โทนี เฟอร์นันเดส ผู้ก่อตั้งกลุ่ม AirAsia ได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Economies) เปิดพรมแดนระหว่างประเทศ เพราะข้อจำกัดในการเดินทางอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ AirAsia ต้องปรับลดพนักงานลงอีก เพราะแม้จะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องคำนึงถึง แต่ก็อาจไม่เหลือทางเลือกอื่น
กลุ่ม AirAsia ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อินเดียและฟิลิปปินส์ ได้ปลดพนักงานไปแล้ว 30% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 20,000 คน โดยมีการลดจำนวนทั้งลูกเรือและพนักงานภาคพื้นดินของสายการบิน AirAsia และ AirAsia X
ในเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ AirAsia X กำลังเผชิญกับปัญหากระแสเงินสดที่รุนแรง และจะขอความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างการกู้ยืม โดยในระยะสั้นจะต้องจัดการกับหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาด
AirAsia คาดว่าการเดินทางระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถูกปิดไปจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ในงานแถลงข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม AirAsia กล่าวว่าผู้นำประเทศ ‘ควรกล้า’ และก้าวไปข้างหน้าเพื่อกลับมาเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง
โดยการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศสามารถเริ่มได้เลยในกลุ่มประเทศที่พบผู้ติดเชื้อรายวันเพียงเล็กน้อย เฟอร์นันเดสให้ความเห็นว่าพรมแดนมาเลเซีย-ไทยควรจะเปิดในลักษณะเดียวกับที่พรมแดนมาเลเซีย-สิงคโปร์เปิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นเปิดให้กับการเดินทางที่จำเป็น
“ประเทศไทยมีผู้ป่วยน้อยกว่า 10 รายต่อวัน เหตุใดมาเลเซียและไทยจึงไม่สามารถผ่อนคลายการเดินทางได้” เฟอร์นันเดสกล่าวพร้อมเสริมว่า “ผมไม่เห็นว่าชาวมาเลเซียหรือคนไทยเป็นภัยคุกคามในการเดินทาง เนื่องจากเรามีระบบคัดกรองที่เข้มงวด”
แม้จะมีความพยายามลดต้นทุนอย่างหนัก ทั้งปรับลดเงินเดือนพนักงานมากถึง 70% ผลประโยชน์ของพนักงาน ซึ่งรวมถึงเที่ยวบินฟรีและส่วนลด โบนัส การขึ้นเงินเดือนถูกระงับ เหลือเพียงเบี้ยเลี้ยงเดินทางและเงินเดือนพื้นฐานที่จ่ายเท่านั้น แต่ AirAsia ก็ยังขาดทุนอย่างหนัก
สำหรับไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน AirAsia รายงานผลขาดทุนสุทธิ 992.9 ล้านริงกิต หรือราว 7,400 ล้านบาท ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ที่สามารถทำกำไรได้ 17.34 ล้านริงกิต ส่วนรายได้ลดลงจาก 2.9 พันล้านริงกิต เป็น 119 ล้านริงกิต
ส่วนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 AirAsia มีผลประกอบการขาดทุน 1.8 พันล้านริงกิต หรือราว 1.34 หมื่นล้านบาท พลิกจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรกว่า 111.78 ล้านริงกิต หรือประมาณ 833 ล้านบาทด้วยกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: