×

งานวิจัยชี้ ความชราอาจเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับได้ หลังหนูแก่ในห้องทดลองกลับเป็นวัยรุ่นได้อีกครั้ง

13.01.2023
  • LOADING...

วานนี้ (12 มกราคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารชั้นนำทางวิทยาศาสตร์อย่าง Cell ที่ชี้ให้เห็นว่า ความชราอาจเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับได้ หลังจากที่หนูแก่ภายในห้องทดลองกลับกลายเป็นหนูวัยรุ่นได้อีกครั้ง ซึ่งอาจมีส่วนสำคัญในการศึกษาวิจัยงานด้านวิทยาศาสตร์ชะลอวัยในมนุษย์ 

 

เดวิด ซินแคลร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชะลอวัย ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์ ประจำสถาบันบลาวัตนิกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้อำนวยการร่วมของศูนย์พอล เอฟ. เกล็นน์ สำหรับงานวิจัยด้านชีววิทยาเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า งานวิจัยล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่า ความชราเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับได้ สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าและข้างหลังได้ตามที่ต้องการ โดยร่างกายของเราจะสำรองข้อมูลเกี่ยวกับความอ่อนเยาว์ หรือความเป็นวัยรุ่นเอาไว้ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง 

 

งานวิจัยนี้ท้าทายความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ความแก่ชราเป็นผลมาจากการกลายพันธ์ุทางพันธุกรรมที่ทำลาย DNA ของเรา ทำให้เนื้อเยื่อเซลล์เสียหาย และอาจนำไปสู่การเสื่อมสภาพ การติดโรคร้าย และตายได้ในที่สุด

 

โดยซินแคลร์อธิบายว่า สิ่งที่ทำให้เราแก่ไม่ใช่ขยะของเสีย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้น พวกเราเชื่อว่าสิ่งนั้นคือ การที่เซลล์สูญเสียข้อมูลหรือความสามารถในการอ่าน DNA ดั้งเดิมของตนเอง และลืมวิธีการทำงานในที่สุด

 

ทางด้าน แจฮยอนยัง นักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ภายในห้องแล็บซินแคลร์ ผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยชิ้นนี้คาดหวังว่า ผลการวิจัยนี้จะเปลี่ยนวิธีที่เรามองต่อกระบวนการการแก่ชรา และช่วยให้เราเข้าใจแนวทางในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความแก่ชราได้มากยิ่งขึ้น 

 

ขณะที่รายงานของสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติสหรัฐฯ ชี้ว่า DNA มักจะถูกเปรียบว่าเป็นฮาร์ดแวร์ของร่างกาย ขณะที่เอพีจีโนม (Epigenome) หรือสิ่งที่อยู่เหนือพันธุกรรมเป็นซอฟต์แวร์ โดยมีเอพียีนส์ (Epigenes) เป็นโปรตีนและสารเคมีที่เป็นเหมือนรอยกระอยู่บนยีนแต่ละตัว และคอยสั่งยีนว่าต้องทำอะไร ควรทำที่ไหน และควรทำเมื่อไร 

 

โดยซินแคลร์ยังอธิบายต่ออีกว่า เอพีจีโนมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดปิดกระบวนการทำงานของยีน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจถูกกระตุ้นได้จากมลพิษ สารพิษในสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารต้านการอักเสบ รวมถึงความทุกข์ทรมานจากการอดนอนเรื้อรัง โดยจะยิ่งทำให้กระบวนการของเซลล์เสียหาย เนื่องจาก DNA ถูกทำลายมากยิ่งขึ้น

 

ซินแคลร์ระบุว่า เมื่อเซลล์เกิดภาวะตื่นตระหนก และโปรตีนที่ปกติจะทำหน้าที่ควบคุมยีนถูกรบกวนให้ต้องไปซ่อมแซม DNA ที่ถูกทำลาย พวกเขาจะหาทางกลับไปยังจุดเริ่มต้นไม่ได้ เหมือนกับการแข่งขันปิงปองที่ลูกปิงปองจะตกลงบนพื้นและไม่กระเด้งย้อนกลับ” กล่าวคือ ชิ้นส่วนของเซลล์จะจำเส้นทางกลับบ้านไม่ได้ คล้ายกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 

 

สิ่งน่าอัศจรรย์ที่ซินแคลร์และทีมวิจัยค้นพบคือ ในร่างกายของเรามีการสำรองข้อมูลซอฟต์แวร์ดังกล่าวเก็บไว้ ซึ่งคุณสามารถรีเซ็ตระบบการทำงานของซอฟต์แวร์นี้ได้ โดยที่ผ่านมางานวิจัยของซินแคลร์พยายามแสดงให้เราเห็นว่า เพราะเหตุใดซอฟต์แวร์จึงเกิดความเสียหาย และเราสามารถรีบูตระบบได้ผ่านการกดปุ่มรีเซ็ตที่จะช่วยฟื้นฟูความสามารถในการอ่านจีโนมได้อย่างถูกต้องอีกครั้ง ราวกับเราอยู่ในช่วงวัยรุ่น 

 

นอกจากนี้ซินแคลร์ยังชี้ว่า ไม่ว่าร่างกายของเราจะอายุ 50 ปี หรือ 75 ปี สุขภาพดีหรือเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เมื่อปุ่มรีเซ็ตถูกกด กระบวนการดังกล่าวถูกกระตุ้น ร่างกายจะจดจำวิธีการสร้างใหม่ และจะกลับมาเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง ซึ่งในตอนนี้ซอฟต์แวร์นั้นคืออะไร ซินแคลร์และทีมวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัด แต่งานวิจัยนี้นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่อาจเปิดประตูสู่ชุดความรู้ใหม่ๆ และช่วยให้เราเข้าใจวิทยาศาสตร์ชะลอวัยได้มากยิ่งขึ้น 

 

โดยซินแคลร์เดินหน้าทำงานวิจัยเพื่อตามหาปุ่มรีเซ็ตดังกล่าว ตั้งแต่ที่เขายังเป็นนักศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และเคยมีส่วนร่วมในทีมวิจัยที่ค้นพบการมีอยู่ของยีนเพื่อควบคุมความแก่ชราในยีสต์ และยีนดังกล่าวมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ดังนั้นเขาจึงสันนิษฐานว่า ควรจะมีกระบวนการดังกล่าวนี้ในร่างกายมนุษย์ด้วยเช่นกัน

 

แฟ้มภาพ: Egoreichenkov Evgenii / Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising