×

เอเจนซีชี้ ทีวีดิจิทัลยังมีมากไป เหลือ 5 ช่องก็พอแล้ว รับลดงบทีวีต่อเนื่อง คาดออนไลน์โตเฉียด 2 หมื่นล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2019
  • LOADING...

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด ประเมินทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณา หลังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตจำนวน 7 ช่อง โดยมองว่าจะเกิดปัจจัยบวกต่อภาคธุรกิจมากกว่าปัจจัยลบ

โดยจำนวนผู้ชมรายการใน 7 ช่องนั้นมีไม่มากนัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 8% เท่านั้น และมีเม็ดเงินโฆษณาไม่ถึง 10% หรือรวมกัน 120 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น ผู้ชมกลุ่มนี้ยังสามารถติดตามคอนเทนต์ได้จากช่องอื่นๆ ที่เหลืออยู่ โดยช่องข่าวอย่างไทยรัฐทีวี เนชั่นทีวี หรืออมรินทร์ทีวี จะได้ผู้ชมที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับรายการมวยของช่องสปริง 26 ที่จะช่วยเพิ่มเรตติ้งให้ PPTV เมื่อย้ายไปออกอากาศด้วย ซึ่งบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาของช่องที่มีเรตติ้งดีจะปรับเพิ่มมากขึ้นด้วยทั้งช่อง 7, ช่องโมโน 29, ช่องเวิร์คพอยท์ และช่องวัน

ภวัตเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาช่องทีวีดิจิทัลนำเสนอคอนเทนต์ที่ซ้ำมาก จำนวนช่องธุรกิจที่เหลือ 15 ช่องขณะนี้ยังมองว่าเป็นจำนวนที่มากเกินไป ไม่สอดคล้องกับคนดูเหมือนกับยุคทีวีอะนาล็อกที่มีเพียง 4 ช่องหลัก เหมาะสมกับเม็ดเงินโฆษณา 6-7 หมื่นล้านบาท โดยเห็นว่าไม่ควรมีเกิน 10 ช่อง และหากมองเม็ดเงินโฆษณาประกอบกับภาวะ Digital Disruption ควรมีจำนวนทีวีดิจิทัลเพียง 5 ช่องเท่านั้น

สิ่งที่ต้องจับตาดูในระยะ 3-5 ปีจากนี้คือการผลิตคอนเทนต์ที่ดี ตอบสนองความต้องการคนดูได้ตรงใจมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มการรับชมใหม่ๆ โดยเฉพาะออนไลน์ควบคู่กันไป เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยที่เสพสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียติดอันดับต้นๆ ของโลก ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่รับชมรายการผ่านทีวี 2-3 ชั่วโมง และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2562 คาดว่ามีมูลค่าราว 9 หมื่นล้านบาท เติบโต 1% ขณะที่ 4 เดือนแรกของปีนี้หดตัว 2.6% สื่อทีวีดิจิทัล เคเบิล ทีวีดาวเทียม สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร ยังอยู่ในภาวะหดตัว ขณะที่สื่อออนไลน์ยังขยายตัวได้ แต่ด้วยฐานของทีวีและสิ่งพิมพ์มีขนาดใหญ่ ทำให้ฉุดภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมลงไป ปัจจุบันเอเจนซีใช้เงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีลดลงต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกของปี สัดส่วนอยู่ที่ 51.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่สัดส่วน 54% และลดลงหลังดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในปี 2557 มีสัดส่วนถึง 65% ขณะที่สื่อดิจิทัลมีสัดส่วน 23% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 19% โดยสื่อดิจิทัลมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะเติบโต 16% มีมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising