คณะนักดาราศาสตร์จากนานาประเทศค้นพบหลักฐานของสิ่งที่อาจเป็นดาวแคระน้ำตาลอายุน้อย ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 200,000 ปีแสง และอาจเป็นวัตถุที่มีมวลต่ำกว่าดาวฤกษ์ดวงแรกที่ถูกพบอยู่นอกกาแล็กซีทางช้างเผือก
ดาวแคระน้ำตาล หรือ Brown Dwarf เป็นดาวที่มีสถานะคลุมเครือระหว่างการเป็นดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ เนื่องจากมีขนาดและมวลใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีหลายเท่า แต่มีมวลไม่มากพอจะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่ใจกลางดาว โดยส่วนมากแล้วดาวแคระน้ำตาลจะลอยล่องอยู่อย่างอิสระ ไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใดดวงหนึ่ง
ในปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวแคระน้ำตาลได้ประมาณ 3,000 ดวงที่ล้วนอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา แต่จากการศึกษาข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ นักดาราศาสตร์พบหลักฐานของสิ่งที่อาจเป็นดาวแคระน้ำตาลอยู่ในกระจุกดาว NGC 602 บริเวณชายขอบของเมฆแมกเจลแลนเล็ก กาแล็กซีแคระที่อยู่ห่างโลกไปประมาณ 200,000 ปีแสง
Peter Zeidler หัวหน้าคณะวิจัย ระบุว่า “การตรวจสอบวัตถุดังกล่าวจากระยะห่างไกลเช่นนี้ต้องอาศัยความไวต่อแสงและความละเอียดสูงของอุปกรณ์ที่ตรวจจับในช่วงคลื่นที่ถูกต้อง ซึ่งไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน และยังคงเป็นไปไม่ได้สำหรับการสำรวจจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นดินในอนาคตอันใกล้”
การค้นพบดังกล่าวมีรากฐานมาจากข้อมูลการสำรวจของกล้องฮับเบิลที่พบว่ากระจุกดาว NGC 602 เต็มไปด้วยดาวฤกษ์มวลน้อย แต่ต้องอาศัยอุปกรณ์ NIRCam บนกล้องเจมส์ เว็บบ์ ที่สำรวจจักรวาลในช่วงอินฟราเรดใกล้ ซึ่งอาจเผยให้เห็นการก่อกำเนิดของวัตถุมวลต่ำกว่าดาวฤกษ์ดวงแรกที่อยู่นอกกาแล็กซีทางช้างเผือก
กระจุกดาวแห่งนี้ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ เนื่องจากมีธาตุที่หนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียมอยู่ในปริมาณน้อย ทำให้มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับเอกภพในยุคแรกเริ่ม และเป็นแหล่งศึกษาการก่อตัวและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ในสถานการณ์ที่แตกต่างจากในกาแล็กซีทางช้างเผือก
Elena Sabbi หนึ่งในคณะวิจัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การศึกษาดาวแคระน้ำตาลอายุน้อยที่ถูกพบล่าสุดในกระจุกดาว NGC 602 ช่วยให้พวกเราเข้าใกล้การทำความเข้าใจว่าดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นอย่างไร ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายเมื่อยุคแรกเริ่มของเอกภพ”
สำหรับภาพถ่ายกระจุกดาว NGC 602 ได้เผยแพร่ครั้งแรกโดยองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นภาพที่มีการรวมข้อมูลจากช่วงอินฟราเรดใกล้ผ่านอุปกรณ์ NIRCam และช่วงอินฟราเรดกลางผ่านอุปกรณ์ MIRI ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์
ภาพ: Webb, NASA & CSA, P. Zeidler, E. Sabbi, A. Nota, M. Zamani / ESA
อ้างอิง: