ในยุคหนึ่งผู้คนมองเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ เป็นแค่เทรนด์หรือคำเท่ๆ ที่พ่วงท้ายกิจกรรม CSR ขององค์กร แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มุมมองต่อคำว่าความยั่งยืนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่ความยั่งยืนถูกจับวางไว้เป็นหนึ่งในแผนงานของภาครัฐหรือองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็น ‘ธุระที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน’ แต่จากนี้ไปความยั่งยืนกำลังจะเป็น ‘ธุระสำคัญเร่งด่วน’ ของทุกคนและทุกภาคส่วน
ใช่…มันเป็นเรื่องของคุณ เป็นเรื่องของเราทุกคนและใกล้ตัวเข้ามาทุกที
ถ้านึกไม่ออกว่าใกล้ขนาดไหน ให้เริ่มนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณตอนนี้ก็ได้ อย่างเช่น ฝุ่น PM2.5 ที่เปิดหน้าต่างบ้านก็ลอยอยู่เต็มอากาศ สภาพอากาศแปรปรวน เดี๋ยวฝนเดี๋ยวร้อน ถนนหน้าบ้านที่คิดว่าถมสูงอย่างดี มาปีนี้น้ำท่วมถึงเข่า
WHO ประกาศเตือนว่า ตอนนี้คุณอาจเป็น 1 ใน 92% ของประชากรทั่วโลก ที่กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณมลภาวะเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยของสุขภาพ ถ้าไม่เชื่อ เราท้าให้คุณเดินออกไปหน้าบ้าน แล้วสูดอากาศให้เต็มปอด เริ่มไม่แน่ใจแล้วใช่ไหมล่ะ
ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยข้อมูลที่อาจทำให้คุณเริ่มตระหนักและอยากเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องความยั่งยืนใหม่คือ มีความเป็นไปได้สูงมากที่ภายในปี 2593 หรืออีกประมาณ 30 ปีต่อจากนี้ ผู้คนกว่า 250 ล้านคนทั่วโลกต้องไร้ที่อยู่อาศัย เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
และรู้หรือไม่ว่า สารพัดผลกระทบที่พุ่งตรงเข้ามาล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการกระทำของเราทุกคน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รถยนต์บนท้องถนน ขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ หรือแม้แต่อาหารเหลือทิ้ง พฤติกรรมเล็กน้อยแต่ทำลายโลกได้นี่แหละเป็นเรื่องที่ ‘เราทุกคน’ ต้องเริ่มตระหนัก และกระตุกให้เราต้องลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรสักอย่างด้วยแล้ว
สำหรับภาคธุรกิจ คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ Sustainability จะหลอมรวมลงไปเป็นหนึ่งในนโยบายของทุกธุรกิจ โดยมีแนวทางเดียวกันคือ ไม่ใช่แค่เรื่องความยั่งยืนของผลกำไรเท่านั้น แต่จะต้องสร้างธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสีย เพราะตอนนี้ธุรกิจต่างๆ ทั่วเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และก้าวไปสู่ความคาดหวังที่สูงขึ้นด้านความยั่งยืน
เกิดเป็นแรงกระตุ้นให้ธุรกิจต้องหันมาคิดใหม่ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ผู้นำทางธุรกิจต้องมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการกับวาระความยั่งยืน เพื่อปกป้องธุรกิจในอนาคต การดำเนินการของฝ่ายต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาคนโยบาย ผู้กำกับดูแล ผู้บริโภค และสถาบันการเงิน ซึ่งหากโมเมนตัมนี้มีแรงส่งที่มากพอ เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและเกิดความยั่งยืนขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก
สำหรับพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของผู้บริโภคหน่วยเล็ก ธุรกิจรายย่อย หรือผู้ประกอบการในชุมชน คงต้องเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบแนวคิดการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบต่อโลก
เริ่มง่ายๆ ด้วยการมองเรื่องความยั่งยืนในมุมใหม่ มองให้เป็น ‘ธุระ’ ของเรา ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อนั้นคุณจะมองเห็นวิธีการปรับเปลี่ยนเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเรื่องความยั่งยืนได้
แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนเพื่อสร้างโลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนและทุกภาคส่วน เป็นโอกาสอันดีที่ปีนี้ภาคเอกชนไทยได้รับเกียรติในการเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC 2022 (APEC Business Advisory Council 2022: ABAC 2022) ตัวแทนของภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านธุรกิจแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ภายใต้แนวคิด ‘Embrace Engage Enable’ ซึ่งการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC ครั้งที่ 4/2022 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงบทบาทของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC ในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ ‘APEC CEO Summit 2022’ ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดย ABAC มีกรอบกลยุทธ์ 5 ประการที่จะนำเสนอแก่ที่ประชุม ได้แก่ Regional Economic Integration การบูรณาการเศรษฐกิจระดับภูมิภาค, Digital การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า, MSME and Inclusiveness การเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการระดับ MSME เพื่อทำให้ธุรกิจในทุกระดับมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, Sustainability การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสีเขียว และระบบอาหารที่ยั่งยืน รวมทั้ง Finance and Economics การส่งเสริมด้านการเงินเพื่อเร่งการฟื้นตัว และการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยสำหรับการเงินดิจิทัล
นอกจากนี้ ABAC ยังมุ่งผลักดันประเด็นด้านความยั่งยืน โดยหยิบยก BCG Model หรือการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) เพื่อเตรียมความพร้อมปรับตัวต่อความท้าทายของโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และอาหาร ที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกัน และเพื่อปรับให้ระบบเศรษฐกิจมีความสมดุลและความยั่งยืนมากขึ้น
BCG ถือเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ต่อยอดมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลในการพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปี GDP ของประเทศจะเป็น 4.3 ล้านล้านบาท รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ขององค์การสหประชาชาติด้วย
ภายใต้ข้อเสนอกรอบ Sustainability ที่ ABAC ร่างขึ้นเพื่อขอความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการร่วมกันกำหนดอนาคต โดยมีความมุ่งหวังใน 3 ประเด็นหลัก คือ
- ต้องการสร้างเขตเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยอาจต้องอิงเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับของธุรกิจที่อาจส่งผลต่อการสร้างเขตเศรษฐกิจ (Influencing Policy)
- ความมุ่งหวังต่อมาคือ สนันสนุนการพัฒนาด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยการนำหลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจ ที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้
- สุดท้ายคือ การส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องคิดและการกระทำแบบองค์รวม มองรอบด้านทั้งระยะไกลและระยะใกล้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค
ซึ่งบนเวที APEC CEO Summit 2022 หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจคือ ‘การเผชิญหน้าความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก’ ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤตการณ์ในยูเครน ทำให้เห็นชัดว่าห่วงโซ่อุปทานอาหารเกิดความชะงักงันได้ง่ายดายเพียงใด
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) ชี้ให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก แต่ผลกระทบจากสงครามในยูเครนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการและประเทศไทยโดยรวมต้องกลับมาทบทวนว่า เราจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF)
ในขณะที่ภาคเกษตรและปศุสัตว์มักถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำถามก็คือ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผลิตอาหารป้อนผู้บริโภคได้เพียงกลุ่มเล็กๆ ในขณะนี้ เช่น การผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ (Cell-Based) สามารถยกระดับสู่การผลิต เพื่อป้อนประชากรทั้งโลกได้หรือไม่
จอห์น คัปปุชชิททิ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Evolved Meats บอกว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อเป็นประเด็นปัญหาของประเทศที่ร่ำรวยอยู่ในตอนนี้ แต่เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะมาถึงในเวลา 10 ปีนับจากนี้ และเชื่อว่าการผลิตอาหารแบบเจาะจงกลุ่มผู้บริโภคจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าระบบการผลิตแบบดั้งเดิมที่ไม่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระทบ แต่ก็ใช่ว่าเทคโนโลยีทันสมัยเท่านั้นจะเป็นคำตอบ ผู้ประกอบการจะต้องผสมผสานหลายๆ วิธีเข้าด้วยกัน
ด้าน พอล กิลดิง อดีตผู้อำนวยการ Greenpeace ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งพวกเขาจะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในอนาคต
จนถึงบรรทัดนี้ยังจะกล่าวว่า เรื่องของความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของ ‘เราทุกคน’ ได้อย่างไร
เราทุกคนคือผู้กำหนดอนาคตของตัวเราเองและโลกใบนี้ อย่ารอให้โลกเปลี่ยน เพราะเมื่อถึงเวลานั้นอาจสายเกินไป โอกาสเป็นของทุกคนที่เริ่มคิดและลงมือทำ เพื่อสร้างวิถีความเป็นอยู่ใหม่บนแนวคิดที่ยั่งยืน เพื่อสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ปราศจาคภัยพิบัติสู่คนรุ่นหลัง
ลงมือทำได้เลยตอนนี้ มีวิธีการมากมายที่คุณจะแสดงความรับผิดชอบต่อโลกและสังคมได้ เริ่มจากแยกขยะ เลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการผลิต ไม่สนับสนุนองค์กรที่ทำร้ายโลก หรือถ้าคุณคือเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการรายย่อย สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านสินค้า บริการ และนวัตกรรม ก็ยังได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องเงินทอง แต่เป็น Mindset หรือจิตสำนึกที่คุณมีให้กับโลกใบนี้