×

เคล็ดลับการบริหารความสำเร็จของ Airbnb จากจุดตกต่ำถึงกำไรมหาศาล

18.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เคล็ดลับการบริหารความสำเร็จของ Airbnb คือ บริหารเงินสดให้เป็น, เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต, มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เมือง/ชุมชนของผู้ใช้งาน และเลือกลงทุนกับโอกาสในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนระยะสั้น

     เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวความสำเร็จของ Airbnb ที่เริ่มต้นไม่สวยหรูนัก แต่ก็เต็มไปด้วยสีสัน ผ่านจุดตกต่ำสุด ไม่มีนักลงทุนเหลียวแล จนกลายเป็น Tech Company ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าสตาร์ทอัพทำกำไรได้จริง

     แรงกระเพื่อมที่ตามมาคือการพลิกโฉมธุรกิจด้านการบริการที่พักอาศัยและการท่องเที่ยวครั้งใหญ่บนระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันหรือ Sharing Economy โมเดลของ Airbnb กลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ยังต้องวิ่งตาม

     ก่อนหน้านี้ THE STANDARD ได้พูดคุยกับ โจ เกบเบีย (Joe Gebbia) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไปแล้วว่าดีไซน์สร้างความแตกต่างระหว่าง Airbnb กับคู่แข่งได้อย่างไร (อ่านบทความได้ ที่นี่) คราวนี้ เราได้มาฟัง นาธาน เบลชาร์ซีก ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ ร่วมแชร์วิธีคิด เรื่องราว และประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนถึงความท้าทายและภารกิจใหม่ในงาน ‘An Evening with Nate Blecharczyk, Airbnb’s Co-founder and Chief Strategy Officer’ เมื่อวานนี้ที่ TCDC เจริญกรุง

     วันนี้ Airbnb เจอสารพัดโจทย์ที่ถาโถมเข้ามาไม่น้อยไปกว่าวันแรก จำนวนคู่แข่งเยอะขึ้น การขยายตลาดที่พ่วงมากับกฎเกณฑ์ท้องถิ่น ไหนจะต้องบริหารรายได้และกำไรให้หล่อเลี้ยงธุรกิจได้ระยะยาว และมากพอจะลงทุนขยับขยายบริการใหม่สู่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์แบบครบวงจร โดยที่ลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นยังคงไว้วางใจ

     พวกเขารับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร?

 

 

     1. บทเรียนจากความล้มเหลว

     ย้อนกลับไปราวปี 2007 ไบรอัน เชสกี (Brian Chesky) กับ โจ เกบเบีย (Joe Gebbia) เกิดถังแตกหลังจากย้ายจากนิวยอร์กเข้ามาอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก และมีเงินไม่พอจ่ายค่าเช่าห้อง ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นวงการดีไซน์ได้จัดงานประชุมสัมมนาใหญ่โต โรงแรมละแวกนั้นถูกจองเต็มหมด พวกเขาจึงเกิดไอเดียชวนคนแปลกหน้ามานอนด้วย และเปิดเว็บไซต์ Air Bed & Breakfast (และก็มีจริงๆ!)

     พอไอเดียไปได้สวย ทั้งสองชวน นาธาน เบลชาร์ซีก (Nathan Blecharczyk) วิศวกรเข้ามาร่วมทีมและปรับปรุงเว็บไซต์ให้ใช้งานง่ายขึ้น ซึ่งนาธานเรียกวิธีนี้ว่าเป็น ‘3 Clicks to book it’ Process ให้คนเสิร์ชหาและจองที่พักที่ถูกใจไม่เกิน 3 คลิก (เพื่อไม่ให้ลูกค้าเสียเวลากับขั้นตอนยุ่งยากและเกิดเปลี่ยนใจกลางคันนั่นเอง)

     ในปี 2008 Airbnb ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ทำเงินและเกือบล้มเหลวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ จนกระทั่งพวกเขาได้พบ พอล เกรแฮม (Paul Graham) จาก Y Combinator ซึ่งประทับใจความบ้าดีเดือดไม่ยอมแพ้ของพวกเขา Y Combinator กลายเป็นผู้ลงทุนเงินก้อนแรก จากนั้นเงินระดมทุนก็ไหลเข้ามาเรื่อยๆ จน Airbnb เติบโตและขยายตลาดอย่างรวดเร็วในต้นปี 2009 นั่นคือจุดเริ่มต้นของตำนานสตาร์ทอัพที่ต่อยอดธุรกิจ Bed & Breakfast มาสู่แพลตฟอร์มแชร์ที่พักอาศัยยอดนิยมใน 65,000 เมือง ใน 191 ประเทศ

     นาธานเล่าว่า เดิมทีพอลไม่ชอบโมเดลธุรกิจของพวกเขาด้วยซ้ำ แต่ชอบที่พวกเขาสู้สุดใจ เช่น ไอเดียการโปรโมตธุรกิจ (สมัยยังเป็น Air Bed and Breakfast) โดยขายซีเรียล Obama O’s และ Cap’n McCain’s เกาะกระแสการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างโอบามากับแมคเคน จนได้เงินก้อนมาทำธุรกิจต่อถึง 30,000 ดอลลาร์

     พวกเขาได้เรียนรู้จากพอลว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะประสบความสำเร็จก็คือ จงทำตัวเป็นแมลงสาบในโลกธุรกิจ หลังจากนั้นก็ไม่เคยคิดล้มเลิกการทำธุรกิจอีกเลย ซึ่งผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คน มักจะเล่าเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ให้คนอื่นฟังเสมอว่ากว่าจะมายืนตรงจุดนี้ สตาร์ทอัพอย่างพวกเขาต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง

Photo: core77.com

 

      2. ธุรกิจเป็นมากกว่าเรื่องของกำไร

     แน่นอนว่า ‘เงิน’ เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่เมื่อบริษัทเติบโตไปถึงจุดหนึ่ง นาธานกล่าวว่า “ธุรกิจไม่ใช่แค่เรื่องรายได้และกำไร แต่ยังเป็นเรื่องของเจตนารมณ์ด้วย”

     หลังจากมีผู้ส่วนร่วมเสวนาคนหนึ่งตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งและการลุกฮือของกลุ่มชาตินิยมขวาจัดในชาร์ลอตส์วิลล์ สหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อธุรกิจหรือไม่ นาธานชี้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสวนทางกับพันธกิจของบริษัทที่ต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนโดยปราศจากอคติและการแบ่งแยก

     นาธานกล่าวว่า ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงเมืองและเข้าไปช่วยเหลือสังคมด้วย สิ่งที่ Airbnb ทำคือแสดงจุดยืนของตัวเอง และใช้แพลตฟอร์มตัวเองพา ‘คนที่เดือดร้อน’ มาเจอกับ ‘ความช่วยเหลือ’ ในยามฉุกเฉิน เช่น ประกาศให้บริการที่พักฟรีแก่ผู้ลี้ภัยที่ไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้จากคำสั่งพิเศษของทรัมป์ และวันอังคารที่ผ่านมา บริษัทปฏิเสธที่จะให้กลุ่มชาตินิยมขวาจัดจองที่พักบนเว็บไซต์เพื่อรวมตัวกันประท้วงในชาร์ลอตส์วิลล์ รวมทั้งลบแอ็กเคานต์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มขวาจัด

     “คุณต้องคิดให้ได้ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเมืองอย่างไร มันไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุด ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป”

 

 

      3. บางครั้งก็ต้องยอมสละโอกาส เพื่อการเติบโตในระยะยาว

     แน่นอนว่าการจัดการธุรกิจที่โตเร็วถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ปัจจุบัน บริษัททำงานร่วมมือกับทางเทศบาลและรัฐบาลนานาประเทศ เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องอธิบายและทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้นในการวางแผนบริหารธุรกิจระยะยาว แม้วันนี้จะประสบความสำเร็จ แต่การเป็นเบอร์หนึ่งก็มีต้นทุนเช่นกัน

     “ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง คุณต้องเข้าใจวิสัยทัศน์ขององค์กรว่าเราพยายามจะทำอะไรในระยะยาว และต้องแลกกับอะไรในระยะสั้นบ้าง

     “ทุกอย่างมีต้นทุน บางทีเราก็ต้องเลือกที่จะไม่ทำสิ่งที่ง่ายที่สุด เพื่อบรรลุผลลัพธ์ในระยะยาว เราพยายามสร้างธุรกิจให้ยืนระยะ และให้ข้อเสนอเชิงคุณค่ากับผู้ถือหุ้น”

 

 

      4. บริหารเงินสดให้เป็น

     ปัจจุบัน Airbnb ก้าวข้ามสถานะ ‘สตาร์ทอัพ’ มาสู่ Tech Company ชั้นนำ โดยคาดว่าภายในปีนี้จะทำรายได้ราว 2,800 ล้านดอลลาร์

     นาธานกล่าวว่า Airbnb มีเงินสดเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการระดมทุนเพื่อขยายตลาด แต่ก็ต้องวางแผนลงทุนสำหรับแตกไลน์ธุรกิจอื่นด้วยเหมือนกัน ซึ่งก็คือ Trips บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่น และตั้งเป้าว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมประสบการณ์ตลอดการเดินทาง ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี จึงจะเห็นผล

     คงไม่มีใครกังขาว่าธุรกิจรายนี้ประสบความสำเร็จระดับโลก ที่เหลือก็แค่พิสูจน์ให้ได้ว่า Airbnb จะบริหารดูแลธุรกิจสเกลใหญ่ในตลาดแต่ละภูมิภาคอย่างไร ในวันที่โมเดลธุรกิจแชร์ที่พักและสินทรัพย์ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป

 

Photo: MONEY SHARMA/AFP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising