู ทำให้ตนเกิดความรู้สึกละอายใจที่ได้พูดสิ่งที่ไม่ดีลงไปผ่านไมโครโฟน และมีส่วนสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ตนจึงคิดว่าควรจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่ห่างไกลอบายมุขดีกว่า ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านไมค์ของตนในแต่ละงานที่ตนจับไมค์ และมีส่วนช่วยให้งานแข่งเรือปลอดเหล้า โดยการส่งต่อไปสู่เยาวชน มีขั้นตอนสำคัญคือต้องใช้ประสบการณ์ในการฝึกฝน นอกจากพรสวรรค์แล้วยังต้องมีพรแสวงด้วย ทุกคนเป็นนักพากย์ได้เพียงแต่จะต้องใช้ทั้ง 2 พรมาช่วย และจะช่วยสืบต่ออนุชนคนรุ่นหลังได้ โดยได้มี สสส. เข้าช่วย มีโครงการอบรมนักพากย์รุ่นเยาว์ที่มีแวว มาช่วยเติมเต็มกลายเป็นนักพากย์ และได้มีการจัดแข่งนักพากย์เรือเยาวชนชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ที่อำเภอท่าตูม เมื่อปี 2562

 

ในสถานการณ์โควิดนี้ หากมีงานแข่งเรือสนามใหญ่ๆ จะมีผู้คนจำนวนมากต้องเข้าร่วม เพราะงานแข่งเรือถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก มีการขนคนมาของแต่ละทีมเรือ รวมแล้วคนในงานน่าจะมีมากกว่า 10,000 คน หากเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ขึ้นมาคงจะรับผิดชอบไม่ไหว จึงเป็นการดีหากปีนี้ไม่มีการจัดแข่งเรือสนามใหญ่ๆ แล้วจัดเพียงสนามเล็กๆ ที่มีเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้นเข้าร่วม หรือมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทดแทน เช่น การพบปะพูดคุยของนักพากย์เยาวชนเพื่อไม่ให้ขาดช่วง และการที่จะให้เยาวชนได้มาร่วมฝึกปรือฝีไม้ลายปากในช่วงที่ไม่มีการจัดแข่ง ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันของหลายภาคส่วน

 

ด้าน มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ได้นำเสนอข้อมูลว่าการแข่งเรือคือวัฒนธรรมทางสายน้ำของเมืองไทย  คนไทยอยู่คู่กับสายน้ำมาแต่ดั้งแต่เดิม ซึ่งในปัจจุบันนี้ความเจริญทำให้สายน้ำมีความสำคัญลดน้อยลงไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น น้ำท่วม เป็นต้น ดังนั้น งานแข่งเรือจึงเป็นหนึ่งในกุศโลบายของบรรพบุรุษที่จะช่วยให้คนอยู่และผูกพันกับสายน้ำและยังสร้างความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนที่ต้องฝึกซ้อมและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันของคนในชุมชน จังหวัดน่านคือต้นแบบของงานแข่งเรือ ตามมาด้วยการถ่ายทอดสดออกไปทั่วประเทศโดยเริ่มต้นจาก iTV ก่อนจะกลายเป็นไทยพีบีเอสในเวลาต่อมา ทำให้คนทั่วประเทศติดใจในอรรถรสของการพากย์เรือ ที่มีความเมามันสะท้านอารมณ์ของนักพากย์อันสุดแสนเป็นเอกลักษณ์  ชนิดที่ไม่ต้องมาดูที่สนามก็สามารถเห็นภาพได้อย่างแจ่มชัดถนัดเนตร จึงควรต้องมีการถ่ายทอดวิชานี้ให้กับนักพากย์เยาวชน เพื่อให้สืบสานการพากย์อันเป็นเอกลักษณ์นี้จากรุ่นสู่รุ่นมิให้เลือนหายไป นอกจากนี้กีฬาแข่งเรือเป็นกีฬาประเภทเดียวที่ในหลวง ร.9 ทรงเสด็จทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองที่เขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมทางสายน้ำนี้มีความสำคัญที่สุด การที่สนามแข่งเรือแต่ละแห่งยังคงนำเรือดังๆ ระดับประเทศไปร่วมวง ทำให้เกิดงบประมาณในการขนส่งเรือ โดยเฉพาะค่าชักลากเรือที่แพงกว่าค่าฝีพายเสียอีก และเป็นช่องให้ธุรกิจแอลกอฮอล์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ สนับสนุนทีมเรือ สนับสนุนการจัดงาน รวมไปถึงมีการพนันขันต่อ สร้างนักพนันนอกพื้นที่ให้เข้ามา ตัวอย่างที่จังหวัดน่าน แม้จะไม่ใช้เรือนอกพื้นที่เลย รวมถึงไม่ใช้ฝีพายนอกพื้นที่ด้วย แต่ก็ยังสามารถเป็นงานระดับประเทศที่โด่งดังได้

 

ขณะที่ อจิรงค์ เดชไกรศักดิ์ พิธีกรรายการศึกเรือยาวชิงจ้าวสายน้ำ ไทยพีบีเอส กล่าวในมุมมองสื่อมวลชนว่า ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะที่เน้นนำเสนอด้านสังคม ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งงานแข่งเรือได้ตอบโจทย์ในจุดนี้อย่างชัดเจนทปีนี้หากมีการจัดงานก็จะเป็นศึกเรือยาวชิงเจ้าสายน้ำปีที่ 14 แล้ว  การถ่ายทอดทำให้ได้เห็นวัฒนธรรมในแต่ะพื้นที่ที่ต่างกันออกไป กฎการถ่ายทอดสดคือในพื้นที่นั้นๆ ต้องไม่มีสปอนเซอร์ใดๆ โดยเฉพาะธุรกิจแอลกอฮอล์ จึงได้มีการจัดทำเสื้อเฉพาะสำหรับฝีพายใช้ใส่ ในทุกพื้นที่ที่มีการถ่ายทอดสดไม่มีการเก็บเงิน ทีมงานทุกท่านได้ตั้งใจถ่ายทำเพื่อเผยแพร่ให้คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ได้รู้จัก โดยพยายามกระจายให้ครบทุกภาคทั่วประเทศ เพราะแต่ละภาคก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง เช่น หัวเรือพญานาคของน่าน ขึ้นโขนชิงธงของชุมพร เรือโล้กะทะของสมุทรสาคร เป็นต้น

 

นักพากย์เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของการถ่ายทอดที่จะส่งเสียงกังวาลไปทั่วประเทศหรือแม้แต่ทั่วโลก ซึ่งนักพากย์หลายท่านก็ใช้ภาษาถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ในการพากย์ ทั้งนี้ผลตอบรับจากการถ่ายทอดถือว่ามีเรตติ้งที่ดี มียอดผู้ชมสูง และศึกเรือยาวชิงเจ้าสายน้ำ ได้เป็นหนึ่งในรายการที่ได้รับรางวัลทีวีสีขาวด้วย ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับทุกฝ่าย สื่อมวลชนถือว่ามีความสำคัญในสถานการณ์โควิด หากพื้นที่ใดสามารถจัดได้ก็พร้อมจะเข้าไปถ่ายทอด เช่น สนามแบบปิดที่มีความปลอดภัย ซึ่งพนักงานไทยพีบีเอสได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และมีการตรวจ ATK อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียกว่าเป็นระบบปิด แต่คนนอกพื้นที่ก็ยังมีความปรารถนาจะเข้าร่วม เรือยาวถือว่าได้รับความนิยมอย่างมาก ไทยพีบีเอสพร้อมนำเสนออย่างต่อเนื่อง และเร็วๆ นี้สถานีจะมีการทำซีรีส์เกี่ยวกับเรือยาวเพื่อช่วยคลายความคิดถึงด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X