×

“ฉันก็สู้คนนะคะ” ทำความรู้จัก Aggretsuko แพนด้าแดงหัวร้อนสะท้อนสังคมการทำงานญี่ปุ่น

21.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • OL ย่อมาจากคำว่า Office Lady ใช้เรียกพนักงานผู้หญิงในบริษัทที่ทำงานธุรการทั่วไป หน้าที่ของ OL คือการทำงานจิปาถะตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ เช่น เตรียมข้อมูล ถ่ายเอกสาร ชงชา
  • Aggretsuko ไม่ได้ถูกสร้างออกมาเพื่อเสียดสีสังคมการทำงานในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนเสียงในใจของมนุษย์เงินเดือนหลายคนที่วันๆ ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานตามหน้าที่ของตัวเองไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีปากเสียงหรือการระบายออกใดๆ
  • สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวพันกับการทำงานของพวกเขา ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ยังไม่นับรวมสภาพแวดล้อมการทำงานหรือลักษณะนิสัยของเพื่อนร่วมงาน เจ้านายที่จู้จี้ อารมณ์ร้อน ที่อาจจะสร้างภาวะตึงเครียดและความกดดันให้พวกเขามากขึ้น

หลังจากที่ ‘แพนด้าแดงหัวร้อน’ หรือ Aggretsuko โลดแล่นบน Netflix ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2018 เราเชื่อว่าหลายคนคงจะเคยเห็น Aggretsuko ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่นอกเหนือจากหน้าตาน่ารัก ความเกรี้ยวกราด และเพลงเมทัล แอนิเมชันเรื่องนี้ได้บอกอะไรกับเราอีกบ้าง

 

 

เริ่มจากชื่อของแอนิเมชัน Aggretsuko มาจากคำว่า Aggressive ที่แปลว่าก้าวร้าว (หรือที่ในแอนิเมชันใช้คำว่า เกรี้ยวกราด) และคำว่า Retsuko จาก เรตสึโกะ ชื่อของแพนด้าแดงสาว ตัวละครหลักของเรื่อง

 

เรตสึโกะเป็นแพนด้าแดงสาวโสด วัย 25 ปี ราศีพิจิก เลือดกรุ๊ปเอ ทำงานอยู่ในแผนกบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในฐานะ OL (Office Lady) ที่ซึ่งเธอจะต้องพบเจอกับงานเดิมๆ ที่แสนน่าเบื่อและสารพันเรื่องราวระหว่างเธอ เพื่อนร่วมงาน และเจ้านาย เมื่อไรที่เธอหมดความอดทน เรตสึโกะก็มักจะระบายความอัดอั้นตันใจของเธอออกมาด้วยเพลงเมทัลในร้านคาราโอเกะเจ้าประจำ หรือตามสถานที่ต่างๆ ในออฟฟิศที่ไร้ผู้คน

 

 

Office Lady ตำแหน่งที่ใช้แล้วทิ้ง

ถึงแม้ว่าจะทำงานอยู่ในแผนกบัญชีบริษัทเอกชน แต่ก็ใช่ว่างานของเธอจะตื่นเต้นและท้าทาย เพราะหากมองจากยูนิฟอร์มที่เธอสวมใส่ เรตสึโกะเป็นเพียงแค่ OL ผู้ปิดทองหลังพระเท่านั้น

 

OL ย่อมาจากคำว่า Office Lady ซึ่งใช้เรียกพนักงานผู้หญิงในบริษัทที่ทำงานธุรการทั่วไป หน้าที่ของ OL คือการทำงานจิปาถะตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ เช่น เตรียมข้อมูล ถ่ายเอกสาร ชงชา และอาจจะรวมถึงการทำความสะอาดโต๊ะทำงานของเจ้านาย และเปลี่ยนดอกไม้ในแจกันเหมือนที่เรตสึโกะทำ

 

Photo: @retsuko_anime /Twitter

 

ยูนิฟอร์มมาตรฐานของ OL คือเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กและกระโปรงสีเดียวกัน (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีฟ้า) โดยพวกเธอจะไม่สวมยูนิฟอร์มออกจากบ้าน แต่จะมาเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ออฟฟิศตอนเข้างานและเลิกงานเท่านั้น ซึ่งเรามักจะเห็นเรตสึโกะพูดคุยระหว่างเปลี่ยนเสื้อผ้ากับเพื่อนร่วมงานของเธอในแอนิเมชันอยู่เนืองๆ

 

Photo: @aggretsuko /Twitter

 

และเพราะหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวันนั้นแทบจะไม่ต้องใช้ความสามารถอะไรมากนัก (ในสายตาของคนอื่น) ทำให้โอกาสเติบโตในหน้าที่การงานของ OL มีน้อยมาก OL ส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กสาวช่วงอายุราว 20 ต้นๆ (ที่มักจะจบจากมหาวิทยาลัยระยะสั้น หรือโรงเรียนวิชาชีพเฉพาะทาง) และทำงานในระบบสัญญาจ้างระยะสั้น ที่เมื่อหมดสัญญาก็จะวนไปทำงานกับบริษัทอื่นๆ ต่อไป

 

หรือหากเป็นพนักงานประจำ พวกเธอก็มักจะมีอายุงานที่สั้น เพราะสังคมญี่ปุ่นมองว่าการทำงานของ OL เป็นการมาทำงานเพื่อคั่นเวลาระหว่างรอแต่งงานเท่านั้น ทำให้ OL หลายคนหลังจากได้คบหาดูใจกับพนักงานชายในบริษัท (หรือผู้ชายที่เจอจากงานจับคู่) จนถึงขั้นตกลงปลงใจแต่งงาน พวกเธอก็จะลาออกเพื่อไปเป็นแม่บ้านเต็มตัวเหมือนกับภาพฝัน (หรือทางออก) ที่เรตสึโกะได้วาดเอาไว้ในแอนิเมชัน

 

พนักงานออฟฟิศ กระจกสะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กร

เราเชื่อเหลือเกินว่าหากได้ดู Aggretsuko ครบทั้ง 2 ซีซัน หลายคนอาจจะเห็นภาพทับซ้อนของคาแรกเตอร์เจ้านายและเพื่อนร่วมงานของเรตสึโกะเป็นใครสักคนในออฟฟิศของตัวเองอย่างแน่นอน

 

 

เริ่มจาก ผอ.ตัน เจ้านายผู้มีอารมณ์ฉุนเฉียว โมโหร้าย ที่ชอบพูดจาถากถางดูถูกพนักงาน (ผู้หญิง) และใช้เวลางานกับการฝึกตีกอล์ฟไปวันๆ

 

 

โคมิยะ ผู้ชื่นชอบการเยินยอเจ้านาย คอยจับผิด และสนับสนุน ผอ.ตัน ในการดูถูกหรือถากถางคนอื่นอยู่เสมอ

 

 

สึโบเนะ ผู้ถนัดการใช้ (งาน) คนอื่นให้เกิดประโยชน์ (กับตัวเอง) การโยนงานของตัวเองให้เรตสึโกะทำคืองานประจำของเธอ

 

 

เฟนเนโกะ เพื่อนสาวของเรตสึโกะผู้ช่างสังเกตและมีไหวพริบ

 

   

คาบาเอะ ผู้ได้รับฉายาโทรโข่งของออฟฟิศ ผู้มีความสามารถกระจายข่าว (ลือ) ไปทั่วบริษัทภายในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าเรื่องไหนคาบาเอะรู้ โลกก็รู้! และชอบอวดลูกหลานของตัวเองอยู่เสมอ

 

 

สึโนดะ สาวน้อยแบ๊วใสที่ไม่อ่อนต่อโลกผู้รู้ว่าควรวางตัวอย่างไร ชื่นชมเจ้านายตอนไหน และทำอย่างไรให้ตัวเองสบาย สามารถเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์จากการกระทำที่ใสซื่อ

 

Photo: @retsuko_sanrio /Twitter

 

เรตสึโกะ คาแรกเตอร์แสนสดใสที่สะท้อนความในใจของมนุษย์เงินเดือน

อาจจะน่าแปลกใจไปบ้างที่ Aggretsuko นั้นเป็นคาแรกเตอร์ของซานริโอ ผู้สร้างคาแรกเตอร์น่ารักๆ อย่าง Hello Kitty, My Melody, Pompompurin ฯลฯ

 

Hello Kitty

Photo: www.sanrio.com

 

My Melody

Photo: www.sanrio.com

 

Pompompurin

Photo: www.sanrio.com

 

แต่หลังจากซานริโอเปิดตัว Gudetama ไข่ขี้เกียจผู้มีคาแรกเตอร์ขัดแย้งกับหน้าตาไปในปี 2014 Aggretsuko ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอกย้ำแนวทางที่ว่า ความน่ารักไม่จำเป็นจำต้องเหมือนกับลักษณะภายนอก ซึ่งความเกรี้ยวกราดของเรตสึโกะก็สามารถเข้าไปถึงจิตใจของแฟนๆ ได้เป็นอย่างดีไม่ต่างจาก Gudetama

 

Gudetama

Photo: www.sanrio.com

 

ซึ่งหากมองย้อนไปในยุค 80s คำว่าน่ารักหรือวัฒนธรรมความน่ารักมักจะมาจากสิ่งที่ดูสดใสและไร้เดียงสาอย่าง Hello Kitty แต่ปัจจุบันความน่ารักนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะความสดใสไร้เดียงสาเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปจนถึงความน่ารักแบบเกรี้ยวกราดหรือแปลกพิสดารอีกด้วย

 

Photo: @retsuko_anime /Twitter

 

โดย Yeti ผู้ออกแบบคาแรกเตอร์ Aggretsuko เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN เอาไว้ว่า “กลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่มคนทำงาน หรือคนที่ต้องการระบายความเครียด และเราคิดว่า Aggretsuko เป็นคาแรกเตอร์ที่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้

 

“และหลังจากสังเกตพนักงานที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นหลายคนทำให้เราได้ยินเสียงกรีดร้องในใจของพวกเขา สภาพแวดล้อมในที่ทำงานของญี่ปุ่นสร้างปัญหาให้กับพวกเขา และเราคิดว่ามีคนจำนวนมากที่กำลังทนทุกข์ทรมานกับมัน”

 

Photo: @aggretsuko /Twitter

 

ซึ่งคาแรกเตอร์ของ Aggretsuko ไม่ได้ถูกสร้างออกมาเพื่อเสียดสีสังคมการทำงานในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนเสียงในใจของมนุษย์เงินเดือนหลายคนที่วันๆ ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานตามหน้าที่ของตัวเองไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้มีปากเสียงหรือการระบายออกใดๆ

 

Photo: @retsuko_anime /Twitter

 

อย่างที่เรารู้กันดีและเห็นเป็นภาพจำว่าการงานในองค์กรญี่ปุ่น (สมัยเก่า) นั้นจะต้องทุ่มเทชีวิตเพื่อบริษัท เช่น การทำงานล่วงเวลาจนถึงดึกดื่น ออกไปสังสรรค์กับลูกค้าจนเกือบถึงเช้า กลับบ้านไปนอนเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง และกลับมาวนลูปเดิมอีกครั้ง

 

 

โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวพันกับการทำงานของพวกเขา ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ยังไม่นับรวมสภาพแวดล้อมการทำงานหรือลักษณะนิสัยของเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะเจ้านายที่อาจจะจู้จี้ อารมณ์ร้อน หรือโมโหร้าย ซึ่งอาจจะสร้างภาวะตึงเครียดและความกดดันให้พวกเขามากขึ้น

 

Photo: @aggretsuko /Twitter

 

เหตุผลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตายหรือป่วยเป็นโรคคาโรชิ (Karoshi – สภาวะการทำงานหนักมากเกินไปจนตาย) ซึ่งในผู้ป่วยบางรายจะเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากภาวะหัวใจวายและเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพออันเกิดจากความเครียดสะสม การอดอาหาร หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกวิธี

 

ปัจจุบันทางการญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องเหล่านี้ เพราะพวกเขาได้จัดทำแบล็กลิสต์บริษัทต่างๆ ภายในประเทศที่บังคับให้พนักงานทำงานมากจนเกินไป (มีจำนวนการทำงานล่วงเวลาเกิน 100 ชั่วโมงต่อเดือน)

 

อ้างอิง:

FYI

 

Photo: www.change.org

 

  • แพนด้าแดง หรือ Red Panda มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแรกคูนหรือกระรอก ขนตามลำตัวมีหลากหลาย ทั้งสีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลเหลือง และสีน้ำตาลแดง สามารถพบตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ตั้งแต่ภาคเหนือของประเทศอินเดีย, ทิเบต, เนปาล, ภูฏาน, จีน, ภาคเหนือของพม่า และภาคเหนือของประเทศลาว อาหารของแพนด้าแดงคือใบไผ่, ผลไม้, เห็ด, รากไม้, ไข่นก และลูกนก

 

Photo: @aggretsuko /Twitter

 

  • ถึงแม้ว่าในสังคมการทำงานของญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีพื้นที่ให้กับผู้หญิงมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย วาชิมิ (เลขานุการของประธานบริษัท) และกอริ (ผอ.การตลาด) ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานและบุคลิกภาพที่ดี ทำให้พวกเธอคือสองหญิงแกร่งผู้สง่างามในสายตาของเรตสึโกะ  

 

 

  • กลับมาอีกครั้งกับการประกวดประจำปี 2018 ของซานริโอ ‘Sanrio Character Ranking 2018’ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 33 แล้วสำหรับการประกวด โดยสามารถเข้าไปโหวตให้กับคาแรกเตอร์ที่ชื่นชอบได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 11 มิถุนายน 2018 (ตามเวลาประเทศญี่ปุ่น) คลิกโหวตได้ที่นี่

 

 

 

  • หากต้องการทำความรู้จักกับสาว OL ให้มากขึ้น เราขอแนะนำหนังสือการ์ตูนของสำนักพิมพ์เซนชู เรื่อง สาวออฟฟิศขั้นเทพ ยามาดะ โนริโกะ การ์ตูน 4 ช่องจบในตอนที่สะท้อนภาพการทำงานขององค์กรของญี่ปุ่นในแบบเสียดสีเชิงขบขัน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising