×

เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบ โรงเรียนพร้อมแค่ไหน ทำไมต้องรอเปิดเทอมพร้อมกัน

31.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • มาตรฐานการเปิดโรงเรียนของสหรัฐฯ โรงเรียนจะเปิดเทอมได้ต้องคัดกรองประวัติเด็กได้ และสอดคล้องกับประกาศของรัฐ
  • บริบทของโรงเรียนไทย สามารถปรับกิจกรรมหลายอย่างให้สอดคล้องกับแนวทางป้องกันการระบาดโรคได้
  • การเปิดเรียนไม่จำเป็นต้องเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 28 วัน

‘โรงเรียนพร้อมหรือยัง’ ท่ามกลางการเรียนออนไลน์ที่ประสบปัญหา เช่น อุปกรณ์ บางบ้านไม่มีแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์พอกับจำนวนเด็ก จนต้องไปฝากเรียนกับเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันของเด็กอยู่ดี ผู้ปกครองต้องทำงาน ไม่สามารถกำกับให้บุตรหลานเข้าเรียน (สัปหงกในห้อง เขกโต๊ะ 3 ทีเดี๋ยวนี้!) หรือช่วยสอนบุตรหลานได้ รวมถึงบรรยากาศการเรียนที่น่าเบื่อ เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่มีการโต้ตอบกับครูผู้สอนหรือการแข่งกับเพื่อนร่วมชั้น จนผู้ปกครองหลายท่านต้องการให้รัฐบาลเปิดโรงเรียนเร็วกว่ากำหนดเดิมคือวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

 

แต่ทว่า คำถามที่ตามมาคือ ถ้าจะเปิดเทอมในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า (เร็วขึ้นมา 2 สัปดาห์ เพราะถ้าเปิดพร้อมกับการผ่อนปรนระยะที่ 3 เลยอาจเร็วไป) แต่ละโรงเรียนมีความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 หรือยัง หรือหาเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ มีการระบาดจำนวนมากในโรงเรียนเกิดขึ้นมา จะมีการรับมืออย่างไร ทั้งในส่วนของโรงเรียนที่ต้องแยกตัวนักเรียนและครูที่เป็นผู้สัมผัส และโรงพยาบาลที่จะต้องดูแลผู้ป่วยต่อ เพราะถ้ายังไม่พร้อม ก็จะซ้ำรอยกับการเรียนทางไกลที่เปิดเรียนทั้งที่ระบบยังไม่พร้อมเท่าที่ควร และซ้ำรอยกับการระบาดในสถานบันเทิง

 

 

เช็กลิสต์ความพร้อม 3 ข้อ 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ในสหรัฐอเมริกาได้ออกคำแนะนำสำหรับการตัดสินใจว่าจะเปิดหรือไม่เปิดโรงเรียนในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วยคำถาม 3 ข้อ ได้แก่

 

  1. โรงเรียนควรเปิดหรือไม่ 
  2. โรงเรียนมีมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยหรือไม่ 
  3. โรงเรียนมีการติดตามการระบาดภายในโรงเรียนหรือไม่ 

 

โดยจะพิจารณาเรียงตามลำดับข้อไปคือ จะต้องผ่านเกณฑ์ข้อแรกก่อน ถึงจะพิจารณาข้อ 2. ต่อ ซึ่งแต่ละข้อก็มีข้อย่อยลงไปอีก ดังนั้น ความพร้อมของโรงเรียนจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในวันสองวัน กล่าวคือ

 

  1. โรงเรียนควรเปิดหรือไม่ จะต้องคำนึงถึง 

 

(1) การเปิดโรงเรียนสอดคล้องกับประกาศของหน่วยงานในพื้นหรือไม่ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทย ขณะนี้ข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ซึ่งสั่งปิดสถาบันการศึกษา ยังมีผลบังคับใช้อยู่ 

(2) โรงเรียนพร้อมที่จะปกป้องเด็ก ครู และเจ้าหน้าที่ ที่มีความเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรงหรือไม่ เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหืด เบาหวาน หรือมีภาวะอ้วน  

(3) โรงเรียนสามารถคัดกรองอาการและประวัติเสี่ยงของนักเรียนและครูได้หรือไม่

 

  1. โรงเรียนมีมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยหรือไม่ ได้แก่ การส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากผ้า การเข้มงวดกับการทำความสะอาดและการระบายอากาศ การสนับสนุนให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยการเพิ่มพื้นที่ การแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย และการจำกัดไม่ให้แต่ละกลุ่มมาปะปนกัน ซึ่งสังเกตว่า ทั้งหมดเป็น ‘มาตรการควบคุมหลัก’ ที่ ศบค. กำหนดให้ทุกกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนปฏิบัติมาก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ยังต้องอบรมครูและเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยด้วย

 

  1. โรงเรียนมีการติดตามการระบาดภายในโรงเรียนหรือไม่ โดยโรงเรียนจะต้อง 

 

(1) กำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองอาการป่วยของนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ทุกวัน 

(2) สนับสนุนให้ผู้มีอาการป่วยพักอยู่ที่บ้าน 

(3) วางแผนถ้าพบนักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ป่วยในโรงเรียน 

(4) ติดตามนักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ ที่ขาดเรียน/งาน และมีนโยบายการลาป่วยที่ยืดหยุ่นมากขึ้น 

(5) สื่อสารกับหน่วยงานอื่นและครอบครัวของนักเรียน เกี่ยวกับผู้ป่วยยืนยัน ประวัติสัมผัส และการปฏิบัติตัว 

(6) ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหากพบผู้ป่วยยืนยัน หรือมีการระบาดในละแวกโรงเรียน

 

สำหรับข้อ 3. ใหญ่นี้มีความสำคัญมาก เพราะการคัดกรองอาการป่วยจะทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยได้รวดเร็ว ซึ่งไม่เพียงแต่นักเรียนเท่านั้น ยังรวมถึงครูและเจ้าหน้าที่คนอื่นที่ทำงานอยู่ภายในโรงเรียนด้วย นโยบายเกี่ยวกับการลาป่วยก็ต้องชัดเจนว่าถ้าลาเพียง 1-2 วัน ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ เพื่อลดการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากเข้าวันที่ 3 แล้วยังไม่ดีขึ้นถึงไปพบแพทย์ ซึ่งถ้าหากพบการลาป่วยเป็นจำนวนมาก เช่น นักเรียนหลายคนลาป่วยพร้อมกัน ก็ควรแจ้งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพื่อสอบสวนโรคว่าเกิดจากโควิด-19 หรือไม่

 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับผู้ปกครองของนักเรียนหรือครูในโรงเรียนน่าจะ ‘เช็กลิสต์’ ในใจไปด้วยระหว่างที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ โรงเรียนบุตรหลานของท่านหรือสถานที่ที่ท่านทำงานอยู่มีผ่านเกณฑ์มาถึงข้อ 3. กันบ้างไหมครับ (เว้นเรื่อง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไป 1 ข้อ) ซึ่งถ้าครบ ก็แสดงว่าพร้อมแล้วที่จะเปิดโรงเรียน เหลือเพียงการยกเลิกประกาศห้ามเปิดสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ถ้าโรงเรียนแห่งใดยังไม่พร้อม ก็ยังมีเวลาให้เตรียมตัวอยู่ เพราะถ้าง่วนอยู่กับการแก้ปัญหาการเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว เมื่อเปิดเทอมมาก็จะต้องตามแก้ปัญหาคล้ายกันนี้อีก

 

 

บริบทของประเทศไทย พร้อมแค่ไหนถ้าจะเปิดเทอม

ถ้าเขียนถึงโรงเรียนโดยที่ไม่ได้นึกย้อนกลับไปสมัยที่ตัวเองยังเป็นนักเรียนอยู่ ก็จะถือว่าไม่ได้เขียนใช่ไหมครับ ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดที่อาศัยอยู่นอกเมือง แต่เรียนที่โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ทุกเช้าเลยต้องตื่นเช้า ขึ้นรถตู้รับจ้างแวะรับนักเรียนตามรายทางจนนั่งเบียดกันแน่น ซึ่งมีตั้งแต่เด็กเล็กชั้นอนุบาล ไปจนถึงเด็กโตชั้นประถมศึกษาตอนปลาย แต่รถตู้สมัยนั้นเป็นรถคันเก่าที่ไม่ได้เปิดแอร์ ซึ่งถ้ายังใช้อยู่จนถึงตอนนี้ก็สอดรับกับโควิด-19 พอดี ที่ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนเรื่องความแออัด ถ้าจะให้นั่งที่เว้นที่ ก็น่าจะต้องแบ่งเป็น 2 คัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ยาก

 

การเดินทางใช้เวลากว่า 45 นาที ถึงจะถึงโรงเรียน ลงจากรถ ไหว้คุณครูที่ยืนประจำอยู่ตรงประตู ซึ่งในอนาคตจะต้องตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ส่วนคุณครูก็จะเป็นผู้วัดไข้นักเรียนเหมือนกับร้านสะดวกซื้อ โดยนักเรียนจะต้องต่อแถวเว้นระยะห่างกัน ซึ่งแถวคงจะยาวน่าดู เพราะนักเรียนลงจากรถตู้พร้อมกัน… ไม่นานเพลง อยุธยารำลึก ก็ดังขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าต้องไปเข้าแถวหน้าเสาธงแล้ว แต่ตอนนี้นักเรียนไม่ควรรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงอาจให้แยกเข้าแถวหน้าห้องเรียน และเว้นระยะ 1 ช่วงแขน (1 เมตร) เพราะการร้องเพลงทำให้น้ำลายกระเด็นมากกว่าการพูดปกติ

 

นอกจากการทำสัญลักษณ์ไว้ที่พื้นให้นักเรียนอยู่ห่างกันแล้ว (เน้นตรงบริเวณที่จะมีการยืนกันเป็นเวลานานเกิน 5 นาที เช่น การเข้าแถวต่อคิว การนั่งในโรงอาหาร) การจัดโต๊ะในห้องเรียนใหม่ (น่าจะออกมาเหมือนห้องเรียนในการ์ตูนญี่ปุ่น) การเหลื่อมเวลาพักกลางวันของนักเรียนแต่ละชั้น ก็จะเป็นหนึ่งในมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ รวมถึงการแยกของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะแก้วน้ำ หรือตรงตู้กดน้ำ ซึ่งสมัยนั้นผมก็ใช้มือเปล่ารอง ก็จะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ส่วนคุณครูถ้าต้องพูดคุยใกล้ชิดกับนักเรียน ก็อาจสวม Face Shield เพิ่มจากการสวมหน้ากากอนามัย

 

ผมจำได้ว่า ช่วงหนึ่งตอนชั้นประถมมีการรณรงค์ให้นักเรียนล้างมือก่อนกิน

อาหารกลางวัน โดยจะต้องต่อแถวจากห้องเรียนประจำมาล้างมือที่ก๊อกน้ำข้างล่าง และใช้สบู่ยี่ห้อหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการ ซึ่งถ้าจะประยุกต์ใช้กับช่วงนี้ก็เป็นเรื่องดี โดยโรงเรียนเป็นผู้จัดเตรียมสบู่ไว้ตามอ่างล้างมือ คุณครูสอนการล้างมือที่ถูกวิธี และกำหนดตารางเวลาให้มีช่วงล้างมือ โดยอาจมีการเปิดเพลงเป็นสัญญาณเหมือนกับการรณรงค์การแปรงฟัน (ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้พัฒนาไปอย่างไรบ้างแล้ว) ส่วนนักเรียนมัธยมก็อาจเปิดโอกาสให้นักเรียนออกแบบวิธีการสะกิด (Nudge) ของเขาเอง

 

หน้ากากอนามัยจะเป็นของใช้ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิม โดยนักเรียนจะต้องสวมตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน ขึ้นรถรับ-ส่งนักเรียน เข้าแถวเคารพธงชาติ เข้าเรียน แต่จะต้องมีการถอดช่วงรับประทานอาหาร ดื่มนมโรงเรียน วิ่งเล่น หรือในคาบเรียนพลศึกษา การออกแบบหน้ากากอนามัยให้สามารถคล้องคอได้ หรือออกแบบที่วางหน้ากากอนามัย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มั่นใจว่าผมในตอนนั้นจะสามารถรักษาหน้ากากอนามัยเพื่อใส่กลับบ้านในสภาพเดียวกับตอนเช้าได้หรือไม่ (ฮา) เรื่องหน้ากากอนามัยคงเป็นปัญหาที่ต้องระดมความคิดตอนเปิดเทอมแล้วอีกครั้งหนึ่ง

 

สุดท้าย การทำความสะอาดสถานที่ ซึ่งปกตินักเรียนในห้องจะแบ่งเวรกันเช็ดกระดาน กวาดพื้น และเทขยะ เป็นประจำทุกวันตอนเย็นอยู่แล้ว แต่พอเปิดเทอมรอบนี้ นักเรียนจะต้องเพิ่มการทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสกันหลายคน เช่น ราวบันได สวิตช์ไฟและพัดลม ของเล่น อุปกรณ์กีฬา พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องน้ำ ซึ่งจะมีนักเรียนหลายชั้นมาใช้ ภารโรงและแม่บ้านจะต้องทำความสะอาดบ่อยขึ้นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คล้ายกับห้องน้ำในสถานที่สาธารณะอื่นๆ โดยเน้นการเช็ดจุดสัมผัสร่วม เช่น ก๊อกน้ำ กลอน ลูกบิดประตู

 

 

 

ความเสี่ยงจากการเปิดโรงเรียน

ถึงแม้เด็กที่ป่วยเป็นโควิด-19 จะมีอัตราป่วยตายต่ำมาก แต่สิ่งที่หลายคนรวมถึงรัฐบาลกังวลอย่างหนึ่งหลังจากเปิดโรงเรียนแล้วคือ เด็กจะเป็นพาหะนำเชื้อกลับบ้าน ซึ่งที่บ้านจะมีคนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับคำแนะนำว่าควรออกจากบ้านเมื่อจำเป็น และไม่ให้สมาชิกในบ้านคลุกคลีกับคนกลุ่มนี้ นั่นก็คือผู้สูงอายุ ทว่า ถ้าจะแนะนำไม่ให้เด็กเข้าใกล้ปู่ ย่า ตา ยายเลย ก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่เท่าที่ผมนึกออก ก็อาจให้เด็กล้างมือหรืออาบน้ำทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน แล้วพอจะพบปะกัน ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ก็สวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงตรงนี้ลง

 

อีกจุดที่เสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากันเลยคือ ครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน เพราะอาจสัมผัสความเสี่ยงจากข้างนอก เช่น เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายอื่น แล้วอาจนำเชื้อเข้ามาแพร่ในโรงเรียน เหมือนในสิงคโปร์ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่มีการติดต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองนับสิบราย จนต้องปิดโรงเรียน ดังนั้น ครูและเจ้าหน้าที่จะต้องสังเกตอาการป่วยของตัวเอง หากเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัด ควรลาป่วยจนกว่าจะหายดี ส่วนการตรวจหาเชื้อในผู้ที่มีอาการป่วยในโรงเรียน ก็อาจมีเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาโดยเฉพาะ

 

จะเห็นว่าขั้นตอนการเตรียมการเปิดโรงเรียนมีรายละเอียดจำนวนมาก และอาจต้องมีการซักซ้อมแผนร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดังนั้น ‘โรงเรียนพร้อมหรือยัง’ ในขณะที่จะต้องเปิดเทอมในอีก 1 เดือนข้างหน้า จึงไม่ใช่คำถามที่ด่วนถามเกินไป ยังไม่นับว่าบางจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เกิน 28 วัน (2 เท่าของระยะฟักตัวของเชื้อ เท่ากับว่าไม่มีการระบาดในพื้นที่แล้ว) น่าจะสามารถเปิดนำร่องไปก่อน เพื่อเป็นต้นแบบการเปิดโรงเรียนให้กับจังหวัดอื่น โดยไม่จำเป็นต้องรอเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X