Affiliate Marketing กลายเป็นสิ่งที่หอมเย้ายวนจนแม้แต่แพลตฟอร์มวิดีโอยักษ์ใหญ่ของโลกยังทนไม่ไหว ประกาศจับมือกับอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Shopee เดินหน้าขยายการให้บริการ YouTube Shopping ในไทย โดยยังไม่ระบุจะเปิดเมื่อไร แต่บอกว่า ‘เร็วๆ นี้’ เท่านั้น
YouTube ขยายความในระหว่างแถลงผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่ง THE STANDARD WEALTH ได้เข้าร่วมว่า Affiliate ที่จะเข้ามาช่วยครีเอเตอร์สร้างรายได้อีกช่องทางผ่านการแสดงสินค้าที่สามารถให้ผู้ชมกดสั่งซื้อได้ระหว่างรับชม โดยครีเอเตอร์จะได้ค่าคอมมิชชันเป็นผลตอบแทน
ก่อนหน้านี้ Reuters รายงานว่า YouTube และ Shopee ประกาศเปิดตัวบริการช้อปปิ้งออนไลน์ในอินโดนีเซีย ภายใต้ความร่วมมือ YouTube Shopping ซึ่ง Ajay Vidyasagar ผู้อำนวยการ YouTube ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า พลังและความเร็วของการช้อปปิ้งออนไลน์ในอินโดนีเซียเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เลือกเปิดตัวบริการนี้ในอินโดนีเซียก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- แม่ทัพคนใหม่ของ Lazada มอง การเข้ามาของ Temu อาจทำให้การแข่งขันดุเดือดขึ้น แต่ลูกค้าคือผู้ได้ประโยชน์
- ภูมิทัศน์ค้าปลีกที่เปลี่ยนไป ในวันที่ KOLs/Influencers กลายร่างเป็นร้านสะดวก(ใจจะ)ซื้อ
- กระแสการใช้ ‘อินฟลูเอ็นเซอร์’ กำลังเปลี่ยนไป จากใช้เพื่อสร้างแบรนด์มาเป็น Affiliate Marketing เพราะบางคนขายได้วันละเป็นล้านบาท!
- ‘Influencer Marketing’ ดาบวิเศษที่ใช้ในการต่อสู้กับยอดขายที่ซบเซา คาดปีนี้แบรนด์เทงบโฆษณาให้ 8 พันล้านบาท
นอกจากนี้บริการดังกล่าวยังมีแผนขยายไปยังเวียดนามด้วย แต่ยังไม่ได้เปิดเผยช่วงเวลาที่แน่นอนเช่นกัน ปัจจุบัน YouTube Shopping เปิดให้บริการแล้วในเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา
Reuters ชี้ว่า การเปิดตัว YouTube Shopping ถือเป็นการประกาศศึกกับ TikTok Shop ของ ByteDance ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ TikTok เข้าควบคุม Tokopedia แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
TikTok Shop มีมูลค่าการซื้อขายรวม (GMV) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากปีก่อนหน้า ทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาครองจาก Shopee
Affiliate Marketing เทรนด์มาแรงในไทย
ในประเทศไทย ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI GROUP ได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่า จากใช้เพื่อสร้างแบรนด์ ต่อไปเทรนด์การใช้อินฟลูเอ็นเซอร์จะขยับไปเป็น Affiliate Marketing มากขึ้น
“เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นเพราะบางคนขายได้เป็นล้านบาทในหนึ่งวัน ทำให้แบรนด์เห็นยอดขายได้ทันที” ภวัตระบุ พร้อมขยายความว่า การใช้ Affiliate Marketing กับอินฟลูเอ็นเซอร์นั้นขึ้นอยู่กับว่าจะตกลงกันอย่างไร ซึ่งมีทั้งการแบ่งเป็นค่าคอมมิชชันในสัดส่วน 5-15% หรือแบ่งตามจำนวนชิ้นที่ขายได้ตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักหมื่นที่ยังมีสำหรับสินค้าที่มีราคาแพงมากๆ
ด้านข้อมูลจาก Lazada ระบุถึงอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยว่ามีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ไทยเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากอินโดนีเซีย ด้วยอัตราการเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค โดยมีมูลค่า 9.8 แสนล้านบาท
Lazada ยังประเมินถึงอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทย ซึ่งคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเห็นตัวเลขการเติบโตเป็นดับเบิลดิจิตอยู่ เพราะผู้บริโภคในไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตได้ครอบคลุมมากกว่าประเทศอื่น ทำให้มีการใช้บริการอีคอมเมิร์ซค่อนข้างมาก
สร้างแคปชันพากย์เสียงแบบเรียลไทม์กำลังจะมา แต่ยังไม่มีไทย
ขณะเดียวกัน การแถลงข่าวของ YouTube เมื่อเช้าวานนี้ (24 กันยายน) ยังได้ประกาศการอัปเดตแพลตฟอร์มจากงาน Made On ว่ากำลังมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะเปิดให้เหล่าครีเอเตอร์ได้หยิบไปใช้สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหนึ่งในไฮไลต์ของงานคือการนำโมเดล ‘แปลงข้อความเป็นวิดีโอ’ (Text to Video) จาก Google DeepMind เข้ามาให้ครีเอเตอร์ที่ทำคลิปสั้น (Shorts) สามารถนำไปสร้างวิดีโอพื้นหลังหรือสร้างวิดีโอความยาว 6 วินาที เพื่อใช้ประกอบคอนเทนต์ของตนเองได้ ฟีเจอร์นี้มีชื่อว่า ‘Veo’ โดย YouTube ประกาศว่าฟีเจอร์ดังกล่าวจะติดกำกับว่าเป็นคอนเทนต์ที่ AI สร้างขึ้น ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานช่วงประมาณปลายปีนี้
ในขณะเดียวกัน YouTube ยังได้นำ AI เข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดบน YouTube Studio ในแท็บใหม่ที่บริษัทเรียกว่า Inspiration ซึ่งครีเอเตอร์สามารถพูดคุยและระดมสมองกับ AI เพื่อเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นความจริง ทั้งการคิดชื่อปก ภาพ Thumbnail ไปจนถึงโครงร่างเนื้อหาในคอนเทนต์
Community Hubs เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่มี AI เข้ามาช่วยครีเอเตอร์จัดการความสัมพันธ์กับกลุ่มคนดูของตัวเองด้วยการแนะนำวิธีโต้ตอบกับฐานคนดู ช่วยให้การบริหารเวลามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การสร้างแคปชันพากย์เสียงในภาษาต่างประเทศแบบเรียลไทม์หรือว่า Auto Dubbing เป็นสิ่งที่ YouTube กำลังขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ภาษาสเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอิตาเลียน
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการ Auto Dubbing ในภาษานอกเหนือจากที่กล่าวมายังอยู่ระหว่างการพัฒนา และยังไม่มีการประกาศออกมาจาก YouTube อย่างชัดเจนว่าภาษาอื่นรวมถึงไทยจะออกมาให้ครีเอเตอร์ใช้กันได้เมื่อไร
ภาพ: Dave Kotinsky / Getty Images
อ้างอิง: