AI จากทั้ง Google และ OpenAI สามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์สุดหินในเวทีโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ (IMO) ซึ่งเป็นการแข่งขันสำหรับนักเรียนมัธยมปลายที่ทรงเกียรติที่สุดในโลก ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเทียบเท่ากับระดับเหรียญทอง นี่ถือเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ที่แสดงให้เห็นว่า AI มีความสามารถในการให้เหตุผลที่ซับซ้อนทัดเทียมกับสติปัญญาของมนุษย์แล้ว
ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นการพลิกโฉมวงการอย่างแท้จริง เพราะโมเดล AI ของทั้งสองบริษัทไม่ได้ใช้วิธีการแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาภาษาเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์ แต่กลับใช้โมเดลสำหรับการให้เหตุผล (Reasoning Model) ที่สามารถทำความเข้าใจและแก้ปัญหาโจทย์ที่ซับซ้อนด้วย ‘ภาษามนุษย์’ ได้โดยตรง ซึ่งเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับการคิดวิเคราะห์ของนักคณิตศาสตร์ที่เป็นมนุษย์อย่างมาก
ในการแข่งขันครั้งที่ 66 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลีย โมเดล AI ของทั้งสองค่ายสามารถแก้โจทย์ได้ถึง 5 จาก 6 ข้อ ซึ่งเป็นคะแนนในระดับเหรียญทอง โดยหากเทียบกับผู้เข้าแข่งขันที่เป็นมนุษย์ 630 คน มีเพียง 67 คน หรือประมาณ 11% เท่านั้นที่สามารถทำคะแนนได้ในระดับเดียวกัน
โดยโมเดล Gemini Deep Think ของ Google สามารถทำสำเร็จได้ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงซึ่งเป็นเวลาแข่งขันจริง
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าความก้าวหน้านี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของวงการวิทยาศาสตร์ จุนฮยอก จอง ศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์และอดีตเจ้าของเหรียญทอง IMO คาดการณ์ว่า ภายในไม่ถึงหนึ่งปีข้างหน้า AI อาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้นักคณิตศาสตร์สามารถไขปัญหาวิจัยที่ยังไม่มีใครแก้ได้สำเร็จ ซึ่งจะเปิดประตูสู่การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI ในสาขาอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์ ต่อไป
เบื้องหลังความสำเร็จของ OpenAI คือการใช้โมเดลทดลองที่ทุ่มพลังการประมวลผลมหาศาล หรือที่เรียกว่า test-time compute ซึ่งเป็นการให้เวลา AI ‘คิด’ วิเคราะห์นานขึ้น และใช้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องทำงานคู่ขนานกันเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาที่หลากหลายพร้อมๆ กัน แม้จะเป็นวิธีที่ ‘แพงมาก’ แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงขีดความสามารถในการให้เหตุผลที่ซับซ้อนของ AI ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้ก็มีประเด็นน่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อ OpenAI ‘ชิง’ ประกาศผลงานของตนเองก่อนในวันเสาร์ (19 ก.ค.)โดยอ้างว่าได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ IMO แล้ว
ขณะที่ Google เลือกที่จะรอประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (21 ก.ค.) ตามคำขอของผู้จัดงาน ซึ่ง เดมิส ฮาสซาบิส ซีอีโอของ Google DeepMind ได้เน้นย้ำถึงการให้เกียรติกระบวนการและตัวนักเรียนผู้เข้าแข่งขันทุกคน
ถึงจะมีประเด็นเล็กน้อยเกิดขึ้น แต่ความสำเร็จครั้งนี้ก็ได้เปิดประตูสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง เพราะนี่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างมนุษย์กับ AI แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึง ‘ศักยภาพ’ ในการทำงานร่วมกัน
เมื่อเครื่องมือที่ทรงพลังอย่าง AI สามารถเข้าใจและให้เหตุผลด้วยภาษาเดียวกับมนุษย์ได้แล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลังจะมีผู้ช่วยอัจฉริยะที่จะมาช่วยขยายขอบเขตความรู้และไขความลับของจักรวาลได้เร็วกว่าที่เคยเป็นมา
ภาพ : cybermagician/ Shutterstock
อ้างอิง: