รายงานสภาวะอากาศโลกฉบับที่ 5 โดย Health Effects Institute (HEI) ที่จัดทำร่วมกับ UNICEF เป็นครั้งแรก รายงานว่า มลพิษทางอากาศ กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 2 ต่อการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก แซงหน้าบุหรี่ และเป็นรองเพียงความดันโลหิตสูงที่อยู่ในอันดับที่ 1
ในปี 2021 ประชากร 8.1 ล้านคนทั่วโลก และเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ มากกว่า 700,000 คน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศซึ่งมีสาเหตุมาจาก PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นจากภายนอกหรือภายในครัวเรือน นอกจากนี้ประชากรอีกหลายล้านคนต้องเผชิญกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม เป็นอย่างมาก
นอกจากนั้นรายงานนี้ยังแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เกือบทุกคนบนโลกกำลังหายใจเอามลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพเข้าไปทุกวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมหาศาล
รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เนื่องจากเด็กมีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคลอดก่อนกำหนด โรคหอบหืด โรคปอด ฯลฯ รองจากภาวะขาดสารอาหาร แม้การพัฒนาด้านสุขภาพของแม่และเด็กจะมีความก้าวหน้าขึ้นแล้ว แต่ยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เกือบ 2,000 คน เสียชีวิตในแต่ละวันเนื่องจากมลพิษทางอากาศ
หลายประเทศกำลังแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังเผชิญมลพิษทางอากาศรุนแรง มีการปรับปรุงคุณภาพอากาศ เช่น การรณรงค์ให้ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดหรือรถไฟฟ้า การดำเนินนโยบายทางคุณภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้น ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ภาครัฐรวมถึงประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันจัดการ เพื่อไม่ให้มลพิษทางอากาศกลายเป็นภัยร้ายแรงที่สุดต่อประชากรทั่วโลก
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล
อ้างอิง: State of Global Air (SoGA)