×

‘คนแก่ ไม่เท่ากับ คนแก่’ สิ่งที่แบรนด์ต้องตีโจทย์ให้แตกเพื่อจับตลาดกลุ่มผู้บริโภคสูงวัยในไทยที่มีกว่า 23 ล้านคน

08.12.2023
  • LOADING...
ผู้บริโภคสูงวัย

ในตลาดประเทศไทยกลุ่มผู้บริโภคสูงวัยถือว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด ประมาณการณ์ว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า13 ล้านคน หรือเท่ากับ 20% เมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งประเทศ และได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) เรียบร้อยแล้ว

 

ปัจจุบันไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่ผู้สูงวัยเติบโตเร็วที่สุดในโลก นั่นย่อมหมายถึงคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญที่สุด เติบโตเร็วที่สุดก็ว่าได้ แบรนด์หรือองค์กรต่างๆ ต้องรีบปรับตัว หันมาให้ความสำคัญ เพราะมันคือ Blue Ocean มากๆ เป็นตลาดที่เพิ่งเกิดใหม่ ดังนั้นคือโอกาสของคนที่ตีโจทย์แตก ตอบโจทย์ทัน และสิ่งสำคัญคือ การต้องตีโจทย์ใหม่ ‘คนแก่ ไม่เท่ากับ คนแก่’

 

“สิ่งที่แบรนด์หรือองค์กรกำลังเผชิญอยู่มันคือ Disruption อยากให้ทุกคนย้อนถึงคลื่นใหญ่ที่ทุกคนต้องตระหนักเหมือนตอนที่เจอกับ Digital Disruption ในหลายปีมาแล้ว ความแตกต่างคือ Digital Disruption เป็นเรื่องทันสมัย ใครเข้ามาเร็ว แบรนด์ก็จะดูดี แต่ Silver Disruption ใครเข้ามาเร็วกลับกลัวโดนมองว่าเป็นแบรนด์คนแก่ ทั้งที่อนาคตสังคมบ้านเราคือสังคมคนแก่ ต้องเข้าใจ ยอมรับและรีบหาวิธี การทำการตลาดแบบ Targeted จึงเป็นทางออกที่ดี สิ่งที่อยากบอกคือ นักการตลาดต้องมองตลาดนี้ใหม่ เป็นวัยเก๋าที่มีครบทั้งเวลา กำลังซื้อ Loyalty สูง และอายุยืนยาวขึ้น จึงทำให้ Silver-Age-People เป็นที่หมายปองของบรรดาแบรนด์และนักการตลาดในการทำความรู้จักเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้แก่วัยเก๋าแซ่บๆ เหล่านี้ ใครเข้าตลาดก่อนก็จะได้เปรียบ” วรรณา สวัสดิกูล ประธานบริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด กล่าว

 

บริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด ร่วมมือกับคณาจารย์ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้เปิดเผยถึงผลวิจัยที่ระบุว่า กลุ่มผู้สูงวัยมีหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มที่เป็นผู้สูงวัยตอนต้น ยังมีกำลังซื้อ มีความทันสมัย หัวใจเป็นวัยรุ่นแม้ร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนแปลง

 

กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญและน่าจับตามองในตลาดปัจจุบันเป็นอย่างมาก ด้วยพฤติกรรมการจับจ่ายที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ให้ความสำคัญและใช้จ่ายกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง มองหาโซลูชันเรื่องการเงิน (Passive Income) เป็นอันดับรองลงมา และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ชอบเที่ยวหรือหากิจกรรมทำเพื่อให้ชีวิตไม่เหงา

 

และจากพัฒนาอันก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ส่งผลให้การใช้ชีวิตของกลุ่ม Silver Age เปลี่ยนไป เนื่องจากไม่ต้องการให้ตัวเองตกยุค จึงมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง พบว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ ชอบเล่นโซเชียลมากกว่าวัยรุ่นหรือวัยทำงาน เพราะมีเวลาว่าง และปัจจุบันใช้ Facebook มากกว่าทีวี ยิ่งไปกว่านั้นพบว่าช่วงอายุและเพศที่ต่างกันส่งผลให้มีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ที่ต่างกัน

 

ด้านพฤติกรรมการช้อปปิ้งของกลุ่มนี้ก็เป็นที่น่าจับตามองเช่นกัน พบว่ากลุ่มนี้ 85% ยังชอบไปซื้อที่ร้าน แต่มีถึง 61% ที่ช้อปออนไลน์ และอีก 22% นิยมซื้อจากร้านขายยาโดยเฉพาะสินค้าสุขภาพ โดยการตัดสินใจซื้อจะให้ความสำคัญกับคุณภาพและบริการมากกว่าเรื่องราคาหรือโปรโมชัน และเลือกช้อปกับแบรนด์หรือร้านค้าที่รู้จักและไว้ใจ มีความจงรักภักดีกับแบรนด์สูง ไม่ชอบเปลี่ยนชอบลองเหมือนกลุ่มนักช้อปวัยรุ่น สินค้าที่ช้อปและใช้เงินมากสุดเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, อาหารเสริม, อุปกรณ์ออกกำลังกาย, ประกันสุขภาพ และอื่นๆ

 

กลุ่มสูงวัยหรือ Silver Age เป็นตลาดกลุ่มใหญ่ที่มี Segment มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด สูงวัยไม่ใช่คนแก่แบบที่เราเคยวาดภาพ สูงวัยเมื่อวาน วันนี้ และในอนาคต มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โอกาสทางธุรกิจมีมากมาย ทั้งสินค้าและบริการ เพราะตลาดใหญ่แต่ผู้เล่นน้อย อยากเข้าตลาดนี้ต้องรู้จักและเข้าใจพวกเขาอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ ‘ใช่’ แต่ต้อง ‘ถูกใจ ถูกจริต’ เพื่อให้ควักกระเป๋าซื้อ

 

ล่าสุดข้อมูลจาก NielsenIQ (Thailand) พบว่า มูลค่าตลาดค้าปลีกกว่า 9 แสนล้านบาท ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตมีสินค้าที่ขายเจาะจงกลุ่มสูงวัยแค่ไม่ถึง 1% ซึ่งในกลุ่มสูงวัยที่มีคาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุเกือบ 15 ล้านคน หรือมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งประเทศ ถือได้ว่ามีช่องว่างทางการตลาดค่อนข้างใหญ่ สินค้าหรือบริการยังไม่ได้ถูกคิดสร้างสรรค์และดีไซน์เพื่อกลุ่มสูงวัยเหล่านี้มากนัก จึงเป็นตัวบ่งบอกชัดเจนว่าโอกาสทางการตลาดยังมีอีกมากมายและเป็นตลาดที่จะช่วยให้แบรนด์สร้างความเติบโตทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

 

“ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ อยากให้นักการตลาดได้ตื่นตัวในเชิง Marketing ทำความเข้าใจความต้องการ พฤติกรรม ความคิด มุมมองต่างๆ และการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงอายุตั้งแต่ 50-70 ปี ที่เป็นช่วงเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณไปจนถึงผู้สูงอายุในช่วงเริ่มต้น ที่เรามักคิดว่าพวกเขาไม่ไหว ไม่มีกำลังซื้อ แต่สูงวัยตอนนี้ไม่เหมือนเดิม แข็งแรงและมีไลฟ์สไตล์ที่แอ็กทีฟมากขึ้น นอกจากสินค้าและบริการ การสร้างแบรนด์ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะถึงแม้ว่าแบรนด์จะเป็นที่รู้จักมาก่อนแต่จำเป็นต้อง Reconnect อีกครั้ง ต้องปรับแบรนด์ให้ Relevant กับเขาเหล่านี้มากขึ้นถ้าอยากให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน การลงทุนในตลาดนี้ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับทุกองค์กร” วรรณากล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising