ยังคงเป็นที่จับตากันอย่างใกล้ชิดสำหรับดีลยักษ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่าง TRUE-DTAC ที่ประกาศควบรวมกิจการ ซึ่งแน่นอนย่อมสะเทือนไปหาเจ้าตลาด AIS อย่างเลี่ยงไม่ได้
ในการให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ประเมินว่า จะมีลูกค้าราว 4-5% ที่อาจจะย้ายออกจากบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการ โดยการรวมกันนั้นจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมขององค์กรที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง และความผิดพลาดทางเทคนิคที่สร้างความไม่พอใจให้ลูกค้า
“นั่นเป็นเหตุผลที่เราลงทุนอย่างมากในการพัฒนาเครือข่าย” แม่ทัพ AIS กล่าว “เพราะเราตระหนักดีว่าท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภคจะเลือกผู้ให้บริการที่แข็งแกร่งและมีเครือข่ายที่ชาญฉลาด”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักวิชาการค้าน ‘TRUE-DTAC’ ควบรวม ชี้เพิ่มอำนาจผูกขาดมากกว่าสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภค
- ดีลควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ยังระทึก บอร์ด กสทช. จ่อถกอีกรอบ หลัง AIS ยื่นหนังสือคัดค้าน
- ผู้ถือหุ้น DTAC-TRUE ไฟเขียวควบบริษัท คาดกระบวนการจัดตั้งบริษัทใหม่แล้วเสร็จครึ่งปีหลัง
AIS วางงบลงทุนในปีนี้กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ 1.2 หมื่นล้านบาทสำหรับการพัฒนาเครือข่าย 5G ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อีก 8 พันล้านบาทสำหรับธุรกิจบรอดแบนด์ ที่เหลือจะเป็นระบบไอที ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา
“เรายังคงลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโทรคมนาคมของไทย” สมชัยกล่าว พร้อมเสริมว่า ปัจจุบัน AIS เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 46% ในแง่ของจำนวนสมาชิก “5G เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้” โดยเครือข่าย 5G ครอบคลุม 75% ของประเทศไทย และได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มความครอบคลุมเป็น 85% ภายในสิ้นปีนี้
สำหรับ TRUE-DTAC เป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของตลาดที่ได้ประกาศควบรวมกิจการ เพื่อรักษาเงินทุนและทุ่มให้กับการพัฒนา 5G
TRUE มีผู้ใช้บริการ 32 ล้านราย หรือ 34% ของตลาด ขณะที่ DTAC มี 19 ล้านรายหรือ 20% เมื่อรวมกันแล้วพวกเขาจะก้าวกระโดดจาก AIS ซึ่งมีสมาชิก 40.1 ล้านคนและกลายเป็นผู้นำตลาดในทันนี้
แม้ทั้ง 2 บริษัทจะไฟเขียวควบบริษัทไปแล้ว และคาดกระบวนการจัดตั้งบริษัทใหม่แล้วเสร็จครึ่งปีหลัง แต่หลายฝ่ายกำลังจับตามองว่า ดีลนี้จะสำเร็จหรือไม่ โดยขึ้นอยู่กับคำตัดสินของ กสทช.
สุภิญญา กลางณรงค์ คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ให้บริการสามรายใหญ่ในตลาด แต่ยังถือว่ามีการแข่งขันไม่เต็มที่มากนัก จึงเข้าลักษณะตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly Market)
แต่ผู้บริโภคยังรู้สึกได้ว่ามีทางเลือกน้อย เพราะผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมมีอำนาจในตลาดมาก ซึ่งที่ผ่านมาการกำกับดูแลเพื่อผู้บริโภคไม่ได้เข้มแข็ง ดังนั้น หากลดลงเป็น Duopoly คือรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเหลือสองราย จึงเกิดคำถามว่าผลกระทบต่อทางเลือกของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันว่า สอบ. ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมในครั้งนี้ เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกลดลง และอาจส่งผลให้ค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายสูงขึ้นด้วย โดยข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศอังกฤษพบว่า การควบรวมกิจการจาก 4 เจ้า เหลือ 3 เจ้า ส่งผลให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 20%
“ขอให้หน่วยงานดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งดำเนินการโดย กสทช. ชุดใหม่รอการแต่งตั้งอยู่นั้น ทางสภาฯ ได้ทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานใหญ่ๆ ให้ดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด” สารีกล่าว
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า ดีลดังกล่าวมีความชัดเจนอย่างยิ่งว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะการควบรวมดังกล่าวจะทำให้มีจำนวนผู้ประกอบการลดลงจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ทำให้ตลาดกระจุกตัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ แต่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในตลาดทั้งหมด เช่น ดีลเลอร์ร้านมือถือ คนที่ทำนวัตกรรม สตาร์ทอัพต่างๆ ก็จะมีทางเลือกน้อยลงด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยด้วย
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Interview/Thailand-s-AIS-plans-1bn-investment-blitz-to-protect-telecom-crown
- https://www.tcc.or.th/true-dtac_nbtc/
- https://www.tcc.or.th/true-dtac/
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP