×
SCB Omnibus Fund 2024

AJA จับมือ ‘ช ทวี’ เปิดตัวธุรกิจ EV Bike เป้ายอดขายปีหน้า 3,000 คัน ด้านนักวิเคราะห์มองเป็นโจทย์ท้าทาย เหตุคนยังใช้น้อย

24.09.2021
  • LOADING...
AJA

การประกาศจับมือเพื่อผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่ระหว่าง บมจ.เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJA) กับ บมจ.ช ทวี (CHO) เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษาโครงสร้างชิ้นส่วนประกอบและราคาของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อความเป็นไปได้ที่จะผลิต ประกอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งคันหรือบางส่วน และตัวแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลดต้นทุนของการจัดสร้างรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในการจำหน่าย ซึ่งในฝั่งของ AJA มีเป้าหมายจะใช้แผนงานนี้เพื่อเทิร์นอะราวด์ธุรกิจบริษัท

 

พิชัย ปัญจสังข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AJA ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า AJA มั่นใจในศักยภาพของ CHO ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์มายาวนาน เพื่อเป็นพันธมิตรในการศึกษาและพัฒนาการประกอบและผลิตชิ้นส่วนของรถ EV Bike และตัวแบตเตอรี่ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ ก่อนที่จะเปิดตัว EV Bike สายพันธุ์ไทย ภายในต้นปี 2565 และก้าวสู่ความเป็นผู้นำตลาดเบอร์ 1 ในประเทศไทยในอนาคต

 

AJA ได้เข้าสู่ตลาดรถ EV Bike ตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากเห็นว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทาง AJA ในฐานะผู้นำเข้ารถ EV Bike มาจำหน่ายจากประเทศจีน จึงมีนโยบายพัฒนาคุณภาพและสมรรถนะของรถให้เหมาะสมกับตลาดในประเทศ ในราคาที่ลูกค้ากลุ่มต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้จะจับ 3 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มการใช้งานทั่วไป 2. กลุ่มไรเดอร์ เช่น LINE MAN 3. กลุ่มโลจิสติกส์ เช่น เคอรี่

 

จากปัจจุบัน EV Bike หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า AJ นำเข้าจากประเทศจีน มีสินค้า 4 รุ่น คือ 1. มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า AJ EV BIKE รุ่น Q5 2. มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า AJ EV BIKE รุ่น C-LIKE 3. มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า AJ EV BIKE รุ่น C-LION และ 4. มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า AJ EV BIKE รุ่น Z3 มีราคาเริ่มต้นที่ 39,900-49,900 บาท

 

พิชัยกล่าวว่า เบื้องต้นการจับมือกับ CHO เพื่อศึกษาการพัฒนาแบตเตอรี่และมอเตอร์ของ EV Bike ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว รวมทั้งจะต้องพิจารณาต้นทุนในการดำเนินการ เช่น ต้นทุนการทำ R&D จะมีความคุ้มค่าและดำเนินการได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าที่จะต้องบวกต้นทุนจากภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตราสูงเข้าไปด้วย

 

“ต้นทุนรถ 1 คัน จะอยู่ที่การพัฒนาให้วิ่งได้ไกล ทำความเร็วได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาแบตเตอรี่และมอเตอร์ แต่ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีต้นทุนจากภาษีนำเข้าด้วย ตอนนี้ EV Bike ยังมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ เรื่องมอเตอร์ ยังวิ่งได้ไม่ไกล ไม่เร็ว เราก็จะศึกษาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่าทำได้หรือไม่ ต้องใช่ทุนเยอะหรือไม่ จากนั้นค่อยมาตัดสินใจต่อไป ถ้าไม่คุ้มค่าก็หาโซลูชันใหม่ๆ แต่เบื้องต้น EV Bike คือหนึ่งในแผนเทิร์นอะราวด์ของเราถ้าทำสำเร็จ”

 

AJA ตั้งเป้าจำหน่าย EV Bike ในปี 2565 ที่ 3,000 คัน ขณะที่ปีนี้ไม่ได้กำหนดเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าสัดส่วนรายได้ของ AJA ประมาณ 80% ยังจะมาจากธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก

 

ด้านความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น AJA ก่อนหน้านี้ กลับมาโดดเด่นและได้รับความสนใจจากนักลงทุนในแวดวงตลาดหุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้น AJA ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรง จากระดับ 0.36 บาท มายืนที่ 0.70 บาท พุ่งขึ้นเกือบ 100% ภายในระยะเวลาเพียง 4 วันทำการ (1-6 กันยายน 2564) กระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้หุ้น AJA เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 คือห้ามนำหุ้น AJA มาคำนวณวงเงิน และนักลงทุนที่จะซื้อหุ้น AJA ต้องวางเงินสดล่วงหน้า (Cash Balance) มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน – 15 ตุลาคม 2564

 

ในขณะนั้น AJA รายงานต่อ ตลท. ว่าบริษัทไม่มีพัฒนาการใดๆ ในระยะเวลาอันใกล้ รวมทั้งบริษัทยังไม่ทราบถึงสาเหตุอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้น

 

พิชัยกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนั้นยังไม่มีการทำ MOU อย่างเป็นทางการ ส่วนราคาหุ้นที่ปรับตัวหวือหวาน่าจะเป็นผลจากการเพิ่มทุน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าบริษัทมีเม็ดเงินเข้ามาเสริมในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่กระแสข่าวลือกลุ่มทุนจีนสนใจเข้าร่วมทำธุรกิจด้วยนั้นถือเป็นประเด็นที่จบไปแล้ว

 

ในฝากฝั่งขอ CHO ซึ่งจับมือผนึกกำลังกับ AJA ในครั้งนี้ ราคาหุ้นปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับ AJA โดยในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 1-6 กันยายน 2564 เคลื่อนไหวในช่วง 0.78-0.82 บาท และพุ่งทะยานขึ้นกว่า 23 % ยืนเหนือ 1 บาท ในวันที่ 7 กันยายน ทำให้ ตลท. จับหุ้นตัวนี้เข้ามาอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับ 1 คือต้องวางเงินสดล่วงหน้า (Cash Balance) มีผลตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน – 28 ตุลาคม 2564 รวมทั้งสอบถามไปยังบริษัทถึงพัฒนาการใดๆ หรือทราบสาเหตุอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นหรือไม่ โดย CHO ชี้แจงว่าไม่มีพัฒนาการใดๆ และไม่ทราบสาเหตุที่อาจส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นเช่นเดียวกับ AJA

 

ล่าสุด สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHO ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า AJA จะมีหน้าที่จัดหารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตัวอย่างและแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาให้ CHO เพื่อศึกษาโครงสร้างของต้นทุน ก่อนที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการผลิตและประกอบรถจักยานยนต์ทั้งคันหรือบางส่วน และตัวแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ให้กับ AJA

 

รวมทั้งยังให้ข้อมูลต่อนักลงทุน นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชน ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ว่ายังคงทรงตัวหรือใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนไตรมาส 3 นี้คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากมีรายได้ประจำ (Recurring Income) จากการให้บริการซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV 489 คัน ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาว 10 ปี ขณะที่มีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) 2,021 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายศูนย์ซ่อมบำรุง ‘สิบล้อ 24 ชม.’ อีก 3 แห่ง ในปี 2565-66 ทั้งเชียงใหม่ อุดรธานี และหาดใหญ่ และต่อยอดพัฒนา London Taxi เข้าสู่ระบบไฟฟ้า (EV) เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต 

 

ทั้งนี้ CHO จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ดำเนินธุรกิจออกแบบ สร้างสรรค์ ผลิตตัวถัง ติดตั้งระบบวิศวกรรมทางยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ ให้บริการเทคโนโลยีระบบราง รวมทั้งผลิตและให้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในการป้องกันประเทศ สินค้าและบริการของบริษัท เช่น รถบรรทุก, รถพ่วง, รถบัส, รถลำเลียงอาหารสำหรับเครื่องบิน, รถไฟ, รถดับเพลิง, รถกู้ภัย, รถหุ้มเกราะ, รถลำเลียงพล, เรือรบหลวง เป็นต้น

 

โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 4 ปี (2560-2563) CHO มีรายได้ 1,595.82 ล้านบาท, 2,287.60 ล้านบาท, 1,609.21 ล้านบาท และ 647.96 ล้านบาทตามลำดับ แต่มีผลขาดทุนสุทธิในปี 2560 ที่ 19.50 ล้านบาท และพลิกกลับมามากำไรสุทธิติดต่อกันในปี 2561-2562 ที่ 45.47 ล้านบาท และ 65.86 ล้านบาทตามลำดับ จากนั้นในปี 2563 ได้กลับมาขาดทุนอีกครั้ง 238.74 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนแรกของปีนี้มีผลขาดทุน 156.43 ล้านบาท

 

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อกรณีดังกล่าว เห็นว่านักลงทุนควรติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด รวมถึงโอกาสความเป็นไปได้ทางธุรกิจและโอกาสทางการตลาดในอนาคต

 

โดย กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาด EV Bike ในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง ซึ่งสามารถเดินทางได้เพียง 30-50 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับรถจักรยานยนต์ชนิดเติมน้ำมันที่จะใช้เดินทางได้ไกลกว่า และใช้ความเร็วได้มากกว่า ในระดับราคา 3-4 หมื่นบาทใกล้เคียงกัน

 

และหากพิจารณาโอกาสทางการตลาดพบว่า สินค้าของ AJA ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้ามาจากจีน โดยมีฐานลูกค้าเป็นตลาดระดับกลาง-ล่าง จึงมีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก ขณะที่ตลาด EV Bike จะเป็นตลาดของผู้บริโภคระดับกลาง-บน ซึ่งมีกำลังซื้อสูง 

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาด้านการแข่งขัน พบว่าแม้แบรนด์สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าของ AJA จะเป็นที่รู้จักบ้าง แต่สำหรับสินค้าประเภท EV Bike ยังมีภาพที่ไม่ชัดเจน

 

“ในเมืองไทยถ้าพูดถึงสกูตเตอร์ไฟฟ้าถือว่าได้รับความนิยมและเห็นคนใช้เยอะ แต่ถ้าเป็น EV Bike ถือว่ามีน้อยมาก เพราะจะมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ ถ้าจะใช้คือวิ่งใกล้ๆ บ้าน ถ้าเทียบกับราคาที่ใกล้เคียงกันแล้ว แบบเติมน้ำมันคนยังนิยมกันมากกว่า คนใช้ EV Bike ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีกำลังซื้อสูง ซึ่งไม่ใช่ตลาดของ AJA” กิจพณกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising