×

6 แนวโน้ม AI ในโลกธุรกิจปี 2025 ผ่านเลนส์บริษัท Bluebik

04.02.2025
  • LOADING...

ตลอดช่วงปลายปี 2024 หนึ่งในเทรนด์ด้าน AI ที่ได้รับการพูดถึงกันเป็นวงกว้างมากที่สุดก็คือ ‘Agentic AI’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ AI ถูกพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถทำงานเองได้โดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งทีละขั้นตอน โดยในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2024 ทาง Anthropic เปิดตัว ‘Computer use’ ที่มีความสามารถดังกล่าว รวมทั้ง OpenAI ที่ล่าสุดเพิ่งเปิดตัว ‘Operator’ สำหรับการใช้งาน AI ที่คล้ายกับการมีเลขาส่วนตัวสักคน

 

การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีนี้เองทำให้ พิพัฒน์ ประภาพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าทีม Advanced Insights (AI) ประจำบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่า Agentic AI จะกลายเป็นส่วนสำคัญของเทรนด์เทคโนโลยี รวมไปถึงการที่ธุรกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยจะทุ่มเงินลงทุนเพื่อนำมาปรับใช้ในปี 2025 ด้วย

 

นี่คือ 6 แนวโน้มการใช้งาน AI ที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจสำหรับปี 2025 ที่พิพัฒน์มองว่าจะเข้ามาเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อจากนี้

 

  1. การเข้าถึงและใช้งานอย่างแพร่หลาย: AI กำลังถูกนำเข้าไปใช้ในส่วนต่างๆ ของธุรกิจ ตั้งแต่การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและการปลดล็อกเวลาให้กับมนุษย์
  2. การเพิ่มศักยภาพมนุษย์: AI ช่วยเพิ่มศักยภาพของคนในที่ทำงาน โดยเฉพาะในมิติที่เทคโนโลยีนี้ทำให้มนุษย์สามารถทำงานได้ด้วยผลลัพธ์ที่มากขึ้นภายใต้เวลาจำกัด
  3. พื้นฐานของการสร้างนวัตกรรม: AI จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในหลายอุตสาหกรรม ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ
  4. การปรับตัวและขยายขอบเขต: ระบบ AI สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและขยายเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจที่เติบโต
  5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: AI ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการสร้างตำแหน่งงานและโอกาสใหม่ที่ไม่เคยมีในอดีต
  6. ปลดล็อกการเชื่อมต่อ: AI ช่วยส่งเสริมการเชื่อมต่อได้ดีขึ้น ทำให้การสื่อสารและการทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างมีรอยต่อน้อยลง

 

“เราเห็นความสนใจที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากลูกค้าของเรา ทั้งในอุตสาหกรรมธนาคาร ค้าปลีก และประกัน ที่กำลังนำ AI ไปใช้ในธุรกิจของพวกเขา” พิพัฒน์กล่าวกับสื่อมวลชนถึงเทรนด์ AI ในธุรกิจไทย

 

แต่ท่ามกลางการใช้งาน AI ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม กรอบการกำกับดูแล AI ที่ชัดเจนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งในช่วงเวลาที่ AI Agents เริ่มเข้ามามีบทบาท

 

“สิ่งสำคัญที่สุดของการสร้าง AI ในวันนี้คือเทคโนโลยีต้องเชื่อถือได้ มีความรับผิดชอบ ส่วนผู้ใช้งานเองก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงและรู้แนวทางป้องกัน” พิพัฒน์กล่าวเสริม

 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายหลักที่พิพัฒน์มองว่าจะเป็นผลกระทบที่มาพร้อมกับการใช้ AI ก็คือการตั้งรับจากการบิดเบือนของข้อมูล (Disinformation Security) โดยเทคนิคอย่างเช่น การหลอกฟิชชิงหรือการสร้างข่าวปลอมที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้ไม่หวังดีกำลังจะถูกใช้ในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งเครื่องมือ AI ก็เป็นสิ่งที่ทำให้อัตราการเผยแพร่ข้อมูลเท็จมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจนำมาสู่ความเสียหายหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข

 

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยจาก Gartner บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก เผยข้อมูลที่อาจเป็นข่าวดีว่า ภายในปี 2028 องค์กรกว่า 50% จะนำโซลูชันที่ใช้รับมือกับปัญหาการบิดเบือนข้อมูล ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2024 ที่มีองค์กรน้อยกว่า 5% ใช้งานอยู่

 

ในช่วงท้ายพิพัฒน์กล่าวว่า ทุกคนในองค์กรมีส่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนการใช้งาน AI โดยผู้บริหารมีหน้าที่กำหนดแผนกลยุทธ์ AI ในขณะที่บุคลากรควรเน้นการสร้างความเข้าใจให้ทุกคนเห็นผลกระทบของ AI เพื่อให้เกิดการยกระดับทักษะและการออกแบบวิธีการทำงานใหม่โดยนำ AI เข้ามาใช้งาน รวมถึงสร้างวัฒนธรรม AI-First ที่ให้รางวัลกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการใช้งาน AI ภายในองค์กร

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising