ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในอินเดียที่มีความรุนแรงในขณะนี้ ก็ปรากฏพื้นที่ข่าวเกี่ยวกับเชื้อก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ‘B.1.617’ ที่พบจากการศึกษาตัวอย่างที่เก็บได้จากคนอินเดีย และเคยถูกขนานนามว่าเป็นชนิด ‘กลายพันธุ์คู่’ คำถามคือเรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเชื้อชนิดนี้ ทั้งเรื่องการเจ็บป่วย การแพร่เชื้อ และการป้องกันด้วยวัคซีน
นี่คือ 4 ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับเชื้อชนิดใหม่ชนิดนี้
1. เราพบเชื้อนี้ได้อย่างไร
แม้ว่าจะเพิ่งกลายเป็นข่าวได้สักระยะ แต่ ชารอน พีค็อก ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขและจุลชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และผู้อำนวยการของ COVID-19 Genomics UK Consortium ซึ่งเป็นกลุ่มหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักรที่ตั้งขึ้นเพื่อรวบรวม จัดลำดับ และวิเคราะห์จีโนมของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ระบุว่า เชื้อไวรัสชนิดใหม่ B.1.617 นี้ตรวจพบมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 แล้ว และมีการตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันของเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
หนังสือพิมพ์ The Guardian ในสหราชอาณาจักรรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ในอินเดียหันมาสนใจเชื้อชนิดนี้หลังพบการระบาดมากขึ้นในรัฐมหาราษฏระ ระหว่างเดือนธันวาคม 2020 ถึงมีนาคม 2021 และในวันที่ 24 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุขอินเดียแถลงว่า 15-20% ของเชื้อโควิด-19 ที่ถูกเก็บตัวอย่างในรัฐดังกล่าวพบการกลายพันธุ์สองแบบ ได้แก่ E484Q และ L452R ซึ่งก็คือเชื้อชนิด B.1.617 นั่นเอง และ The Guardian ระบุว่า ต่อมาตัวเลข 15-20% นี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60% ด้วย
จนถึงขณะนี้ (24 เมษายน) มีรายงานการพบเชื้อชนิดนี้แล้วใน 21 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, อิสราเอล และสิงคโปร์ และมีรายงานด้วยว่าสหราชอาณาจักรจำกัดการเดินทางของผู้เดินทางจากอินเดียแล้ว
2. ลักษณะสำคัญที่พบในไวรัสชนิดนี้
อย่างที่กล่าวไปว่ามีการกลายพันธุ์แบบสำคัญในไวรัสชนิดนี้ อาทิ E484Q และ L452R ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่โปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) ของไวรัส ทั้งนี้ การกลายพันธุ์แบบ E484Q นั้นมีความคล้ายกับการกลายพันธุ์แบบ E484K ที่ช่วยให้ไวรัสสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้สามารถต้านทานวัคซีนได้บางส่วนเป็นอย่างน้อย ส่วนการกลายพันธุ์แบบ L425R ก็อาจจะทำให้ไวรัสหลบหลีกแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีนได้ ซึ่งการกลายพันธุ์แบบนี้พบในไวรัสหลายชนิด รวมถึงชนิดที่พบในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา
แต่อย่างไรก็ดี เขาระบุว่าจริงๆ แล้วไวรัสชนิดนี้มีการกลายพันธุ์ 13 ตำแหน่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน ดังนั้นในความเห็นของเขา การเรียกว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ว่าไวรัส ‘กลายพันธุ์คู่’ หรือ ‘Double Mutant’ ที่เรียกกันมาในช่วงแรกจึงเป็นการเรียกที่ ‘ไม่แม่นยำ ไม่มีความหมายเป็นการจำเพาะ และควรหลีกเลี่ยง’ เขายังระบุด้วยว่าเราไม่น่าจะสามารถบอกได้ชัดว่าไวรัสชนิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่ใด ดังนั้นเขาเห็นว่าควรเลี่ยงการเรียกไวรัสชนิดนี้ว่า ‘ไวรัสสายพันธุ์อินเดีย’ เช่นกัน
3. ไวรัสชนิดนี้มีความอันตรายอย่างไร
อาจยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดในตอนนี้ เพราะไวรัสชนิดนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยสาธารณสุขของอังกฤษ (PHE) ที่ประกาศว่าไวรัสชนิดนี้เป็น ‘ชนิดที่อยู่ภายใต้การสอบสวน’ ซึ่งเป็นการระบุถึงชนิดของไวรัสที่น่ากังวลแต่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจดีมากนัก การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในขณะนี้เป็นไปเพื่อตอบคำถามสำคัญคือ ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดนี้อันตรายมากกว่าชนิดอื่นหรือไม่ เช่น มีการแพร่กระจายที่เร็วกว่า ก่อให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรงกว่า หรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการเคยติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนมาก่อนได้ หากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาและการศึกษาอื่นๆ ยืนยันว่าไวรัสชนิดนี้เป็นปัญหามากกว่านี้ ไวรัสชนิดนี้ก็อาจจะถูก PHE ประกาศให้เป็น ‘ชนิดที่น่ากังวล’ ได้
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็มีความเห็นที่หลากหลาย เช่น ดร.เจฟฟรีย์ บาร์เรตต์ ผู้อำนวยการความริเริ่ม COVID-19 Genomics Initiative ที่สถาบัน Wellcome Sanger ในอังกฤษระบุว่า แม้ว่าไวรัสชนิดนี้อาจมีการกลายพันธุ์ที่น่ากังวลอยู่สองแบบ แต่ก็อาจจะไม่ร้ายแรงเท่าไวรัสชนิดที่พบครั้งแรกในเมืองเคนท์ของอังกฤษ ในแอฟริกาใต้ หรือในบราซิล และจากการแพร่ระบาดในอินเดียที่อยู่ในระดับต่ำมาหลายเดือนแล้วค่อยไปปรากฏในสถานที่อื่นๆ โดยที่ยังระบาดไม่รวดเร็วนักก็ทำให้คาดได้ว่าไวรัสชนิดนี้อาจไม่สามารถส่งผ่านได้ดีเท่ากับไวรัสชนิดพบครั้งแรกในเมืองเคนท์ของอังกฤษด้วย
ส่วน แดนนี เอาท์แมนน์ ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันที่ Imperial College London ระบุว่าจากทุกสิ่งที่เขาเห็นจากไวรัสชนิดนี้ มีแนวโน้มว่าไวรัสชนิดนี้จะได้รับการยกระดับเป็น ‘ชนิดที่น่ากังวล’ ในเร็ววันนี้
4. ไวรัสชนิดนี้เกี่ยวข้องกับการระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 ในอินเดียหรือไม่
บาร์เรตต์ระบุความเห็นว่า ยังไม่ทราบว่าไวรัสชนิดนี้มีส่วนต่อการทำให้เกิดการระบาดระลอกล่าสุดมากน้อยเพียงใด หรืออาจจะเป็นเพียงเหตุบังเอิญที่การระบาดระลอกนี้และการระบาดของไวรัสชนิดนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองเรื่องนี้จะมีความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้สาเหตุที่เรายังมีข้อมูลไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ เป็นเพราะการมีตัวอย่างของไวรัสที่น้อยหากเทียบกับไวรัสชนิดอื่นเหมือนอย่างไวรัสชนิดที่พบในครั้งแรกในเมืองเคนท์ของอังกฤษ
ภาพ: Sanjeev Verma / Hindustan Times via Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.sciencemediacentre.org/expert-reaction-to-cases-of-variant-b-1-617-the-indian-variant-being-investigated-in-the-uk/
- https://www.theguardian.com/world/2021/apr/19/what-do-we-know-about-the-indian-coronavirus-variant
- https://www.theguardian.com/world/live/2021/apr/22/coronavirus-live-news-india-hits-global-record-of-314835-new-cases-us-passes-200m-vaccines
- https://www.bbc.com/news/world-asia-india-56844925
- https://www.bbc.com/news/world-asia-india-56517495