×

รวมพลังประชาชาติไทยสายเลือดใหม่ ‘เขตรัฐ-เพชรชมพู’ เป้าหมายสร้างพรรคของประชาชน

12.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ถ้าถามว่า 4 ปีมานี้การปฏิรูปทำอะไรไปแล้วบ้าง เขตรัฐตอบว่ากฎหมายพรรคการเมืองคือผลงานอย่างหนึ่งของ คสช. เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่มีกติกาที่ทำให้พวกเขาเข้ามาทำงานพรรคการเมืองที่จะเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริงได้
  • สู่ขวบปีที่ 86 ของการลงหลักปักฐานประชาธิปไตย จาก 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ จนถึงปี 2556-2557 ทั้งเขตรัฐและเพชรชมพูมองว่าประชาชนมีความพร้อมในระดับหนึ่งที่จะผลักดันประเทศ
  • เขตรัฐและเพชรชมพูบอกว่า ในฐานะบทบาทของทีมโฆษก การสื่อสารของพรรครวมพลังประชาชาติไทยคือเราจะไม่ทะเลาะกับใคร

เอ่ยชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) หลายคนอาจจะสงสัยว่าตำแหน่งแห่งที่ของพรรคการเมืองนี้เป็นมาอย่างไร แต่ถ้าบอกว่ามีลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ร่วมก่อตั้งด้วยคงจะเป็นภาพที่กระจ่างมากขึ้น

 

หลังประกาศเปิดตัวพรรคและประกาศเดินหน้ารณรงค์ระดมหาสมาชิกพรรคเมื่อไม่นานมานี้ที่มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในจุดโฟกัสที่น่าสนใจก็คือ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่อาสาเข้ามาทำงานการเมืองร่วมด้วย และนี่คือ เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ และ เพชรชมพู กิจบูรณะ สองทีมงานโฆษกพรรค รปช. ที่น่าจับตาไม่แพ้พรรคอื่นๆ

 

 

รู้จักสองสายเลือดใหม่ โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย

เขตรัฐ: จากพื้นฐานครอบครัวที่คุณแม่ทำงานโรงพยาบาลรัฐมาโดยตลอด ไม่เคยปันใจไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน แม้มีความพยายามที่จะดึงตัว เพราะคุณแม่อยากทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์จากตัวเงินที่จะได้รับ

 

ส่วนเรื่องการเมืองของคุณพ่อ เขตรัฐบอกว่าสมัยที่พ่ออยู่พรรคประชาธิปัตย์ ตนยังไม่ได้รับรู้อะไรมาก มารับรู้ก็เมื่อครั้งคุณพ่อมาทำพรรคมหาชน จนมาถึงสถานการณ์การเมืองช่วงปี 2556 ที่มีกลุ่มมวลมหาประชาชนมาลงท้องถนนร่วมต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ออกมาร่วมหลักสิบล้าน ทำให้รับรู้ว่าคนไทยไม่ใช่ไม่รักประเทศ ไม่ใช่ว่าไม่สนใจการเมือง มันตรงกันข้าม

 

ประกอบกับทัศนวิสัยที่เติบโตจากการได้ไปอยู่ทั้งอเมริกา จีน และการกลับมาเป็นอาจารย์ที่ไทย ในวันนี้ เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ วัย 29 ปี กำลังทำงานเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อ ‘รวมพลังประชาชาติไทย’ ในฐานะโฆษกพรรค คู่กับเพชรชมพู กิจบูรณะ

 

 

เพชรชมพู: ครอบครัวมีคุณตาเป็นนายกเทศมนตรีที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วยังเป็นทนายความที่เคยถูกลงขันจนเสียชีวิต เพราะไปเปิดโปงคนโกงราคาน้ำตาลในเวลานั้น ครอบครัวจึงผ่านประสบการณ์ที่ค่อนข้างเจ็บปวดกับการเมือง

 

และสำหรับประสบการณ์ที่เกิดกับเพชรชมพูเอง เธอบอกว่าช่วงมัธยมได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนนักเรียนพาคณะลูกเสือจากออสเตรเลียไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพราะมีผลคะแนนดีเป็นอันดับหนึ่ง ทว่าเมื่อถึงเวลาจริงกลับต้องเสียโอกาสนั้นไป เพราะมีลูกของคณะกรรมการผู้ปกครองที่อยากให้ลูกตัวเองได้ไป จึงขอเปลี่ยนตัว

 

แต่คุณแม่ของเพชรและตัวเพชรเองก็ไม่ยอม จนเป็นเหตุให้ตัดสินใจไปเรียนที่สิงคโปร์ ทำให้ได้รับรู้ถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสิงคโปร์ ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ

 

ขณะเรียนสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ก็มีเหตุการณ์ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเกิดขึ้น ความรู้สึกตอนนั้นครอบครัวก็เห็นว่าเสี่ยงหากขึ้นไปพูดบนเวที แต่อีกด้านหนึ่งครอบครัวก็อยากให้ขึ้นไปพูดเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแรงในการดึงคนอื่นให้ลุกออกมา

 

 

หลายคนรู้ดีว่าการทำงานการเมืองมีความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งอาจติดคุก เจอคดี คุณคำนึงหรือวิตกกับความเสี่ยงพวกนี้หรือไม่

เพชรชมพู: การทำงานทุกด้านมันเสี่ยงในตัวเองอยู่แล้ว แต่การทำงานการเมืองคือการทำเพื่อประเทศชาติ ระดับมันใหญ่กว่าเยอะ การพัฒนาประเทศเป็นงานมหภาค ความเสี่ยงมันเยอะกว่างานอื่น แต่เพชรมองว่าผลลัพธ์มันคุ้ม

 

เขตรัฐ: การทำงานการเมืองไม่ใช่เรื่องหวือหวาหรือหาผลประโยชน์ การทำงานการเมืองย่อมมีผู้ต้องการจะต้านแรงเราอีกเยอะ การเมืองแบบเก่ามีผู้ได้ผลประโยชน์อยู่ในนั้น เขาก็ย่อมต่อต้าน หรือคนที่ไม่เชื่อเรา เราก็จะต่อต้าน แต่กระนั้นความเสี่ยงก็ยังน้อยเมื่อเทียบผลลัพธ์ที่อยู่ปลายทาง ผมจึงพร้อมจะอุทิศตน ยอมทิ้งงานที่มั่นคงมาอยู่บนความเสี่ยง พร้อมพุ่งชนทุกอย่างเพื่อทำให้ประเทศไปรอด ผมพร้อม

 

 

การไปอยู่เมืองนอกทำให้ได้มุมมองหรือสิ่งที่จะช่วยประเทศอย่างไรบ้าง

เขตรัฐ: ช่วงที่อยู่อเมริการู้สึกเสรีนิยมมาก รู้สึกว่าประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพน้อย จึงไม่ชอบ แต่ถึงจุดหนึ่งเมื่ออเมริกาเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ด้วยความที่ผมเรียนบริหารธุรกิจและสนใจเศรษฐศาสตร์เป็นพิเศษ เลยต้องการเข้าไปดูตัวรูปแบบการนำเศรษฐกิจของจีน ซึ่งช่วงเวลานั้นจีนแบกโลกไว้ ผมจึงเลือกไปศึกษาต่อที่จีนด้านเศรษฐศาสตร์

 

พอไปอยู่ในประเทศที่ทุกคนมองว่าแย่ เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่มีสิทธิเสรีภาพ แต่เรากลับมองว่ามีอิสระ ทำอะไรได้มากกว่าอยู่อเมริกาด้วยซ้ำ เรียกว่ามีโอกาสในการทำมาหากิน ที่จีนคุณจะตั้งร้านข้างทางก็ได้ มันเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งนะ เช่นเดียวกับเมืองไทย แต่ที่อเมริกาคุณต้องไปจ่ายค่านั่นค่านี่ มันทำให้เราเรียนรู้ว่าการที่เราได้ฟังได้ยินมาโดยไม่ได้สัมผัสจริง เราเข้าใจผิดหรือเปล่า พอกลับมาไทยแล้วเจอความขัดแย้ง บางฝ่ายชูธงสิทธิเสรีภาพ บางฝ่ายก็ถูกมองว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม ซึ่งหากคุณสัมผัสจริงๆ ไม่ได้มีใครเป็นเสรีนิยมหรือเป็นอนุรักษนิยมไปทั้งหมด จนผมเข้าใจถึงเสน่ห์อย่างวัฒนธรรมที่เราเป็นไทย เป็นประเพณี ทุกอย่างที่ทำให้เราเป็นไทย

 

 

เพชรชมพู: อย่างที่บอกว่ามันมีบริบท กรณีของสิงคโปร์ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เขามีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ แล้วประชาชนก็เห็นด้วย ทำดีเขาก็เลือก ไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วใช้อำนาจไม่ชอบธรรม จะบอกว่าเลือกตั้งเข้ามาเป็นประชาธิปไตยแล้วแค่อย่างเดียว มันไม่ใช่ เข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ใช้อำนาจชอบธรรมหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

เขตรัฐ: ตัวอย่างที่ดีมากของจีนคือเมื่อเกิดการปฏิวัติ วัฒนธรรมหลายอย่างก็หายไป เกิดช่องว่างในคนทั้งเจเนอเรชันที่ไม่มีศาสนา ไม่มีวัฒนธรรม เป็นความว่างเปล่า จนกระทั่งเกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมจีนในช่วงหูจิ่นเทาและสีจิ้นผิงเพื่อหลอมรวมความเป็นจีนขึ้นมา ในขณะที่ประเทศไทยเรามีอยู่แล้วทำไมกลับไม่เห็นคุณค่า มองว่าเป็นเรื่องโบราณ จะทิ้งมันไป ทำให้ผมคิดว่าทำไมเราถึงต้องดำรงความเป็นไทยเอาไว้

 

แล้วสำหรับเพชรชมพู มองว่าความเป็นไทยต้องให้ความสำคัญที่ตรงไหน

เพชรชมพู: ถ้าพูดกันตามจริง เราก็คนรุ่นใหม่คนหนึ่ง แต่การพัฒนาประเทศต้องใช้คนทุกรุ่น ทุกสายอาชีพ ไม่ใช่ว่าเป็นคนรุ่นใหม่แล้วทิ้งอดีตที่ดีงามทุกอย่าง อย่างการให้ความเคารพครู เพชรไปเรียนต่างประเทศ ครูยังรู้สึกว่าไม่มีนักเรียนคนไหนให้ความเคารพเขาอย่างนั้น บางทีเขาอาจมองว่าหน้าที่ของครูคือสอนก็สอนไป แต่การเป็นครูเขาใช้จิตวิญญาณในการสอน การโต้แย้งต้องทำอย่างสุภาพ ไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว

 

 

4 ปีของ คสช. ทำให้หลายคนโหยหาคนรุ่นใหม่ ไม่เอานักการเมืองแบบเก่า คุณคิดว่าคนรุ่นใหม่คืออะไร

เพชรชมพู: คิดว่าเป็นความมุ่งมั่น คิดอะไรใหม่ๆ ไม่จำกัดที่อายุ การโหยหาสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เป็นทุกที่ อเมริกา 4 ปีเขาก็อยากจะเปลี่ยน

 

เขตรัฐ: ดังนั้นคนอายุ 50-60 ปี ถ้าเขามีความคิดอยากจะทำสิ่งดีๆ ต่อยอด สร้างสิ่งใหม่ ผมกลับมองว่าเป็นคนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่น 10-20 ปีที่ไม่คิดจะทำอะไรเสียอีก

 

แล้วจะผสานคนสองรุ่นได้อย่างไร

เขตรัฐ: เราต้องคุยกัน หาจุดสมดุลไปพร้อมกัน เพราะเราจะไปสู่สังคมสูงวัย ถ้าเราทิ้งเขา ไม่ฟังเสียงเขา นั่นเท่ากับเราจะกำลังทิ้งคนส่วนใหญ่ออกไป

 

 

แล้วกับนักการเมืองรุ่นเก่า คุณจะชักจูงนักการเมืองรุ่นเก่าที่ถูกผลักออกไปอย่างไร

เขตรัฐ: ในพรรครวมพลังประชาชาติไทย ตอนนี้มีทั้งคุณสุเทพ คุณสุริยะใส อาจารย์เอนก ถึงคนเหล่านี้ถูกผลักออกไป เขาก็ยังเป็นห่วงประเทศ ยังคิดสร้างบุคลากรรุ่นใหม่มาสร้างประเทศ เขาไม่เคยคิดครอบงำ มีแต่การสอน การแนะนำ ย้ำเลยว่าไม่มีการครอบงำหรือการสั่ง  

 

เพชรชมพู: เพราะเราเห็นว่าต้องมีประชาธิปไตยในพรรค ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงจะมีสมัชชาคอยเลือกผู้บริหารพรรค เป็นพรรคการเมืองของประชาชนจริงๆ สมาชิกทุกคนเป็นคนลงทุน เป็นเจ้าของพรรค เป็นคนเลือกผู้บริหาร

 

เขตรัฐ: หลายคนบอกว่า คสช. อยู่มา 4 ปีไม่เห็นปฏิรูปอะไร ประเทศไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตรงนี้สิ่งที่ทำให้พวกผมเข้ามา ถ้าเขาไม่เปลี่ยนกติกาให้เป็นแบบนี้ ประเทศไทยจะไม่มีทางได้เห็นหน้าคนรุ่นใหม่ คนอย่างพวกผม ถ้าไม่มีไพรมารีโหวต ไม่มีระบบสมัชชาหรือการตั้งพรรคการเมือง สมัยก่อนแค่มี 15 คนก็ตั้งได้แล้ว อันนี้เอาขั้นต่ำ 500 คน คนที่เข้ามาก็ต้องลงทุนประเดิมเขียนไว้ในกฎหมายเลย

 

 

อยากถามถึงตอนที่ถูกชักชวนมาร่วมพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีวิธีในการตัดสินใจอย่างไร มั่นใจได้อย่างไรว่าจะขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตัวเองได้

เขตรัฐ: ของผมขอยืนยันก่อนเลยว่ามาอยู่นี่ก่อนคุณพ่อ แล้วผมนี่แหละเป็นคนไปชวนคุณพ่อมา ณ วินาทีนั้นผมรู้สึกว่าสังคมไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หันไปทางไหนก็มีแต่ความมืดมน แต่อยู่ๆ ผมก็ได้ยินมาว่ามีคนจะทำเรื่องดีๆ ให้กับประเทศชาติ สำหรับผมมันเปรียบเสมือนแสงสว่าง ผมก็ไปสัมผัสว่าคนกลุ่มนี้มารวมกันด้วยอุดมการณ์จริงๆ ตามกฎหมายกำหนดว่าผู้ก่อตั้งพรรคต้องจ่าย 1,000-50,000 บาท แต่ของเขาจะเอา 50,000 บาทเลย ซึ่งเป็นเงินเดือนของผม 2 เดือนเลยนะ แล้วผมรู้สึกว่าเขามีอุดมการณ์จริงๆ แล้วทำงานตรงนี้ไม่มีเงินเดือน ไม่เคยได้หยุด ทำทั้งวันจันทร์ถึงอาทิตย์

 

เพชรชมพู: จริงๆ จากทุกสิ่งที่โตมา จากที่เห็นทำให้คิดอยู่แล้วว่าจะกลับมาพัฒนาประเทศ จริงๆ แล้วการพัฒนาประเทศไม่ได้มีแค่ทำงานการเมือง จะทำมูลนิธิ เป็น Think Tank ทำงานบริษัทกฎหมายก็ช่วยพัฒนาได้หมด งานการเมืองเป็นการพัฒนาทั้งระบบ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด เป็นงานมหภาค

 

เขตรัฐ: ผมไปเป็นอาจารย์เพราะเราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่พอเป็นก็พบว่าเราต้องทำตามนโยบาย ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงนโยบาย ทำให้เราไม่สามารถแก้อะไรได้เร็วอย่างที่อยากจะแก้ ผมสอนนักเรียนคนหนึ่ง กว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ผมต้องรอ 10-20 ปี ผมจึงลุกขึ้นมาสร้างเองเลย

 

 

พูดถึงเรื่อง Think Tank บรรยง พงษ์พานิช ก็เคยพูดว่าในประเทศไทยมีน้อยมาก ทำอย่างไรเราจะมีมากขึ้น พรรคของคุณคิดเรื่องนี้ไหม

เพชรชมพู: ถ้าพูดถึงระบบภายในของพรรคเองก็จะมีโรงเรียนการเมือง ให้ความรู้ด้านกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพูดถึงภาพกว้าง ถ้าคิดมาเป็นนโยบาย แต่ไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ก็คงยาก แต่ในรัฐธรรมนูญก็เขียนถึงยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นการวางกรอบพัฒนา ทำให้นโยบายมีความต่อเนื่อง ไม่ใช่ 4 ปีเปลี่ยนที

 

เขตรัฐ: อีกอย่างคือผมเห็นว่า Think Tank ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักวิชาการหรืออาจารย์ แต่เป็นชาวบ้าน คนธรรมดาเข้ามาก็ได้ อย่างพรรคเรามีนวัตกรรมสื่อสารในพรรคคือ Act Chat ที่จะให้สมาชิกมีปากมีเสียงส่งมาถึงพรรค เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่างจากเมื่อก่อนที่ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้งทุก 4 ปี แต่ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริหารพรรคได้ ซึ่งเราจะใช้ในการเปิดโหวตการประชุมสมัชชาพรรคได้

 

 

แต่พูดถึงยุทธศาสตร์ชาติก็จะมีมุมมองจากคนรุ่นใหม่ว่าเขียนโดยคนที่จะไม่ได้อยู่ทันผลของการใช้ ทำไมถึงมาคิดแทนคนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมกำหนด คุณมองอย่างไร

เพชรชมพู: คิดว่าหลายคนอาจจะมองที่มา แต่ไม่ได้มองผลลัพธ์ว่าออกมาเป็นอย่างไร ว่าเขากำหนดมาอย่างไร เราลองไปอ่านเนื้อหาก่อนไหม แล้วอย่างที่บอกว่ามาทบทวนได้ทุก 5 ปี มีช่องทางที่เปิดโอกาส

 

เขตรัฐ: เป็นแค่กรอบความคิด หลวมมาก เขาวางไว้กว้างมาก ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าระบบเก่ารัฐบาลทำนโยบายมา 4 ปี ผ่านไปอีกรัฐบาลก็โละทิ้งหมด เพราะฉะนั้นประเทศไทยที่ผ่านมาไม่เคยมีแผนระยะยาวเลย แล้วการไม่มีแผนระยะยาวทำให้เราไม่สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ แล้วเราจะกลับเข้าวงจรนี้อีกหรือครับ เราก็ต้องมีกรอบแนวทางให้เดินไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม และการมีเทคโนโลยีก็จะทำให้ประชาชนร่วมกำหนดทิศทางนโยบาย เราก็ทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันของประชาชนจริงๆ

 

 

การเป็นโฆษก วันข้างหน้าต้องรับการปะทะเป็นด่านแรก ต้องชี้แจงอะไรหลายอย่าง อย่างเรื่องที่อาจารย์เอนกพยายามพูด เช่น เรื่องการสลายความขัดแย้ง การพาประเทศไปข้างหน้า คนก็วิจารณ์ว่าเป็นการมองโลกสวย ทางนี้จะชี้แจงอย่างไร

เขตรัฐ: มันคือปลายทาง ท่านเองก็เข้าใจบริบทปัจจุบันว่าขัดแย้งกัน อาจารย์เอนกทราบดีว่าวันนี้ยังยาก แต่อีก 10-20 ปีข้างหน้าเป็นปลายทางที่ท่านอยากเห็น เป็นแสงสว่าง

 

เพชรชมพู: เป็นอุดมการณ์ เพราะพรรคการเมืองก็ต้องมีอุดมการณ์ เป็นภาพที่เรามอง ไปข้างหน้า

 

คิดว่าวิธีการสื่อสารการเมืองในงานโฆษกในความเข้าใจของคุณที่เป็นคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร และจะทำอย่างไร

เพชรชมพู: คิดว่าการสื่อสารการเมืองไม่ใช่แค่ของไทย แต่ทั่วโลก ด้วยเป็นการทะเลาะกัน โจมตีฝ่ายตรงข้าม เราอยากให้มาพูดเรื่องดีๆ ถึงตัวพรรคเราว่ามีนโยบายอะไร ตั้งใจทำอะไรต่อไป ประชาชนไม่อยากเห็นการทะเลาะแบบนั้นแล้ว

 

เขตรัฐ: การสื่อสารไม่ใช่เป็นการตอบโต้ ทะเลาะเบาะแว้ง แต่เป็นการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันมากกว่า เราจะพยายามไม่ทะเลาะกับใคร

 

อยากให้พรรคการเมืองมองสื่อบ้างว่าจะอยู่แบบไหน ทำงานกันอย่างไรกับพรรคการเมือง

เขตรัฐ: อยากชวนสื่อมาทำงานการเมืองสร้างสรรค์ เลิกเล่นการเมืองปิงปอง เลิกขายความขัดแย้ง ขายดราม่า

 

 

ถอยจากเรื่องระดับพรรคกลับมามองที่ตัวเอง ถ้าหากตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรก็ได้ เรื่องหนึ่งที่อยากเปลี่ยนคืออะไร

เพชรชมพู: ตอนที่เพชรกลับมาไทย ได้เห็นงานที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนทำมา โดยในเป้าหมายการปฏิรูปของพรรคที่ต้องการทำด้านหนึ่งคือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การศึกษาจึงเป็นประเด็นหลัก เพราะคนจบปริญญาตรีปีหนึ่งๆ หางานไม่ได้ เพราะอาจไม่ค้นพบตัวตน แต่การเรียน ปวช. ปวส. จะเติมเต็มในส่วนนั้น ฝึกให้เป็นมืออาชีพ เพราะการเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอาจเน้นวิชาการ การท่องจำ ไม่ได้เน้นการทำงานจริง แต่วิทยาลัยนี้จะผลิตคนไปป้อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คนจบไปก็ทำงานได้เลย และอีกอย่างคือการรักความเป็นไทยของพรรคเรา

 

การมีคุณธรรมจริยธรรมทางการเมือง วิทยาลัยนี้เป็นต้นแบบได้เลย มีทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ที่นั่น เป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมด้วยกัน และที่นี่เรียนฟรี มีอาหารที่พักเรียบร้อย อยากผลิตคนคุณภาพออกมาจริงๆ นักเรียนที่นี่ทำอาหารเอง ปัดกวาด ตัดหญ้า รดน้ำต้นไม้เอง ทำเองทุกอย่างเลย สร้างคนดี สร้างคนเก่ง ต้องเป็นทั้งสองอย่าง

 

เขตรัฐ: สำหรับผมก็เรื่องการศึกษาเหมือนกัน เราไม่มีเวลาค้นพบตัวเอง พอถึงเวลาก็ต้องเลือกแล้วว่าจะเอาสายวิทย์หรือสายศิลป์ เลยอยากจะให้เวลากับเขา รวมถึงเรื่องภาษาที่ทุกวันนี้การเขียนโปรแกรมก็มีความสำคัญ ใช้สร้างอาชีพได้ แต่ของดีๆ ในการศึกษาของเราก็มีอยู่นะครับ สอนให้เคารพผู้ใหญ่ รักชาติ เราก็ไม่ได้ล้างทั้งหมด

 

 

ที่ทุกวันนี้มีพรรคใหม่หรือมีการปฏิรูปการทำงานทางการเมืองอาจเป็นเพราะปัจจัยต่างๆ แต่ท้ายที่สุดหากต้องทำงานกับพรรคเก่า บางพรรคอาจเป็นพรรคที่เคยถูกต่อต้าน แต่วันนี้พรรคเหล่านั้นก็ยังอยู่ คุณวางจุดยืนของตัวเองอย่างไร จะปิดประตูตาย ไม่ทำงานร่วมกันเลยไหม หรือจะเป็นอย่างไร

เพชรชมพู: พรรคที่จะทำงานร่วมกันได้ต้องมีอุดมการณ์เหมือนกัน เราเริ่มต้นเป็นพรรคใหม่ ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนก็มารวมกัน ขึ้นอยู่กับพรรคทั้งหมด ประชาชนเห็นว่าเราควรร่วมกับใคร มีนโยบายอย่างไรก็ต้องถามประชาชนอีกที

 

เขตรัฐ: ส่วนตัวผม ถ้าเกิดใครก็ตามมีอุดมการณ์เหมือนกัน ผมพร้อมร่วมงาน แต่ผมก็มั่นใจว่ามีกลุ่มที่มีอุดมการณ์ไม่เหมือนกับผม ถ้าพรรคไหนเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง เอาทุนนิยมเป็นที่ตั้ง ถ้าเขาไม่ยอมเปลี่ยน ผมก็ไม่ร่วมงานด้วย

 

3-4 ปีมานี้เห็นความหวังกับอนาคตประเทศวันข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน

เพชรชมพู: การปฏิรูปมันใช้เวลา เราเข้ามาสานต่อ

 

เขตรัฐ: การเปลี่ยนแปลงมันมีแรงเสียดทานสูง และไม่มีใครปฏิรูปได้ด้วยตัวคนเดียว มันถึงต้องมีประชาชนสนับสนุน ผมถึงเชื่อว่าถ้ามีพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองของประชาชนจริงๆ แล้ว และประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจึงจะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

 

 

ผู้นำที่คุณอยากได้ควรจะเป็นคนแบบไหน

เพชรชมพู: ต้องเป็นคนมีวิสัยทัศน์ ความตั้งใจ แต่เรื่องคุณสมบัติอื่น ถ้าจะถามคงยังตอบไม่ได้ ต้องตอบ ณ ตอนหลังเลือกตั้งมากกว่า

 

เขตรัฐ: ผู้นำในอุดมคติกับที่เราต้องเลือก ผมคิดว่ามันก็ต่างกันนะ ถ้าอุดมคติคงไม่ต่างกับน้องเพชร มีความรู้รอบด้าน มีธรรมาธิปไตยในจิตใจ แต่ถ้าถึงเวลาจริงๆ เราก็ต้องมาดูว่าใครใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด

 

ในเดือนของการครบรอบ 86 ปีการลงหลักปักฐานประชาธิปไตย คิดว่าวันนี้ประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไรบ้าง

เพชรชมพู: คนไทยมีการตื่นตัวกันมาก ตั้งแต่ 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ จนถึงปี 2556-2557 เพชรคิดว่าประชาชนมีความพร้อมในระดับหนึ่งที่จะผลักดันประเทศ พรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริงควรเกิดได้แล้ว ก็กำลังผลักดันกันอยู่

 

เขตรัฐ: ผมคิดว่าพัฒนาการของประชาธิปไตยมีมาตลอด แต่ว่าที่ผ่านมาสิ่งที่ขาดหายไปคือภาคประชาชน แต่ก็พัฒนาความคิดมาเรื่อยๆ จนตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ตกผลึก เหมาะสมจริงๆ ที่จะมาสร้างพรรคการเมืองของประชาชน เชื่อว่าหลังจากสถาบันการเมืองที่เป็นของประชาชนเกิดขึ้นแล้ว การพัฒนาประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

 

แต่คนที่เบื่อการเมืองก็มี คุณจะชวนให้เขาอยู่กับความหวัง มองว่าการเมืองมีความหวังอย่างไร เพราะบางคนก็มองว่าเดี๋ยวนักการเมืองก็กลับมาเหมือนเดิม

เพชรชมพู: การเมืองคือการทำให้สิ่งที่เราเชื่อเป็นความจริง เพชรก็อยากทำการเมืองแบบใหม่ แต่เราทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องการดึงให้เขาเข้ามาช่วยด้วย การพัฒนาบ้านเมือง คนกลุ่มเดียวทำไม่ได้ ต้องใช้พลังประชาชนมาผลักดัน

 

เขตรัฐ: ผมเข้าใจที่คนเห็นการเมืองเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ขนาดผมเป็นอาจารย์อายุ 29 ปี ยังมาทำการเมืองได้ แล้วทำไมคุณจะมาทำการเมืองไม่ได้

 

 

ถามเขตรัฐว่าได้รับอะไรมาจากพ่อมากที่สุด

เขตรัฐ: ได้มุมมองด้านบวก ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ถ้าเกิดเราตั้งใจทำมันก็เกิดขึ้นได้ อย่าไปมองแล้วเห็นแต่ปัญหา แต่มองไปที่ทางออก

 

แล้วสำหรับเพชรชมพู คิดว่าอะไรทำให้คุณเชื่อมั่นว่าควรมาทำงานตรงนี้แทนที่จะไปทำอย่างอื่น

เพชรชมพู: เพราะคิดว่าได้รับโอกาส และคิดว่าทุกคนในประเทศก็สมควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน

 

ส่งท้ายในฐานะโฆษก ให้ฝากช่องทางติดต่อ แนะนำที่ทำการพรรค

เรามีที่ทำการที่ซอยรัชดาภิเษก 26 เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่เรากำลังดำเนินการอยู่ระหว่างหาผู้ร่วมจัดตั้งพรรคให้ได้ 500 คนเพื่อไปยื่นต่อ กกต. และมีเว็บไซต์ มีเฟซบุ๊กรวมพลังประชาชาติไทย กับเฟซบุ๊กของเพชรและเขตเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X