มูลค่าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นได้อีกราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่ากับการขยายตัวเพิ่มขึ้นของ GDP ที่ 0.7% ต่อปี ในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งทำได้ด้วย Generative AI หากองค์กรเลือกนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบในวงกว้างและให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นหลัก งานวิจัยชิ้นใหม่ของ Accenture ระบุ
การนำ Gen AI มาใช้อย่างรับผิดชอบจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้นถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับการใช้ Gen AI โดยที่ไม่ได้ลงทุนหรือให้ความสำคัญกับบุคลากรและกระบวนการทำงานอย่างเหมาะสม
การวิจัยครั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากการวิเคราะห์โมเดลเศรษฐกิจของ 4 ประเทศใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก 4 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย และญี่ปุ่น พร้อมทั้งผลการสำรวจ Chief Experience Officer (CXO) ในแต่ละประเทศ รวมทั้งสิงคโปร์ ข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่
- 33% ของชั่วโมงทำงานในเอเชียแปซิฟิก จะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติให้ Gen AI ช่วยทำงานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ
- 91% ของคนทำงานในภูมิภาคนี้พร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อทำงานร่วมกับ Gen AI แต่มีเพียง 4% ของผู้บริหารเท่านั้นที่ได้เริ่มฝึกทักษะพนักงานในการทำงานร่วมกับ Gen AI อย่างจริงจัง
- 89% ของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกมีแผนเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยี Gen AI ในปีนี้ แต่เพียง 35% ของธุรกิจให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างกำลังคน
- อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ตลาดทุน เพราะ Gen AI จะส่งผลให้ชั่วโมงทำงานเปลี่ยนไปเกือบสามในสี่ (71%) ส่วนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม จะได้รับผลกระทบสองในสาม (66%) จากการที่ระบบทำงานได้โดยอัตโนมัติหรือให้เครื่องช่วยทำงาน อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรองลงมาคือธนาคาร (64%), ประกัน (62%) และค้าปลีก (49%)
“Gen AI เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องปรับตัวเร็วขึ้นในด้านการใช้ข้อมูลและ AI ซึ่งการจะใช้ประโยชน์จาก AI ให้เต็มศักยภาพนั้น ผู้บริหารองค์กรต้องมองว่า AI เป็นได้มากกว่าเครื่องมือช่วยออกแบบกระบวนการทำงานและบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ และมอง AI ในแง่โอกาสการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ, ผู้คน และสังคมโดยรวม” ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Accenture Thailand กล่าว
Accenture แนะนำให้ธุรกิจลองพิจารณาปรับกลยุทธ์ดังนี้ เพื่อปลดล็อกศักยภาพของ Gen AI อย่างเต็มที่
- มีบทบาทนำและเรียนรู้แนวทางใหม่ๆ: การจะนำองค์กรด้วย Gen AI ที่ได้รับความเชื่อมั่นและน่าไว้ใจ ผู้บริหารจะต้องมีบทบาทผู้นำที่ต่างไปจากเดิม ท้าทายมุมมองเดิมๆ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ และที่สำคัญคือผู้นำจะต้องคลุกคลีกับเทคโนโลยี และทำให้การเรียนรู้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน
- ปรับโฉมวิธีการทำงาน: เมื่อผู้บริหารคิดใหม่ ทำใหม่ กับกระบวนการทำงานทั้งระบบ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า Gen AI จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญที่สุดได้ที่ตรงไหนจึงจะสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ เมื่อทำจุดนี้สำเร็จได้ ผู้บริหารจะสามารถปรับโฟกัสและปรับการทำงาน ให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น สนับสนุนบุคลากรมากขึ้น และนำองค์กรให้สำเร็จได้ตามเป้า
- ปรับทัพกำลังคน: การเปลี่ยนวิธีการทำงานก็จำเป็นต้องมี ‘บุคลากร’ อยู่ในสมการ องค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับการปรับความสามารถกำลังคนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทักษะให้เข้ากับงาน (Skill Mapping) ซึ่งจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความราบรื่น จากหน้าที่งานที่มีบทบาทน้อย ไปสู่หน้าที่ที่มีความสำคัญมากขึ้น และเมื่อปรับเปลี่ยนงานแล้ว ประสิทธิภาพโดยรวมจะเพิ่มขึ้น องค์กรจะมีเวลาและมีคนเก่งมาจัดการงานที่ให้มูลค่าสูงขึ้นได้
- เตรียมความพร้อมให้บุคลากร: เพิ่มพูนทักษะในการใช้เทคโนโลยีทำงาน ให้ความสำคัญกับ Soft Skill และอาจปรับใช้แนวทางการ ‘สอนเพื่อเรียนรู้’ (Teach to Learn) เพื่อให้บุคลากรสามารถสอนหรือเทรนเครื่องมือทางเทคโนโลยีได้ แต่ระหว่างนั้นผู้บริหารก็ต้องรับฟังและให้พนักงานมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจระหว่างกัน
ภาพ: Suriya Phosri / Getty Images
อ้างอิง: Accenture