ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย เปิดเผยผลการวิจัยพบว่า ‘หนอนนกยักษ์ (Zophobas morio)’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Superworm ซึ่งเป็นระยะตัวอ่อนของด้วง Zophobas สามารถเอาชีวิตรอดได้ด้วยการกิน ‘โพลีสไตรีน (Polystyrene)’ หรือพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก ที่ใช้ในการผลิตวัสดุและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ
จากการวิจัยเชื่อว่า หนอนนกยักษ์นั้นสามารถย่อยพลาสติกผ่านเอนไซม์ในลำไส้ได้ ซึ่งหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า นี่อาจเป็นการค้นพบความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการรีไซเคิล
“หนอนนกยักษ์เป็นเหมือนโรงงานรีไซเคิลขนาดเล็ก มันทำลายโพลีสไตรีนด้วยปากของพวกมัน แล้วป้อนเข้าไปในแบคทีเรียในลำไส้” ดร. คริส ริงเค ระบุ
โดยในการวิจัยดังกล่าว ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ให้อาหารที่แตกต่างกันแก่หนอนนกยักษ์ 3 กลุ่ม ในช่วง 3 สัปดาห์ ซึ่งกลุ่มที่กินโพลีสไตรีนนั้นมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่า เอนไซม์หลายชนิดในลำไส้ของหนอนนกยักษ์นั้นมีความสามารถในการย่อยสลายทั้งโพลีสไตรีน และสไตรีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตวัสดุจากพลาสติกต่างๆ เช่น ฉนวนและชิ้นส่วนรถยนต์
อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวอาจไม่สามารถนำไปสู่การสร้างฟาร์มเลี้ยงหนอนนกยักษ์ขนาดใหญ่เพื่อทำหน้าที่เป็นโรงงานรีไซเคิลได้ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าจะสามารถระบุได้ว่าเอนไซม์ชนิดไหนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อที่จะสามารถผลิตซ้ำเอนไซม์ชนิดดังกล่าวได้มากพอที่จะนำไปใช้ในการรีไซเคิล
ข้อมูลในงานวิจัยฉบับนี้ ซึ่งถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Microbial Genomics ระบุว่า ‘พลาสติกจะถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยด้วยเครื่องจักร ก่อนที่จะนำไปจัดการด้วยเอ็นไซม์’
“ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายจากปฏิกิริยานี้สามารถนำไปใช้ต่อโดยจุลินทรีย์อื่นๆ เพื่อสร้างสารประกอบที่มีมูลค่าสูง เช่น พลาสติกชีวภาพ” ดร. ริงเคกล่าว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าหนอนตัวอ่อนของด้วงบางชนิดสามารถที่จะกินโพลีสไตรีนได้เช่นกัน ขณะที่ ศ.คอลิน แจ็คสัน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า งานวิจัยฉบับนี้ได้ก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ด้วยการทำความเข้าใจว่าแบคทีเรียในลำไส้ของหนอนนกยักษ์นั้นสามารถย่อยสลายพลาสติกในระดับโมเลกุลได้อย่างไร
“นั่นสำคัญสำหรับการแปลและการใช้แนวทางประเภทนี้ในการรีไซเคิล”
ทั้งนี้ในระดับนานาชาติ มีนักวิจัยคนอื่นๆ ประสบความสำเร็จในการใช้แบคทีเรียและเชื้อราในการย่อยสลายพลาสติกได้เช่นกัน แต่คำถามที่สำคัญคือ เทคนิคดังกล่าวจะมีศักยภาพเพียงพอจะดำเนินการในเชิงพาณิชย์หรือไม่
ภาพ: Photo by University of Queensland
อ้างอิง: