×

‘AAV’ เพิ่มทุนหวังระดมเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เข้าถือหุ้นไทยแอร์เอเชีย 100% คาดแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปีหน้า

20.10.2021
  • LOADING...
AAV

บอร์ด บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (กลุ่มบริษัท) (TAA) และให้เสนอแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยบริษัทเพิ่มทุน 8,000 ล้านหุ้น คาดว่าจะได้รับเงินระดมทุน 14,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ ขณะที่ราคาหุ้นร่วงรับข่าวทันที 4.6%

 

AAV แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของ AAV และ TAA ใหม่ รวมถึงการเพิ่มทุนเพิ่มเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับบริษัท โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

 

  1. ประกาศเพิ่มทุน 8,000 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับ 

 

1.1 บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 5,029 ล้านหุ้น ประกอบด้วย AirAsia Aviation (AAA) เป็นบริษัทย่อยของ AirAsia Group Berhad (AAGB) จำนวน 4,457 ล้านหุ้น ราคา 1.75 บาทต่อหุ้น และนักลงทุนรายใหญ่ 6 ราย จำนวน 571 ล้านหุ้น ราคา 1.75 บาทต่อหุ้น ประกอบด้วย 

 

  • พิธาน องค์โฆษิต รองประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) จำนวน 362,049,116 หุ้น คิดเป็น 3.7% 

 

  • ปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ กรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) จำนวน 150,947,980 หุ้น คิดเป็น 1.5% 

 

  • บัณฑิต พิทักษ์สิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอีซูซุ สงวนไทย, ประธานที่ปรึกษาบริษัท สยามคาร์เรนท์ จำกัด รวมถึงดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรรมการตรวจสอบ และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) จำนวน 14,607,869 หุ้น คิดเป็น 0.1% 

 

  • ปิยะพร วิชิตพันธุ์ ผู้บริหารของบริษัทในเครือเซ็นทรัล จำนวน 14,607,869 หุ้น คิดเป็น 0.1% 

 

  • สุวพล สุวรุจิพร กรรมการและผู้บริหารของบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นใน บมจ.เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น (MSC) จำนวน 14,607,869 หุ้น คิดเป็น 0.1% 

 

  • วรพจน์ อำนวยพล ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.สกาย ไอซีที (SKY) จำนวน 14,607,869 หุ้น คิดเป็น 0.1% 

 

1.2 ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 1,714 ล้านหุ้น อัตราส่วนการจัดสรรหุ้น 5.7625 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ราคา 1.75 บาทต่อหุ้น

 

1.3 รองรับแปลงสภาพของหุ้นกู้แปลงสภาพที่จัดสรรให้กับ BBL และ North Haven Thai Private Equity, L.P. โดยหุ้นกู้แปลงสภาพมีอายุ 2 ปี ราคาแปลงสภาพ 1.75 บาทต่อหุ้น จำนวน 1,257 ล้านหุ้น 

 

  1. วัตถุประสงค์การระดมทุน โดยในกรณีที่สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้ทั้งหมดตามแผนข้างต้น AAV จะได้เงินระดมทุนรวมทั้งสิ้น 14,000 หมื่นล้านบาท และมีแผนใช้เงิน ดังนี้

 

  • ชำระหนี้ที่กู้ยืมมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TAA ที่ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน TAA เพิ่มขึ้นจากเดิม 55% เป็น 69.2% จำนวน 3,900 ล้านบาท

 

  • ใช้ซื้อหุ้น TAA ที่เหลืออีกทั้งหมด 30.8% จำนวน 3,900 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/65 

 

  • ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

 

บริษัทคาดว่าแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทและไทยแอร์เอเชียจะแล้วเสร็จอย่างช้าไม่เกินไตรมาส 1/65 และคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากสถาบันการเงินและนักลงทุนต่างๆ เป็นอย่างดี โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่าบริษัทมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นระยะเวลายาวนาน และเพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้นในไทยแอร์เอเชีย เพื่อให้บริษัทสามารถเป็นเจ้าของหุ้นทั้งหมด และนักลงทุนซึ่งจะเข้ามาลงทุนจองซื้อหุ้นใหม่และหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัท (PP) เป็นบุคคลที่มีศักยภาพทางด้านเงินทุน มีฐานะทางการเงินมั่นคง และมีความพร้อมในการชำระเงินเพิ่มทุน จึงเป็นแนวทางการระดมทุนที่มีความเหมาะสม

 

การเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้หนี้สินของบริษัทและไทยแอร์เอเชียลดลง 3,900 ล้านบาท จากการที่ไทยแอร์เอเชียจะชำระคืนหนี้ทางการค้าต่างๆ ให้กับกลุ่มบริษัทของ AAGB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ AAA อีกทั้งการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 10,820 ล้านบาท)

 

รวมถึงบริษัทคาดว่าจะนำเงินส่วนที่เหลือจากภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นไปเพิ่มทุนในไทยแอร์เอเชียเป็นมูลค่าประมาณ 6,200 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของไทยแอร์เอเชียเพิ่มขึ้น (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ไทยแอร์เอเชียมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ (ขาดทุนเกินทุน) เท่ากับ 9,722 ล้านบาท)

 

ทั้งนี้ AAV จะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 26 พฤศจิกายน เพื่อขออนุมัติแผนดังกล่าว

 

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น (20 ตุลาคม) หุ้น AAV ปรับตัวลดลงทันทีที่เปิดการซื้อขาย โดยราคาปิดการซื้อขายภาคเช้าที่ 2.86 บาทต่อหุ้น ลดลง 4.67%

 

นักวิเคราะห์ บล.เคทีบีเอสที (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกในระยะยาวต่อแผนการปรับโครงการกิจการ เนื่องจากมองว่า AAV จะมีเงินทุนที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยหากการเพิ่มทุนได้ตามแผนจำนวน 14,000 ล้านบาท จะทำให้ AAV เข้าไปถือหุ้น TAA 100% และทำให้มีเงินสดเหลือราว 6,200 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

 

โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้จำนวนหุ้น AAV เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 4,850 ล้านหุ้น เป็น 12,850 ล้านหุ้น คิดเป็น Price Dilution ที่ 26% และ EPS Dilution ในปี 2565 ที่ 62% อย่างไรก็ตาม หากรวมผลการเข้าถือหุ้นใน TAA เพิ่มจาก 55% เป็น 100% ซึ่งจะทำให้มีการรับรู้ผลการดำเนินงานจาก TAA มากขึ้น และจะทำให้มีผลกระทบต่อ EPS Dilution ราว 31% ซึ่งมองว่าคุ้มค่ากับที่การทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง และคาดว่าจะกลับมามีกำไรแข็งแกร่งหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นราคาหุ้นอาจถูกกดดันจาก Dilution Effect และผลการดำเนินงานไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ท่ีจะขาดทุนสูง รวมถึงผลการดำเนินงานยังมี Downside จากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ประเมินผลการดำเนินงานปี 2564 ขาดทุน 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ขาดทุน 4,800 ล้านบาท ส่วนปี 2565 คาดว่าจะขาดทุน 2,700 ล้านบาท ซึ่งหากมีการเข้าหุ้น TAA เพิ่มขึ้นเป็น 100% จะมีผลทำให้ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น ส่วน EPS จะติดลบน้อยลง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising