31/08/2562 : 08.00 PM
ภายในเต็นท์สีขาวของค่ำคืน Elle Fashion Week 2019 ที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ แสงไฟสปอตไลต์เริ่มดับลง และโชว์ของแบรนด์ไทยดีไซเนอร์ที่มีชื่อว่า Landmee ได้เริ่มขึ้นโดยมี พลอย เฌอมาลย์ เป็นคนเดินเปิดโชว์ นอกเหนือจากบรรยากาศที่อัดแน่นไปด้วยผู้ชมที่มารอชมแบรนด์ สิ่งที่เราได้เห็นคือลุคของสาว Landmee ที่ดูเปลี่ยนไป เธอมากับเพลงร็อกยุค 70 ไม่ว่าจะเป็น เดวิด โบวี, แวน เฮเลน, มาร์ก โบแลน และอีกมากมาย เหล่านางแบบในลุคแกลมร็อกได้เดินสับตามจังหวะเพลงและเสื้อผ้าที่จัดจ้านผิดตา และใน After Party เล็กๆ ของแบรนด์ที่รูฟท็อปบาร์แห่งหนึ่ง นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จักกับ ‘บีบี-เอกนรี วชิรบรรจง’ นางแบบผมสั้นหนึ่งเดียวของโชว์ และแน่นอน เธอมานั่งร่วมโต๊ะด้วยเมกอัพลุคสายฟ้าฟาดของ เดวิด โบวี
หลังจากนั้นไม่นาน ไม่ว่าจะแบรนด์ไทยหรือแบรนด์นอก นิตยสารไทยหรือเทศต่างพากันดึงตัวเธอไปร่วมงานในฐานะนางแบบที่น่าจับตามองของวงการ แต่ก่อนหน้านั้นบีบีไม่ใช่นางแบบหน้าใหม่หรือใครที่ไหน เธอคือลูกสาวคนโตของผู้กำกับ และร็อกสตาร์ในตำนานอย่าง อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ก่อนจะก้าวสู่เบื้องหน้าในทุกวันนี้ บีบีทำงานเป็นเบื้องหลังในฐานะผู้จัดละครแห่งปี ไม่ว่าจะเป็น ‘กรงกรรม’ หรือภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์ ‘นาคี 2’
เช้าวันหนึ่งในช่วงปลายปี และวันที่กรุงเทพฯ อากาศเย็นเป็นพิเศษ THE STANDARD POP มีโอกาสพูดคุยถึงความรู้สึกก่อนจะบอกลาปี 2019 บทสนทนาของมนุษย์ Gen Y สองคนที่คุยกันเรื่องอาชีพ ความสนใจ ความเปลี่ยนแปลง เบญจเพส และชีวิตโดยรวมราวกับว่าพวกเราสองคนผ่านชีวิตมาเยอะแล้วอย่างไรอย่างนั้น
เป็นอย่างไรบ้างปี 2019 ที่ผ่านมา
ปี 2019 เราว่าเราเปลี่ยนไปเยอะ เพราะหนึ่ง เราได้ลองอาชีพใหม่จากที่เราไม่คิดว่าเราจะได้ทำ จริงๆ ก็ไม่ถึงกับใหม่เพราะเราเคยทำมาบ้างตอนเด็กๆ กับพ่อแม่ แต่ว่าด้วยตัวเองยังไม่เคย มันเลยเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเรามาก เราเห็นโลกของวงการบันเทิงอีกมุมหนึ่ง แน่นอนเลยคือเปลี่ยนแนวคิด วิธีการใช้ชีวิต เพราะมันเป็นอาชีพที่เราไม่เคยลองมาก่อน มันขัดกับเบื้องหลัง ทำงานเบื้องหน้ากับเบื้องหลังมันไม่เหมือนกัน เราก็เลยว่าเราชินเบื้องหลัง พอมาทำเบื้องหน้าจริงๆ รู้สึกว่ายากมาก
แล้วชอบอะไรมากกว่ากัน เบื้องหลังหรือเบื้องหน้า
มันคนละแบบ มันเทียบกันไม่ได้
งั้นขอถามใหม่ คิดว่าตัวเองเป็นคนเบื้องหลังหรือเบื้องหน้า
ถ้าไลฟ์สไตล์เบื้องหลังแน่นอน แต่ถามว่าถ้าทำเบื้องหน้าได้ไหม ทำได้ แล้วก็ชอบด้วยนะ สนุกดี แต่ถ้าจะให้เลือกจริงๆ เราคงทำเบื้องหลังมากกว่า เอางานเบื้องหลังเป็นหลักแน่นอน เบื้องหน้าถ้ามีโอกาสได้ทำ แล้วไม่ชนกับเบื้องหลังเราก็จะรับ
แล้วมาเดินแบบใน Landmee และ Elle Fashion Week ได้อย่างไร
ป้าตือคือคนแรกที่ชวน แต่ช่วงหนึ่งเราหายไป แล้วเพื่อนก็ชวนมาเดินแบบ Landmee บวกกับไปเจอพี่เคธี่ (@katieismonster) เขาอยากให้เรามาเป็น Muse ของแบรนด์ เราก็แบบ ได้หรอพี่ เพราะ Landmee เป็นแบรนด์ที่เรารู้สึกว่าไม่มีทางที่จะได้เดินหรือร่วมงานแน่นอน เพราะมันผู้หญิงมาก เราคิดว่าเราหญิงไม่พอ เราสวยไม่พอที่จะเป็นผู้หญิง Landmee หรือแบรนด์ใดๆ ที่มีความเป็นผู้หญิงเยอะ ปรากฏว่าพี่เคธี่บอกว่าคอลเล็กชันใหม่ที่เขากำลังมองมันเป็นคอลเล็กชันที่แปลกจากที่ผ่านมา มีความร็อกยุค 70-80 เราก็มา ถ้าพี่คิดว่าได้ หนูก็ได้
แล้วมาเจอป้าตืออีกทีตอนงานแถลงข่าว ก็เลยได้มาเดินโชว์ 25×25 ซึ่งเป็นโชว์เปิดงาน เราก็งงอีกเพราะเห็นรายชื่อนางแบบแต่ละคน เราก็เด็กใหม่อยู่คนเดียว ที่เหลือคือมืออาชีพ ชุดก็เดินยาก เป็นชุดเดรสยาวและรองเท้าส้นตึก เพราะปกติเราใส่แต่กางเกงและรองเท้าผ้าใบ เราเลยไปซ้อมกับทีม Landmee ทุกวัน ให้เขาช่วยเกลาให้ และอีกแบรนด์ที่รับคือ Greyhound แต่ไม่ค่อยกังวลเท่าไร เพราะเป็นแนวที่เราถนัด แต่ Landmee คือใหม่มาก กังวลมาก โดนติหลายรอบมากเพราะไม่ชินส้นสูง และไม่คิดว่าจะเดินบนส้นสูงได้ แต่ต้องออกงานเลยต้องกลับมาใส่ แต่ก็สนุกมาก Push Limit ตัวเองดี ก็นึกในใจ เอ๊ะ ก็เดินได้นี่หว่า
ขอถามย้อนไปถึงตอนที่บีเรียนอยู่มหาลัยที่เมลเบิร์น
เราเคยจะสมัคร Permanent Resident ที่นั่นด้วย แต่ขาดไป 5 คะแนน
เหมือนกัน เราก็อยากไปอยู่ที่นั่น เราชอบเมลเบิร์นมากกว่าซิดนีย์อีก
แปลกนะ เราไม่ค่อยเจอคนชอบเมลเบิร์น มีแต่คนชอบซิดนีย์
เข้าเรื่องก่อน…ชีวิตที่โน่นกับที่นี่แตกต่างกันไหม
ต่างกันมาก เพราะว่าที่โน่นมันเป็นวัยเรียน มันก็เลยมีความชิล เราใช้ชีวิตแบบตามใจตัวเองมาก ตอนนี้ก็ยังตามใจอยู่ แต่ความรับผิดชอบมากขึ้นเท่านั้นเอง รับผิดชอบในช่วงเรียนและช่วงทำงานมันก็ไม่เหมือนกัน ตอนเรียนเรามีเป้าหมายที่แน่วแน่อยู่แล้วคือต้องเรียนให้จบ ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ผ่านคอร์สนี้ แต่พอมาทำงาน จุดมุ่งหมายของเรามันต่างกัน เพราะว่าจบเรื่องหนึ่งก็จะมีต่อมาเรื่อยๆ มันเหมือนคอร์สเรียนที่ไม่มีวันจบ มันเลยต่างกัน ความรับผิดชอบในการใช้ชีวิตมันเลยเพิ่มขึ้น ยิ่งเราได้รับงานหลายๆ แบบ อย่างเช่นเดินแบบ ถ่ายแบบ กับถ่ายเบื้องหลัง โคตรต้องจัดการชีวิตตัวเองดีๆ เลย ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะตีกันหมดเลย
คัลเจอร์ช็อกไหมตอนจบมาแรกๆ ปรับตัวยากไหม
เราไม่ช็อกนะ เพราะชีวิตเราโคตรอิมโพรไวส์เลย อะไรเข้ามาก็เปิดรับหมด ตอนแรกอาจจะไม่ชินบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับพลิกขนาดนั้น เพราะว่าอยู่ที่โน่นเราก็มีช่วงหนึ่งเป็นคนบ้าออกกำลัง ชีวิตจะเป๊ะมาก ตื่นตีห้าออกกำลัง เจ็ดโมงเช้าใช้ชีวิต กลางคืนรีบนอนตั้งแต่หัวค่ำ แต่อยู่ที่นี่ต้องตื่นเช้า กลับดึก เราว่าเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตขนาดนั้น ในการที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เป็นคนจัดตาราง ถ้ามีอะไรเข้ามาคือต้องเป๊ะ แต่มันอาจจะยากขึ้นเพราะมีความรับผิดชอบของครอบครัวเข้ามาด้วย ทำงานอยู่ดีๆ อยากโผล่ก็โผล่มา เราก็ต้องรับมันให้ได้ ปรับไปตามสภาพมากกว่า มันต้องทำก็คือต้องทำ
ไปเรียน Fine Art มาใช่ไหม
ใช่
รู้ตัวตอนไหนว่าเป็นคนศิลป์ ไม่ใช่คนวิทย์
ตั้งแต่ประถมศึกษาเลย ป.2 ป.3 ก็รู้ตัวแล้วว่าเราไม่เอาสาขาวิชาการแน่ๆ และคุณพ่อคุณแม่ก็ปลูกฝังให้เราเป็นสายอาร์ตตั้งแต่เด็ก ตอนเราเข้ากองก็รู้สึกเอ็นจอยกับชีวิตแบบนี้มากกว่า เราชอบวาดรูป เราชอบงานศิลปะ ชอบการ์ตูน ตอนเด็กๆ ใครๆ ก็ชอบการ์ตูนแหละ แต่เราเห็นการ์ตูนไม่ได้แค่ความสนุก เราเห็นการผลิตของเขา อย่างเช่นพวกตุ๊กตาหุ่นเชิด เบื้องหลังเขาคืออะไร การผลิตตัวละครตัวหนึ่ง หรือลายเส้นของการ์ตูน เขาวาดอย่างไร เราก็ฝึกตามเขา เราอยากวาดให้สวยแบบเขา เราอยากทำงานแบบนี้ เราเลยรู้ตัวตั้งแต่ตอนนั้น เราเลยไม่เอาวิชาการและขอแม่ไปเรียน เพราะรู้ว่าถ้าอยู่ไทยยังไงสายวิชาการเขาเด่นกว่า
แล้วทำไมถึงต้องไปเรียน Fine Art
เรารู้ว่าเราชอบศิลปะ พอจบมา เข้าคอร์สพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เขาให้เลือกวิชา เราเลือกดีไซน์อันดับแรก เพราะตอนเราเรียน High School ดีไซน์เราโคตรดีเลย ก็คงเข้าดีไซน์แหละ แต่พอตัวที่ 2 ที่ต้องเลือกมี Fashion Photo และ Fine Art Photo ก็ลองเสี่ยงดู เพราะครูบอกว่าน่าจะเข้าได้ ปรากฏติด Fine Art Photo ก็งงอยู่เหมือนกัน เราใส่ไปก็ยังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร แต่พอเข้าไป อันนี้คือคัลเจอร์ช็อกจริง เพราะมันเป็นโฟโต้ในแบบที่เราไม่เคยรู้ มันสอนให้เรามองวัตถุอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้มองเพื่อความสวยงาม แต่มองเพื่อสื่ออะไรบางอย่างจากสิ่งสิ่งนี้ ให้คนดูได้รู้ได้เห็นจุดมุ่งหมายของเราในการทำ จุดประสงค์ ความหมาย ซึ่งมันไม่ใช่แค่การมองเพื่อถ่ายเพื่อความสวยงาม แต่เราต้องคิดว่าถ่ายอย่างไร คนฟังคือใคร มันเป็นงานที่ละเอียดทางด้านความคิด ในด้านการประมวลผล
แล้วยิ่งปีหนึ่งเข้ามาคืองงมาก ไม่เข้าใจคำว่า Fine Art แล้วเราหัวดำอยู่คนเดียว เวลาเพื่อนคุยกันเราก็…คืออะไรนะ แต่พอปีสองปีสามได้เห็นงานมากขึ้น ได้คุยกับครูมากขึ้น ครูก็จะช่วยให้ไอเดียเราเป็นรูปเป็นร่าง ว่าแบบนี้คือ Fine Art นะ แล้วค่อยมาเข้าใจอีกทีตอนจบปีสาม แล้วงานก็ออกมาดีมาก แต่เราเสียดายที่ปีหนึ่งเราน่าจะผลิตงานออกมาได้ดีกว่านี้ เราเลยอยากสานต่อ Fine Art นี้ เพราะเราชอบมุมมอง นิยามของมันที่ทำให้เราได้คิดได้ลึกขึ้น ได้มีโอกาสได้รู้จักพี่ๆ ที่จบ Fine Art มา ได้คุย ได้ศึกษา ได้มุมมองที่เราเพิ่งค้นเจอ เราเพิ่งเริ่มต้นปีหนึ่งใหม่
เราเรียน Fine Art มา แต่พอมาทำที่บ้านในฐานะคนทำละครทีวี ซึ่งเป็น Applied Art มันจะแหม่งๆ ไหม
ใช่ มันไม่ใช่ Fine Art โดยตรง แต่ที่เรามีความสุขกับ Fine Art เพราะว่ามันสอนให้เรามองเห็นอะไรที่สื่อความหมาย ซึ่งมันเอามาประยุกต์ใช้กับงานที่เราทำอยู่ได้ โชคดีมากที่มันเป็นศาสตร์เดียวกัน แต่วิธีการทำอาจจะไม่เหมือนกัน เราจึงสามารถเอากระบวนความคิดของ Fine Art มาใช้ในโปรดักชันเราได้ ในการสื่อมุมมองของภาพ เอามาใช้ได้หมดเลยในละครเรื่องหนึ่ง ซึ่งโชคดีที่คุณพ่อเป็นคนที่ใช้ภาพสื่อความหมายและอารมณ์ แต่ของเขาเป็นภาพขยับ แต่เราเป็นภาพนิ่ง
อย่างเรื่อง ‘กรงกรรม’ มีสักฉากไหมในกรงกรรมที่เป็นผลงานของเรา
กรงกรรม คือเรื่องแรกที่เราเข้าไปทำ ก็มีเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเสนอคุณพ่อไป พ่อก็เอามาปรับใช้มากกว่า ไม่ได้แบบ นี่ไอเดียฉัน เราก็หยอดไปเรื่อยๆ ถ้ามันเวิร์กเขาก็ซื้อ
ชีวิตปีนี้ดูขึ้นๆ ลงๆ เยอะเหมือนกัน เชื่อเรื่องเบญจเพสไหม
ตอนแรกไม่เชื่อนะ เพราะตอนแรกๆ มันมาโอเคทั้งปีเลย แต่ถ้าให้มองอีกที ในด้านดีมันก็ดีทั้งปี แต่ถ้าให้มองด้านไม่ดีบ้าง ก็มีส่วนที่เราคิดว่าหรือมันอาจจะเป็นเพราะเบญจเพส แต่เราก็ไม่อยากไปโทษอายุทั้งหมด หรือมันอาจจะเป็นสิ่งที่เราเจอทุกครั้ง ปีหน้าเราอาจจะเจออีกก็ได้ หรือทั้งชีวิตเรา มันไม่มีใครดีทั้งชีวิตหรอก แต่บางทีเราอาจจะมองแต่ด้านดี ไม่ได้มองด้านไม่ดี พอเจอด้านไม่ดีเราก็ไปโทษเบญจเพส
อะไรสอนให้เรามองชีวิตเป็นกลางขนาดนี้
อย่างแรกคือคำสอนของพ่อและแม่ที่เขาสอนเราทุกวัน อย่างที่สองน่าจะมาจากหนังสือที่เราได้อ่าน เพราะน้องชายเราเคยบอกว่าชีวิตมันเปลี่ยนได้เพราะหนังสือ เราก็เลยลองไปอ่านพวก Self-Improvement มันได้อะไรมากขึ้น เรานิ่งขึ้น เรามองเห็นโลกมากขึ้น เล่มแรกที่เปลี่ยนชีวิตคือ ‘Don’t Sweat the Small Stuff’ เกี่ยวกับเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการใช้ชีวิต ที่ประมวลมาแล้ว 50 ข้อ ข้อละไม่กี่หน้า แต่กินใจมาก พอเราเอามาใช้แล้วเห็นข้อนั้นๆ มากจากหนังสือ มันจะช่วยดึงสติเราได้ จากเมื่อก่อนเป็นคนไม่อ่านหนังสือ จนมาตอนนี้ก็อ่านมากขึ้น
เหมือนบีติดครอบครัวมาก ทำงานก็ทำกับที่บ้าน โตก็โตมากับที่บ้าน อะไรคือสิ่งที่เราคิดว่าเราได้จากครอบครัว
ทุกอย่างในชีวิตเราได้มาจากครอบครัวหมดเลย ทั้งความรัก การงาน มาจากครอบครัวหมด เราเริ่มทุกอย่างจากตรงนั้น แล้วเราก็จะอยู่ตรงนั้นไปเรื่อยๆ ถึงสักวันเราอาจจะไม่ได้อยู่กับเขาแล้ว แต่อย่างไรครอบครัวก็ยังเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่เราขาดไม่ได้ จะครอบครัวหลักหรือญาติพี่น้องก็ตาม มันซัพพอร์ตเราทางใจ เป็นอะไรที่เราขาดไม่ได้
จากการที่เราได้ทำงานกับคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งคงมี Generation Gap พอตัว เรามีวีธีแสดงความคิดเห็นในที่ทำงานอย่างไร
ค่อยๆ ซึมมากกว่า แล้วค่อยแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราคิดมันไม่ผิดนะ อย่างเช่นเรามีโปรเจกต์อะไรอยากทำ เราก็เสนอ พอเขาบอกทำไม่ได้หรอก แล้วมันทำได้จริง แล้วมันเข้าถึงคนสมัยนี้ได้มากกว่า เราต้องทำให้เขาเห็นให้ได้ เพราะว่ายังไงเราก็เป็นเด็ก เมื่อก่อนเราอาจจะมีคำถาม โผงผางตามเด็กที่จบนอก อาจจะถูกมองว่าก้าวร้าว เราก็เรียนรู้ที่จะถ่อมตน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องยอมรับด้วยว่าละครไทยเป็นสิ่งที่อยู่กับเรามานาน ระบบมันก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่ เราจะมาหักดิบสร้างละครสมัยใหม่เลยไม่ได้ เพราะคนยังเสพละครไทยแบบเดิมอยู่ เราคือคนรุ่นระหว่างกลาง ตอนนี้เท่าที่ทำได้คือผสมผสานกับคนรุ่นเขา ตอนนี้คนรุ่นเราก็เริ่มกลับมาดูละครแล้ว เราฟังเขา เขาฟังเรา ปรับๆ กันไป
ในฐานะคนเบื้องหลัง แล้วสักวันหนึ่งเราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการบันเทิงบ้านเรา
อยากให้เบื้องหลังทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องการพักผ่อน เราควรเห็นค่าเรื่องเวลามากขึ้น นักแสดงและทีมงานต้องมีเวลาพักอย่างน้อย 12 ชั่วโมง พอทำงานพัก เบรก ทุกคนทำงานตรงต่อเวลา สุขภาพจิตก็น่าจะดี
มีอะไรที่อยากทำอีกหรือเปล่า
ไม่รู้เลย เพราะอย่างที่บอกเราไม่มองเป้าหมายในชีวิต อะไรมาก็คือมา อย่างปี 2019 ใครจะคิดว่าจะได้เดินแบบ go with the flow มาก เราเพิ่งมาค้นพบว่าตอนที่เรากลับมาเมืองไทยชีวิตเอาแน่เอานอนไม่ได้ จากตอนแรกวางตารางวันหยุดไว้ พอมันมาเรื่อยๆ วันหยุดของฉันก็กลายเป็นวันทำงาน ไม่เป็นไร ก็ไปทำ ไม่ได้เสียหาย มันคงมีสักวันแหละที่เราอยากนั่งโง่ๆ ดูทีวีอยู่บ้าน ก็เลยไม่ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าเราอยากทำอะไร เอาแค่ทำแต่ละวันให้มันรอด ให้มันดีก็พอ
แล้วถ้าได้จัดละครเอง เขียนบทเอง เล่นเอง จะเป็นละครแบบไหน
เราว่าน่าจะเป็นคอเมดี้ เราเป็นคนใช้ชีวิตไร้สาระ ชิล ถึงจะเครียดแต่ก็ยังชิล ไม่ใช่ดราม่าแน่ๆ ผจญภัยก็ได้ เพราะเรารู้สึกว่าชีวิตเรามีสีสัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์