×

ทีมนักโบราณคดีญี่ปุ่นค้นพบ ‘เส้นนาซกา’ ลวดลายปริศนาในทะเลทรายเปรูเพิ่มใหม่อีก 143 ภาพ

โดย Mr.Vop
25.11.2019
  • LOADING...
เส้นนาซกา

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ลายเส้นนาซกา คือลายเส้นปริศนาขนาดใหญ่ที่กินอาณาเขตพื้นที่กว่า 520 ตารางกิโลเมตร บนทะเลทรายนาซกา ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่รู้จักกันในชื่อ Pampa Colorada ตั้งอยู่ระหว่างเมืองนาซกากับเมืองปัลปา ในแคว้นอิกา ประเทศเปรู 
  • กลุ่มเส้นนาซกาที่พบใหม่ทั้ง 143 ภาพนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือประเภทลายเส้นที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ส่วนอีกประเภทเป็นลายเส้นขนาดเล็กไม่เกิน 5 เมตร
  • การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำเอาระบบ AI มาช่วยในการค้นหาภาพ Geoglyphs ที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติ 

ทีมนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยยามากาตะของญี่ปุ่น นำโดย ศาสตราจารย์มาซาโตะ ซากาอิ (Masato Sakai) ได้ค้นพบ ‘เส้นนาซกา’ (Nazca Lines) ลวดลายปริศนาขนาดใหญ่ ณ ที่ราบชายฝั่งในทะเลทรายทางตอนใต้ของประเทศเปรู เพิ่มเติมจากที่เคยรู้จักกันดีอีกมากมายถึง 143 ภาพ ซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุค 100-200 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงคริสตศักราช 300

 

ทีมงานของศาสตราจารย์มาซาโตะเริ่มโครงงานนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2004 โดยในช่วงแรกทีมงานใช้เฉพาะวิธีวิเคราะห์พื้นที่ส่วนใหญ่ผ่านภาพถ่ายดาวเทียมด้วยสายตามนุษย์ จากนั้นในปี 2010 ทีมงานก็เริ่มลงสู่การทำงานในภาคสนาม จากการทำงานทั้ง 2 ด้านทำให้ได้มีการค้นพบภาพ ‘เส้นนาซกา’ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นภาพเกี่ยวกับสัตว์ เช่น นก หนู แมว ลามา ต้นไม้ และรูปมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีรูปเทพเจ้าต่างๆ เช่น เทพงูสองหัวในวัฒนธรรมแอซเท็กด้วย

 

ต่อมาในช่วงปี 2018-2019 ทีมงานของศาสตราจารย์มาซาโตะ และ Per Iliana Magra จากหนังสือพิมพ์ The New York Times ก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัท IBM สาขาญี่ปุ่น ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำงานบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ Power System AC922 มาช่วยในการค้นหาเส้นนาซกา ระบบ AI ที่นำมาช่วยงานค้นหาครั้งนี้เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้เชิงลึก IBM Watson Machine Learning Community Edition หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘Watson’ (เดิมรู้จักกันในชื่อ IBM PowerAI) ที่มีความสามารถในการแยกแยะภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูง ในมุมมองที่มนุษย์อาจมองไม่เห็นหรือมองข้ามไป 

 

นักวิเคราะห์ อากิฮิสะ ซากุราอิ (Akihisa Sakurai) ผู้ประสานงานกับ IBM ได้อธิบายถึงความยากลำบากในการสอนให้ระบบ AI เข้าใจว่าเราต้องการอะไร และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำเอาระบบ AI มาช่วยในการค้นหาภาพ Geoglyphs ที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติ

 

เส้นนาซกา

 

ผลจากการใช้ ‘Watson’ เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ ทำให้ได้มีการค้นพบภาพ Geoglyph สำคัญภาพหนึ่ง นั่นคือภาพมนุษย์ถือกระบอง พร้อมเครื่องประดับบนศีรษะ 3 แท่ง ภาพนี้มีขนาดราว 4×2 เมตร ซ่อนอยู่ในบริเวณภาพถ่ายทางอากาศที่ศาสตราจารย์มาซาโตะกล่าวว่าทีมงานของเขามองหากันไปแล้วหลายรอบ แต่ไม่พบอะไร สุดท้ายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ‘Watson’ ก็เป็นผู้พบเห็นก่อนมนุษย์

 

เส้นนาซกา

 

กลุ่มเส้นนาซกาที่พบใหม่ทั้ง 143 ภาพนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรกหรือที่ทีมงานของศาสตราจารย์มาซาโตะเรียกว่า ‘Type A’ นั้น เป็นประเภทลายเส้นที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ส่วนประเภทที่ 2 หรือ ‘Type B’ นั้นเป็นลายเส้นขนาดเล็กไม่เกิน 5 เมตร

 

ทีมงานอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ภาพประเภทแรกที่มีขนาดใหญ่ หรือ Type A โดยมากจะทำเป็นรูปสัตว์ มีร่องรอยของการทุบทำลายหม้อดินเผาจำนวนมากอยู่ใกล้เคียงเหมือนมีการประกอบพิธีกรรมอะไรบางอย่าง และมีอายุค่อนข้างใหม่กว่าภาพ Type B ที่มักเป็นรูปมนุษย์หรือเทพเจ้า และทำหน้าที่เหมือนเป็นเครื่องมือชี้ทางหรืออาจมีหน้าที่อื่นที่ยังไม่อาจเข้าใจได้

 

เส้นนาซกา

 

ศาสตราจารย์มาซาโตะอธิบายวิธีการสร้างเส้นนาซกานี้ว่า ผู้สร้างซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณใช้วิธีนำเอาหินสีเข้มที่ปกคลุมพื้นทะเลทรายด้านบนออก เผยให้เห็นทรายสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนที่อยู่ด้านล่าง ทรายขาวนี้เองที่ปรากฏเป็นลายเส้น Geoglyph หรือรูปวาดบนพื้นโลกให้เราเห็น ในการสร้างภาพลายเส้นเหล่านี้ ภาพบางภาพมีขนาดใหญ่มาก ไม่อาจมองเห็นและเข้าใจได้จากบนพื้น แต่จะมองเห็นได้ชัดจากบนอากาศเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าผู้คนในยุคที่ยังไม่มีเครื่องบิน จะพยายามสร้างลายเส้นที่มองแล้วเข้าใจเฉพาะเมื่ออยู่บนฟ้าไปทำไม

 

อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ลายเส้นนาซกาทั้งของเดิมที่เป็นมรดกโลกของ UNESCO และของที่ค้นพบใหม่โดยศาสตราจารย์มาซาโตะเป็นเรื่องที่รัฐบาลเปรูจำเป็นต้องดำเนินการให้เข้มงวดกว่าที่เป็นอยู่ หลังเกิดเหตุการณ์ที่ชายอายุ 40 ปี ขับรถบรรทุกเข้าไปสร้างความเสียหายให้บางส่วนของลายเส้นโบราณนี้จนต้องโทษจำคุกไปเมื่อปีกลาย 

 

https://www.youtube.com/watch?v=KAPUUnOdFgY

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI

เกร็ดความรู้: เส้นนาซกาคืออะไร

  • ลายเส้นนาซกา คือลายเส้นปริศนาขนาดใหญ่ที่กินอาณาเขตพื้นที่กว่า 520 ตารางกิโลเมตร บนทะเลทรายนาซกา ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่รู้จักกันในชื่อ Pampa Colorada ตั้งอยู่ระหว่างเมืองนาซกากับเมืองปัลปาในแคว้นอิกา ประเทศเปรู
  • ลายเส้นนาซกาถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1553 แต่ ณ ขณะที่ถูกค้นพบนั้น มีความเข้าใจกันว่าลายเส้นเหล่านี้เป็นเพียง ‘ถนน’ ธรรมดา จนกระทั่งนักโบราณคดีเปรู Toribio Mejia Xesspe เข้ามาศึกษาลายเส้นลึกลับนี้ จึงได้พบว่าเป็นมรดกสำคัญของชนเผ่าพื้นเมืองในอดีต ต่อมาลายเส้นนาซกาก็เริ่มถูกพบเห็นมากขึ้นจากบนอากาศ เมื่อ ‘เครื่องบิน’ กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เริ่มแพร่หลายเข้ามาในประเทศเปรูช่วงทศวรรษที่ 30 โดยกลุ่มลายเส้นแรกๆ ที่เหล่านักบินพบเห็นกันนั้นเป็นเพียงเส้นตรงยาวธรรมดา
  • จนในที่สุดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1941 นักโบราณคดีอเมริกัน Paul Kosok ที่ได้เดินทางเข้ามาในทะเลทรายแห่งนี้เพื่อศึกษาระบบชลประทานและดาราศาสตร์โบราณ ขณะที่ทำการสำรวจพื้นที่บริเวณนี้บนเครื่องบิน ก็ได้สังเกตเห็นลายเส้นที่ดูแล้วมีลักษณะคล้ายรูปนกขนาดยักษ์ ซึ่งสร้างความตื่นเต้นต่อเขามาก ข่าวการค้นพบลายเส้นรูปสัตว์ขนาดยักษ์นี้เมื่อแพร่ออกไป ก็ก่อให้เกิดความสนใจต่อผู้คนทั่วโลกนับตั้งแต่นั้น
  • ตามความเข้าใจของ Paul Kosok ลายเส้นเหล่านี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับหมู่ดาวบนฟ้าที่น่าจะมีอิทธิพลต่อชนพื้นเมืองโบราณที่เป็นผู้สร้าง เขาเรียกลายเส้นนาซกาว่า ‘หนังสือดาราศาสตร์เล่มใหญ่ที่สุดในโลก’ 
  • โดยลายเส้นชุดแรกๆ ที่มีการระดมนักสำรวจเข้าไปค้นหานั้นมีจำนวนหลายสิบภาพ และพบเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันนับได้มากกว่าพันภาพ แยกเป็นเส้นตรงยาวจำนวนราว 800 ภาพ รูปทรงเรขาคณิตราว 300 ภาพ รูปสัตว์ พืช มนุษย์ เทพเจ้าอีกราว 70 ภาพ ล่าสุดเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาก็มีการพบเพิ่มอีก 50 ภาพโดยนักโบราณคดีชาวเปรู
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X