วันนี้ (4 เมษายน) มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่าพบข้อสงสัยจากข้อมูลที่เปิดเผยบนเว็บไซต์โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่พังถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนเกิดความสูญเสียใหญ่ว่า รายชื่อผู้เสนอราคารับเหมาก่อสร้างอาคาร สตง. มี 6 บริษัท
ในขณะที่บริษัท ITD-CREC ที่เป็นผู้ชนะประมูลปรากฏอยู่ในรายชื่อขอรับซื้อเอกสารประกวดราคา แต่กลับไม่ปรากฏชื่อในหน้ายื่นเอกสารร่วมประมูล และหน้ารายชื่อบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิค แต่สุดท้ายกลับมีชื่อในประกาศเป็นผู้ชนะการประมูล อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้อาจเกิดจากความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลก็ได้ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจง
นอกจากนี้ จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลเปิดและการต่อต้านคอร์รัปชัน พบว่า ข้อมูลที่เปิดเผยผ่านเว็บไซต์โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ยังมีลักษณะที่ทำให้การสืบค้นและทำความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเป็นไปได้ยาก ขาดความสมบูรณ์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรายชื่อผู้เสนอราคาและผู้ชนะการประมูล ซึ่งบางครั้งไม่ปรากฏในตารางข้อมูลหรือไม่มีการแสดงอย่างครบถ้วน
กรณีอาคาร สตง. ถล่มนี้ สร้างความตื่นตัวให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การขยายผลตรวจสอบในมิติต่างๆ โดยค้นหาข้อมูลในระบบ ACT Ai ซึ่งคือระบบฐานข้อมูลจับโกงจัดซื้อจัดจ้าง (actai.co) ที่ ACT ได้พัฒนาขึ้น เพื่อรวบรวมจัดเก็บข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลระดับสากล
ปัจจุบันมีข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างในระบบจำนวนกว่า 42 ล้านโครงการ ข้อมูลผู้ค้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนกว่า 1.5 ล้านราย ซึ่งที่ผ่านมา ACT Ai ได้ช่วยค้นหาความจริงและจับโกงได้หลายกรณี ตัวอย่างเช่น คดีกำนันนกที่ได้รับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก ตรวจสอบมูลค่าเสาไฟกินรี ตรวจสอบโครงการประเภท คิด ทำ ทิ้ง ทั่วประเทศ เช่น เครื่องกรองน้ำและโซลาร์เซลล์ ลานออกกำลังกายชุมชน เครื่องผลิตน้ำประปา สะท้อนให้เห็นประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงตรวจสอบได้
มานะเปิดเผยต่อว่า แม้มาตรการป้องกันคอร์รัปชันอย่างข้อตกลงคุณธรรมจะช่วยประหยัดงบประมาณให้ชาติไปแล้วกว่า 77,000 ล้านบาท แต่ก็มีอุปสรรคขวางกั้นมากมาย เช่น โครงการที่รัฐเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมกลับมีขนาดและความสำคัญลดน้อยลง จากมูลค่ารวมเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งหน่วยงานเจ้าของโครงการรวบรัดการดำเนินงานเพื่อหลีกเลี่ยงไม่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม หรือขอถอนโครงการออกจากข้อตกลงคุณธรรมด้วยการตีความกฎหมายเฉพาะ
นอกจากนี้ยังพบว่า ในโครงการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการแยกออกไปใช้ข้อตกลงคุณธรรมในเวอร์ชันที่หน่วยงานกำหนดเอง โดยไม่ได้อยู่บนมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติตามพรบ.จัดซื้อฯ เช่น กำหนดให้ผู้สังเกตการณ์เข้าได้เฉพาะขั้นตอนคัดเลือกเท่านั้น หรือ เลือกกำหนดผู้สังเกตการณ์เองซึ่งผิดหลักสากล ถึงเวลาแล้วที่จะปฏิรูปการทำงานของภาครัฐให้เปิดเผยโปร่งใสด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จึงขอเสนอรัฐบาลยกระดับความโปร่งใส 3 มาตรการ ดังนี้
- รัฐและผู้รับเหมาต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการฯ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ชัดเจน ครบถ้วน ตรวจสอบได้ รวดเร็วทันทีที่ร้องขอ จัดทำรูปแบบวิเคราะห์ที่เข้าใจง่าย สะดวกต่อการนำไปใช้ต่อ
- รัฐต้องนำข้อตกลงคุณธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไปใช้กับทุกโครงการตามพรบ.จัดซื้อฯ รวมทั้งโครงการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) และ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยไม่ยกเว้น
- รัฐต้องเพิ่มจำนวนโครงการเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมอย่างน้อยเท่าตัว โดยเน้นคัดโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ประชาชนสนใจหรือมีผลกระทบต่อประชาชนมาก
“ท้ายที่สุดนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมเป็น Active Citizens ติดตามตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อฯ ในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ แม้เราจะไม่มีอำนาจจับกุมใคร แต่เราสามารถปราบคนโกงด้วยการเปิดเผยให้ความจริงปรากฏ เพื่อหยุดซ้ำรอยตึกถล่ม” มานะกล่าว