×

เปิดรายชื่อประเทศรับผลกระทบหนักสุดหากราคาน้ำมันแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

07.04.2023
  • LOADING...

การประกาศหั่นกำลังการผลิตน้ำมันแบบเซอร์ไพรส์ตลาดของกลุ่ม OPEC+ และพันธมิตร ส่งให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ด้านนักวิเคราะห์ประเมินว่า ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อย่าง ‘อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้’ น่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหากราคาน้ำมันแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามที่นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ไว้

 

Pavel Molchanov กรรมการผู้จัดการ Raymond James วาณิชธนกิจในสหรัฐฯ ระบุว่า การประกาศลดการผลิตลง 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของกลุ่ม OPEC+ คือภาษีสำหรับทุกประเทศที่นำเข้าน้ำมัน

 

“ไม่ใช่สหรัฐฯ ที่จะรู้สึกเจ็บปวดมากที่สุดหากน้ำมันแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่จะเป็นประเทศที่ไม่มีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี ฝรั่งเศส เป็นต้น” Molchanov กล่าว

 

ทั้งนี้ การลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจของประเทศในกลุ่ม OPEC+ มีกำหนดจะเริ่มในเดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นปี 2023 โดยทั้งซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะลดการผลิตน้ำมันลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่สมาชิก OPEC อื่นๆ เช่น คูเวต โอมาน อิรัก แอลจีเรีย และคาซัคสถาน ก็ลดการผลิตเช่นกัน

 

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ในวันนี้ (6 เมษายน) เคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 85.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ West Texas Intermediate อยู่ที่ 81.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

Henning Gloystein ผู้อำนวยการ Eurasia Group กล่าวว่า ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการลดอุปทานน้ำมันและการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ คือภูมิภาคที่พึ่งพาการนำเข้าในระดับสูง และมีสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงในระบบพลังงานหลัก

 

“นั่นหมายความว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออุตสาหกรรมตลาดเกิดใหม่ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอุตสาหกรรมหนักที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย”

 

สำหรับ ‘อินเดีย’ ถือเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และซื้อน้ำมันของรัสเซียในราคาส่วนลดที่สูงลิ่ว นับตั้งแต่สหรัฐฯ และพันธมิตรคว่ำบาตรรัสเซีย

 

โดยจากข้อมูลของรัฐบาลอินเดียระบุว่า การนำเข้าน้ำมันดิบของอินเดียเพิ่มขึ้น 8.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

Gloystein กล่าวว่า “หากน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอีก แม้แต่ราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่ลดราคาลงก็จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย”

 

สำหรับ ‘ญี่ปุ่น’ น้ำมันถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของพลังงานทั้งหมด

 

“เนื่องจากไม่มีการผลิตในประเทศที่โดดเด่น ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นอย่างมาก โดยราว 80-90% มาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง” หน่วยงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กล่าว

 

ส่วน ‘เกาหลีใต้’ น้ำมันก็เป็นพลังงานหลักที่ประเทศต้องการ อ้างอิงจากบริษัทวิจัยอิสระ Enerdata

 

น้ำมันแพงกระทบเศรษฐกิจเกิดใหม่ ‘หนัก’

 

Molchanov กล่าวอีกว่า ตลาดเกิดใหม่บางแห่งที่ไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะรองรับการนำเข้าเชื้อเพลิงเหล่านี้จะได้รับผลกระทบทางลบ หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมองว่าอาร์เจนตินา ตุรกี แอฟริกาใต้ และปากีสถาน เป็นเศรษฐกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบดังกล่าว

 

นอกจากนี้ศรีลังกา ซึ่งไม่ได้ผลิตน้ำมันในประเทศและพึ่งพาการนำเข้า 100% ก็มีความอ่อนไหวมาก และจะได้รับผลกระทบหนักขึ้นเช่นกัน Molchanov กล่าว

 

สอดคล้องกับ Amrita Sen ผู้ก่อตั้ง Energy Aspects ที่กล่าวว่า “ประเทศที่มีสกุลเงินต่างประเทศน้อยที่สุดและเป็นผู้นำเข้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากราคาน้ำมันมักอยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ” โดย Sen ยังเสริมอีกว่า ต้นทุนการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นอีกหากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising