“ตอนนี้ขอแค่ติดอะไรได้ก็พอ”
หากติดตามโลกโซเชียลในขณะนี้ จะพบสเตตัสของนักเรียน ม.6 หลายๆ คนเขียนระบายความรู้สึก ความเครียดในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะปีนี้มีการเปลี่ยนระบบคัดเลือกใหม่เป็นระบบทีแคส (TCAS) ที่ทดลองใช้ปีนี้เป็นปีแรก และสร้างปัญหาให้กับเด็ก ม.6 จำนวนมาก
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง ระบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน อย่างระบบเอ็นทรานซ์ (Entrance) ที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2504 เป็นระบบกลางคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เด็กสามารถเลือกอันดับสาขาวิชาได้ 6 อันดับ แต่ก็มีปัญหาเพราะสอบได้เพียงแค่ครั้งเดียว ถ้าพลาดก็ต้องเสียเวลารอปีถัดไป
ปี 2549 จึงมีการเปลี่ยนระบบคัดเลือกจากระบบเอ็นทรานซ์มาเป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลางหรือที่รู้จักกันในชื่อ แอดมิชชัน (Admissions) ที่ใช้คะแนนเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) และคะแนนจากข้อสอบกลางเอเน็ต (A-NET) และโอเน็ต (O-NET) แต่ว่าก็มีปัญหามาตรฐานการเรียนของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน ทำให้เกรดแตกต่างกัน ปี 2553 จึงเปลี่ยนเป็นระบบแอดมิชชัน ระยะที่ 2 โดยแก้ไขลดสัดส่วนคะแนนเกรดลง และเปลี่ยนการสอบเอเน็ต มาเป็นแกท/แพท (GAT/PAT) มีการเพิ่มข้อสอบ 7 วิชาสามัญขึ้น ปี 2556 มีการเพิ่มข้อสอบจาก 7 วิชาสามัญเป็น 9 วิชาสามัญ
มาปี 2561 มีการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกใหม่อีกครั้ง เป็นระบบทีแคส ซึ่งหลายๆ คนมองว่าเป็นระบบเอ็นทรานซ์ 4.0 แต่ตั้งแต่เปิดใช้ระบบมาก็มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งเวลาประกาศใช้ที่กะทันหันเกินไป ปัญหาคะแนนสูงแต่ไม่สามารถเข้าคณะที่อยากเข้าได้ เพราะการกั๊กที่ รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้จึงมีเสียงบ่นเคล้าน้ำตาของเด็ก ม.6 มากกว่าปีอื่นๆ
ปัญหาของระบบทีแคสอาจจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาการเข้ามหาลัย แต่เป็นอนาคตของวงการการศึกษาไทย THE STANDARD ชวนมองเรื่องนี้ในมุมกว้างๆ จากงานเสวนา ‘ทีแคส-ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย’ เวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระบบ TCAS คืออะไร
TCAS ย่อมาจาก Thai University Central Admission System หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ทีแคส’ เป็นระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่ทาง ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) คิดขึ้นเพื่อจัดระเบียบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ระบบทีแคสเปรียบเสมือนเจ้าหน้าที่เทศกิจที่เข้ามาจัดระเบียบการค้าขายในตลาดที่มีมหาวิทยาลัยเป็นพ่อค้าแม่ค้า โดยกำหนดให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องเปิดรับสมัครเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และเลื่อนการสอบกลางทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นโอเน็ต (O-NET) แกท/แพท (GAT/PAT) และ 9 วิชาสามัญให้ไปสอบหลังจากเด็กนักเรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว
ระบบทีแคสจะเปิดให้เด็กสามารถสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด 5 รอบ รอบที่ 1 สมัครโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน หรือพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ในการคัดเลือก รอบที่ 2 เป็นการรับแบบโควตาของมหาวิทยาลัย ใช้คะแนน GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญยื่น
รอบที่ 3 เป็นรอบรับตรง รอบที่ 4 เป็นการรับแบบแอดมิชชัน และรอบที่ 5 รอบสุดท้าย เป็นการตรงแบบอิสระ หรือรอบเก็บตก ที่มหาวิทยาลัยจะเป็นคนรับด้วยวิธีการของตัวเอง
ทาง ทปอ. มองว่าระบบทีแคสจะช่วยแก้ไขปัญหาการกั๊กที่นั่งในมหาวิทยาลัย เพราะเด็ก 1 คนสามารถเลือกสาขาวิชาได้สูงสุดเพียง 4 สาขาวิชา และถ้ายืนยันสิทธิ์ในรอบใดรอบหนึ่งจะถูกตัดสิทธิ์ในรอบถัดไปทั้งหมด นอกจากนี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ เด็กไม่ต้องเสียเงินไปสอบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ใช้เพียงคะแนนจากข้อสอบกลางไปยื่นแทน
ทฤษฎีที่สวย แต่การจัดการล้มเหลว
มนัส อ่อนสังข์ บก. ข่าวการศึกษาและแอดมิชชัน Dek-D กล่าวบนเวทีเสวนาว่า ระบบทีแคส ถ้ามองเป็นทฤษฎีจะเป็นทฤษฎีที่สวยมาก แต่ในทางปฏิบัติแล้วถือเป็นคนละเรื่อง
ปัญหาแรกคือเวลาที่กระชั้นชิด โดยทาง ทปอ. เพิ่งประกาศใช้ระบบนี้เดือนตุลาคม 2560 เท่ากับว่าจะมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าเพียง 4 เดือน ทำให้เด็กและมหาวิทยาลัยบางแห่งเตรียมตัวไม่ทัน
ปัญหาที่สอง เพิ่มภาระให้กับเด็ก เพราะการเลื่อนการสอบทั้งหมดไปไว้หลังจบ ม.6 ทำให้เด็กมีเวลาอ่านหนังสือสอบเพียง 1 เดือนเท่านั้น
“สมมติว่าถ้าเด็กคนหนึ่งอยากเข้าเภสัช เขาจะต้องสอบทั้งหมด 18 วิชา พอไปดูวิชาที่สอบ อย่างภาษาไทยก็ต้องสอบ 3 รอบ สอบในโอเน็ต ข้อสอบแกท และ 9 วิชาสามัญ หรืออย่างวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ต้องสอบ 3 รอบ แล้วแต่ละรอบไม่สามารถอ่านหนังสือได้ครั้งเดียวแล้วสอบได้ทั้งหมด ต้องอ่านแยกกันอีก”
อย่างที่สาม การลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งทาง ทปอ. เขาคิดว่าจะช่วยลดพวกค่าที่พัก ค่าเดินทางที่จะไปสอบของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ในทางกลับกันก็เพิ่มค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขึ้นมา เช่น ทีแคสรอบแรกจะให้ยื่นโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งบางคณะไม่สามารถนำมาวัดได้ อย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ ทำให้เด็กบางคนบอกว่ามหาวิทยาลัยให้ไปสอบข้อสอบของเอกชนเพื่อเอาคะแนนมายื่น ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก หรือการทำแฟ้มผลงาน ถ้าเด็กสมัคร 5 ที่ ก็ต้องทำแฟ้มทั้งหมด 5 เล่ม เพื่อไปยื่น ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละเล่มก็ไม่ใช้น้อยๆ
ส่วนปัญหาการกั๊กที่ มนัสกล่าวว่า เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว เพียงแต่เมื่อก่อนอยู่ใต้ดิน แต่ระบบใหม่อย่างทีแคสทำให้ปัญหานี้ชัดเจนขึ้น ถือเป็นการเอามาเปิดในที่แจ้ง
“ทาง ทปอ. เขาคิดว่าระบบเก่าเด็ก 1 คนติดได้ 10 ที่ ซึ่งระบบใหม่จะช่วยลดให้เด็กสามารถเลือกสูงสุดได้เพียง 4 ที่ แต่มุมมองของเด็กกลับคิดว่าระบบใหม่นี้จะทำให้ปัญหาการกั๊กที่มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเคสเด็กติด 10 ที่ มันเกิดได้ 1 ใน 100 แต่ระบบใหม่เด็กทุกคนสามารถติดได้ 4 ที่ จำนวนก็เพิ่มมากกว่าเดิมอีก”
มนัสกล่าวต่ออีกว่า ในมุมมองของเด็ก เขาคิดว่าน่าจะมีการทำวิจัยระบบก่อน ให้เด็กมัธยม 600 คนมาลองระบบนี้ แล้วดูว่าผลลัพธ์ของแต่ละคนเป็นอย่างไร ไม่ใช่เอาเด็กทั้งรุ่นมาเป็นตัวทดลอง และปัญหาการกั๊กที่ เขาคิดว่ามันมีอยู่แล้ว เพราะเป็นสิทธิของเด็กๆ ที่จะเลือกได้หลายๆ ที่ แต่ทาง ทปอ. ควรมีการเตรียมวิธีรับมือที่ดีกว่านี้ เช่น ให้มีระบบตัวสำรอง
ด้าน รศ.ดร.วิชาญ ลิ่วกีรติยุตกุล ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ระบบทีแคสเด็กที่เก่งจะติดตั้งแต่ตอนรอบแรกๆ เหลือเด็กปานกลางกับเด็กอ่อนไว้ ซึ่งสร้างความกดดันให้เด็กเหล่านี้เป็นอย่างมาก
“ระบบทีแคสเหมือนท่ออันหนึ่งที่เด็กทุกคนต้องผ่านท่อนี้ไปเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เด็กต้องโฟกัสทุกอย่าง ต่างจากเมื่อก่อนที่จะโฟกัสแค่ที่ที่เขาอยากเข้า”
เด็กเคว้งคว้าง ไร้ที่ปรึกษา ปัญหาเด็ก หรือปัญหาใคร
มนัสกล่าวว่า ทางเว็บเด็กดีเคยทำโพลคำพูดที่เด็กไม่อยากฟังจากผู้ปกครองมากที่สุด คำที่ได้อันดับหนึ่งคือคำว่า ‘เอาไงต่อ’ เพราะเด็กจะรู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้กลางทาง ผู้ปกครองบางท่านไม่ได้ศึกษาตัวระบบ ทำให้เด็กไม่สามารถปรึกษาได้
“เด็กไม่มีคนให้ปรึกษา อย่างครูแนะแนว บางโรงเรียนมีแค่คนเดียว บางโรงเรียนไม่มี หรือที่หนักกว่าคือ เอาครูวิชาอื่นมาสอน ซึ่งก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ มีเด็กบางคนเล่าว่าเอาเรื่องระบบไปปรึกษาครูแนะแนว แต่ครูตอบกลับมาว่าฉันก็รู้เท่าๆ กับเธอ”
สุดท้ายเด็กจะเลือกคณะที่คะแนนตัวเองติดได้พอ ส่วนจะชอบหรือไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหาเด็กซิ่ว เพราะไม่ได้เรียนในคณะที่ใช่
ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รักษาการเลขาธิการ ทปอ. กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ โดยทาง ทปอ. จะเปิดศูนย์เฉพาะกิจชื่อว่า ‘ศูนย์พี่ช่วยน้องสอบ TCAS’ เป็นศูนย์ที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และตอบปัญหาเกี่ยวกับระบบทีแคส รวมถึงจะมีบริการคอมพิวเตอร์ไว้สำหรับอำนวยความสะดวกให้เด็กสมัครสอบ การตั้งศูนย์จะมีการกระจายทั่วทุกภูมิภาค ภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภาคกลาง ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
และในกรุงเทพฯ เปิดทั้งหมด 5 ศูนย์ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สำนักงาน ทปอ.
ปัญหา GPAX การกันที่ และไม่มีการจัดลำดับ
ปี 2560 กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายว่า
1. ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต้องเอื้อให้นักเรียนได้ใช้เวลาในห้องเรียนครบตามหลักสูตร เพื่อลดผลกระทบในการจัดการเรียนการสอนและนักเรียนละทิ้งห้องเรียน โดยสถาบันการศึกษาไม่ควรเริ่มกระบวนการรับเข้าเร็วกว่าเดือนมกราคม
2. สถาบันการศึกษาต้องนำผลการสอบจากส่วนกลาง เช่น GAT, PAT วิชาสามัญ O-NET, GPAX มาใช้ในการคัดเลือกทุกระบบ ทั้งระบบกลาง (แอดมิชชัน) ระบบรับตรงและระบบโควตา โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องไม่จัดสอบเอง เพื่อลดการวิ่งรอกสอบและลดความตึงเครียดของนักเรียน รวมทั้ง ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง
3. ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมการณ์ศึกษา ควรให้ความสำคัญกับระบบกลาง ส่วนสถาบันใดต้องการรับตรง จะต้องมีเงื่อนไข เช่น การรับนักเรียนในพื้นที่ การรับนักเรียนจากโรงเรียนในสังกัด การรับนักเรียนดีเด่นพิเศษ เป็นต้น
ซึ่งเด็กส่วนใหญ่บอกว่า GPAX เป็นคะแนนที่ไม่ยุติธรรม เพราะมีการปล่อยเกรด มาตรฐานการให้เกรดของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน โรงเรียนไหนปล่อยเกรดก็เท่ากับว่าเด็กมีโอกาสมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ ทั้งนี้ TCAS รอบที่ 3 มีปัญหาคือ เด็กจาก กสพท. (กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย) มากันที่นั่ง และทำไมไม่มีการให้จัดลำดับ
โดยทาง ทปอ. ยอมรับในปัญหาตรงนี้และจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในปี 2562 ซึ่ง ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ กล่าวว่า “การกันที่ในปีหน้าคงลดน้อยถอยไป เรารับฟังข้อเสนอในเรื่องของการจัดลำดับ แต่ปีนี้เราไม่สามารถจัดลำดับได้ และได้พยายามทำให้รู้สึกดีขึ้นโดยการมีรอบ 3/2 มาช่วย โดยจะแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่นิ่งนอนใจ”
อีกทั้งยังกล่าวเสริมอีกว่า การที่ระบบ TCAS มี 5 รูปแบบก็เพื่อให้เด็กได้เลือกว่า เขาเหมาะสมกับรูปแบบไหนในการจะเข้ามหาวิทยาลัย โดยรอบพอร์ตโฟลิโอเป็นรอบที่สามารถบ่งชี้ความถนัดเฉพาะของเด็กได้ ซึ่งเอื้อให้กับเด็กที่ไม่เก่งแต่มีความสามารถ รอบโควตาก็เช่นกัน เป็นการให้โอกาสกับเด็กในพื้นที่ ไม่ใช่เด็กเก่ง ดังนั้นสองรอบแรกคือต้องการเด็กที่มีความสามารถเฉพาะ ไม่ใช่เด็กเก่ง และเป็นการให้โอกาสต่อเด็กในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างเท่าเทียมมากขึ้น
จากทีแคสสู่คำถาม มหาวิทยาลัยมีไว้ทำอะไร
หลายท่านบนเวทีเสวนาสะท้อนแง่คิดว่าปัญหาใหญ่ตอนนี้คือเด็กไม่ได้เลือกที่คณะหรือสิ่งที่ตนชอบ แต่เลือกตามที่คะแนนที่ได้ กล่าวคือ ถ้าคะแนนถึงตรงไหนก็เลือกเรียนที่นั่น ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นคือ เด็กที่จบออกมากลายเป็นที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ตั้งคำถามว่า “จริงๆ แล้วเรามีมหาวิทยาลัยไว้ทำอะไร มีไว้เพื่อผลิตบุคคลเพื่อขายเป็นสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด หรือเป็นช่วงที่คนหนุ่มสาวมาค้นพบศักยภาพตนเอง พัฒนาตนเองเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสังคม”
อย่างไรก็ดี หากต้องการจะเปลี่ยนอนาคตของประเทศทางมหาวิทยาลัยเองก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องช่วยแก้ไขปัญหา กล่าวคือ ทางมหาวิทยาลัยเองต้องไม่พยามยามคัดเอาแต่เด็กเก่งๆ ต้องเปิดโอกาสให้เด็กทุกคน ทั้งนี้ที่เกิดปัญหานี้ขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามหาวิทยาลัยพยายามสรรหาเด็กเก่งๆ ทำให้ระบบไม่ตรงไปตรงมา
ซึ่ง ผศ.อรรถพล เสริมความเห็นว่า หากจะมองอนาคตประเทศไทยไปให้ไกลกว่านี้ เราต้องคิดว่า เราจะให้มหาวิทยาลัยถูกใช้งานเพียงแค่นี้จริงหรือ เราจะมองการจัดเด็กเป็นการจัดเข้าลู่ เด็กก็พยายามทำให้ตัวเองเก่งมากขึ้นเพื่อที่ตนเองจะได้มีโอกาสมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นเราจะอยู่ในยุคที่มีการแข่งขันทางการศึกษาสูง เท่ากับว่าต้องปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนพาลูกหลานตัวเองขึ้นไปให้ได้ โดยไม่สนใจว่าใครจะหล่นลงไปข้างล่างบ้าง ตลอดเวลา 5 ปี โลกของงานเปลี่ยนไปแล้ว พ่อแม่ต้องอย่าเอาประสบการณ์มาวางรากฐานให้ลูก หากอยากจะให้การศึกษาและสังคมก้าวหน้าไป เราต้องช่วยกันตั้งคำถามว่ามีมหาวิทยาลัยเพื่ออะไร ถ้าตอบไม่ได้ก็จะวนอยู่ในระบบแบบเดิม
ธรรมชาติของความเครียดและดราม่า
ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นความตึงเครียกที่ #Dek61 ต้องเผชิญในเวลานี้ว่า
“เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรก็ตามที่สังคมต้องแก้ไขกันในเวลาสั้นๆ โฟกัสจะมารวมกันที่ความรู้สึก มันจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นเยอะ จนไม่ได้ฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน”
TCAS เป็นปัญหาที่เกิดกับเด็กทุกๆ คน กล่าวคือเป็นเรื่องการแข่งขันและโอกาส เหมือนกับการที่คุณอยากไปดูคอนเสิร์ต คุณมีเงินก็จริงแต่คุณจองไม่ทัน ก็ทำให้เกิดความเครียดได้ แต่ครั้งนี้หลายๆ คนเครียดหนักกว่าเดิม เพราะระบบนี้ยังใหม่เลยมีความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจ การสื่อสารก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้เด็กกลัวและที่สำคัญยังเกิดขึ้นหลายรอบ จะมีเด็กบางคนที่หวังและผิดหวังถึง 3 รอบ ทำให้ความรู้สึกเข้มข้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งตามจิตวิทยาแล้ว อะไรก็ตามที่เราคาดการณ์ไม่ได้หรือควบคุมไม่ได้ย่อมทำให้เกิดความเครียดเสมอ
ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ เสนอวิธีการลดหรือคลายความเครียดสำหรับเด็กไว้สองวิธีคือ ให้เด็กลองคิดว่าถ้าไม่ติดจะทำอย่างไร ซึ่งผู้ปกครองต้องช่วยด้วย จะได้เปิดโอกาสและมีประตูให้เลือกหลายทาง ให้เตรียมความพร้อมเอาไว้ และอย่าไปยึดติดกับประตูเดียวที่คนอื่นยื่นเข้ามาให้
อีกอย่างคือการจัดการกับตัวเอง ควบคุมตัวเองให้ได้ โดยพ่อแม่ต้องเป็นแบ็กอัพให้กับลูก เพราะนี่คือเกมของเด็กที่ลูกต้องสู้และฝ่าฟันให้ได้ เด็กจะต้องจัดการกับตัวเองให้ได้ เพราะความสำเร็จในชีวิตคนมาจากความรู้และความสามารถบวกกับความไม่ท้อถอย และไม่ใช่เพียงแค่การเข้าสู่ระบบ TCAS เท่านั้น แต่ยังมีความรู้ความสามารถอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้
ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน กล่าวคือปัญหาในครั้งนี้พ่อแม่ต้องใช้สติให้มาก วางทุกสิ่งอย่างและมาคุยกับลูก เพราะเด็กไม่ได้แบกแค่ความคาดหวังของตัวเองเท่านั้น แต่แบกความคาดหวังของพ่อแม่อีกด้วย ยังไม่รวมถึงป้าข้างบ้านและโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งพ่อแม่ต้องให้กำลังใจลูก ไม่ว่าลูกสอบได้หรือไม่ก็ตาม
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความสามารถของลูก ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ระบบ และถึงแม้ลูกจะสอบไม่ติดก็ก็ไม่ได้ทำให้พ่อแม่รักเขาน้อยลง พ่อแม่ต้องอย่าตั้งคำถามที่เด็กไม่สามารถตอบได้ เช่น ทำไมไม่ดูหนังสือ ทำไมเราซวย ทำไมระบบไม่ดี คำถามพวกนี้ไม่มีคำตอบ แต่เป็นการเพิ่มความกดดันให้กับเด็ก มันจะทำให้ทะเลาะกัน และเหมือนกับคุณผลักลูกไปให้คนอื่น”
นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำกับผู้ปกครองเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะเลือกเส้นทางให้ลูก ให้ฟังลูกก่อน เพราะในความจริงแล้วเด็กไม่ได้กลัวว่าตัวเองเข้าเรียนไม่ได้ แต่เขากลัวว่า จะทำให้พ่อแม่เสียใจ พ่อแม่อย่าเอาความกดดันและความฝันของตัวเองไปฝากลูกไว้ เพราะเขาก็มีความฝันและเส้นทางของเขา อย่าไปตีกรอบแล้วยัดความเป็นตัวตนหรือสิ่งที่ต้องลงไป
“สำหรับตัวเด็กเองก็เช่นกัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องแข่งขัน การแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามีทั้งผิดหวังและสมหวังเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ครั้งนี้ก็เป็นอีกบททดสอบหนึ่งที่หนูจะผ่านไปได้ดี เพราะหนูเลือกด้วยตัวเอง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องท้อถอย ความฝันของเรา เราต้องไปให้ถึง อย่าให้คนอื่นมาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนเราต้องเปลี่ยนด้วยตัวเอง อย่ากลัวการแข่งขัน ต้องเชื่อในตัวเอง”
ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า อนาคตของ #Dek61 ที่ยังไม่ได้ที่เรียนจะดำเนินต่อไปอย่างไร และมรดกทีแคสที่มาพร้อมกับปัญหามากมายจะถูกส่งมอบไปถึง #Dek62 หรือไม่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้คือผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่ผู้กำหนดนโยบายควรยอมรับและแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด ที่สำคัญอย่าลืมฟังเสียงเด็กๆ ที่ต้องแบกรับชะตากรรมเหล่านี้ด้วยตัวของพวกเขาเอง
อ้างอิง: