วันนี้ (5 เม.ย.) ที่งาน ASEAN Finance Ministers’ And Central Bank Governors’ Meeting Joint Press Conference ครั้งที่ 5 จังหวัดเชียงราย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า งานในครั้งนี้ประสบความเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญหลายประการ ภายใต้กรอบการดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1. ความเชื่อมโยงของระบบการเงินเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนในภูมิภาค 2. สนับสนุนให้ภาคการเงินตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3. การสร้างภูมิคุ้มกันโดยสนับสนุนการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งข้อตกลงสำคัญที่เกิดขึ้นได้แก่ ASEAN Single Window เพื่อสนับสนุนการค้าในภูมิภาค เป็นผลดีกับผู้ส่งออกและนำเข้า โดยลดกระบวนการที่ใช้เวลานานในอดีตให้จบภายในวันเดียว เรื่องการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อชำระเงิน การผลักดันการใช้งาน QR Code ของภูมิภาค และการเงินสีเขียวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกันภัยรูปแบบ Micro Insurance เพื่อให้ประชาชนอาเซียนได้เข้าถึงประกันภัยได้ง่ายมากขึ้น และความร่วมมือด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น
ขณะที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปประเด็นสำคัญในฝั่งของธนาคารกลาง 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่น เกิดความร่วมมือมากขึ้นของประเทศในภูมิภาค ล่าสุด ประเทศฟิลิปปินส์ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของกรอบความร่วมมือกับทางแบงก์ชาติ เชื่อว่าจะมีประเทศอื่นๆ เข้ามามากขึ้นในอนาคต 2. การชำระเงินที่เชื่อมโยงกัน สำหรับการชำระเงินข้ามแดนโดยใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างบล็อกเชน ซึ่งเป็นการจ่ายเงินแบบเรียลไทม์ มีทั้งสถาบันการเงินและกลุ่มนอนแบงก์เข้าร่วมด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ระบบการชำระเงินดีขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันกับประเทศสิงคโปร์ในการเชื่อมโยงระบบพร้อมเพย์ของไทยกับระบบ Pay Now ของสิงคโปร์ คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้กลางปี 2563 นี้ 3. ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ขณะนี้ได้ยกระดับเรื่องดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการจัดการภัยคุกคามที่ชาญฉลาด (Threat Intelligence) ขณะนี้มีความคืบหน้ามากแล้ว 4. แนวทางการดำเนินกิจการเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มธนาคาร ซึ่งธนาคารกลางแต่ละประเทศก็จะนำไปเผยแพร่และส่งเสริมให้สถาบันการเงินในประเทศของตนเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังเน้นความสำคัญเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นแผนความตกลงเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียนและ 6 ชาติคู่เจรจา ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยปัจจุบันแนวคิดคุ้มครองการค้า (Protectionism) มีเพิ่มมากขึ้นในระดับโลกและภูมิภาค ซึ่งมีผลต่อเรื่องการค้า การลงทุน และภาพรวมของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ กลุ่มประเทศอาเซียนและคู่เจรจาจำเป็นต้องร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้นอีกเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับการค้าของภูมิภาค โดยเชื่อว่าจะเจรจาเรื่อง RCEP เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2562
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า