แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าและเครื่องแต่งกายกีฬา Adidas ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2024 หรืออีก 6 ปีต่อจากนี้ พวกเขาจะใช้วัตถุดิบจากพลาสติกรีไซเคิลมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกรองเท้าและเสื้อผ้าออกวางจำหน่ายเท่านั้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
Adidas ได้ประกาศข่าวนี้ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านการไม่ใช้พลาสติกใหม่ หรือโพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ และเพื่อความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งเชื่อกันว่าจะลดการใช้พลาสติกได้มากกว่า 40 ตันต่อปี
อีริก ลินต์กี (Eric Liedtke) กรรมการบริหาร Adidas ฝั่งแบรนด์ทั่วโลกกล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือกำจัดการใช้โพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ให้หมดไปภายในปี 2024 เกือบ 50% ของวัสดุที่ใช้ผลิตสินค้าของเรากว่า 920 ล้านชิ้นมาจากโพลีเอสเตอร์ การจะเปลี่ยนผ่านในจำนวนขนาดนั้นเราไม่สามารถทำได้ในช่วงข้ามคืน”
การใช้วัตถุดิบจำพวกโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์ในปัจจุบันยังมีราคาแพงกว่าการใช้พลาสติกทั่วๆ ไป และโพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ราว 10-20% แต่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการผลิตหลายคนเชื่อว่า ช่วงห่างด้านราคาของพลาสติกและวัสดุรีไซเคิลจะแคบลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทจำนวนมากจะหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ราคาของมันจะถูกลง ในขณะเดียวกันพวกเราก็พัฒนาศักยภาพในการเก็บรวบรวม ทำความสะอาด และกระบวนการจัดการพลาสติกใช้แล้วได้ดีขึ้น” เบรนดา ไฮเทอมา ผู้ติดต่อกับแบรนด์สินค้าต่างๆ ณ บริษัทผู้ผลิตเส้นใยนานาชาติ ซึ่งผลิตผ้าจากพลาสติกรีไซเคิล และเป็นผู้จัดหาวัสดุให้แบรนด์ดังอย่าง Timberland และ Reebok
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Adidas ตั้งเป้าจะทำสินค้าและผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายจากพลาสติกรีไซเคิล ก่อนหน้านี้พวกเขาก็เคยนำขวดน้ำใช้แล้วมาผลิตเป็นเสื้อกีฬา และเครื่องแต่งกายอยู่บ่อยๆ โดยเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งผลิตรองเท้าจากขวดน้ำรีไซเคิล และพลาสติกใช้แล้วทิ้งจากมหาสมุทรในช่ือ ‘Ultraboost Uncaged Parley’ สนนราคาอยู่ที่ 179.95 ยูโร หรือประมาณ 6,990 บาท โดยสามารถจำหน่ายไปได้มากถึง 1 ล้านคู่
การที่แบรนด์ใหญ่อย่าง Adidas ตั้งเป้าจะผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลเช่นนี้ถือว่ามีผลต่อทั้งอุตสาหกรรมสินค้ากีฬาและแฟชั่นทั้งระบบเป็นอย่างมาก ไม่ต่างจากกรณีที่เชนร้านกาแฟ Starbucks และสายการบิน American Airlines ประกาศเตรียมเลิกใช้หลอดพลาสติก เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ค่านิยม และความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้วัสดุรีไซเคิลเหล่านี้ให้กับผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ในตลาด
อ้างอิง: