×

‘เครดิตบูโร’ จับตาหนี้เสียไตรมาส 3 ไต่ระดับสู่ 1.2 ล้านล้านบาท หลังหนี้ SM เดือน ส.ค. อยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้เรื้อรังเข้าโครงการแก้หนี้เพียง 5,300 ราย จากลูกหนี้เข้าข่าย 5 แสนราย

21.10.2024
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โพสต์ข้อมูลเรื่องสินเชื่อรายย่อยและหนี้เสียในระบบ (ที่เครดิตบูโรจัดเก็บ) ของไทย ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า 

 

สรุปตัวเลขสิ้นสุดเดือน​ 8 (สิงหาคม​ 2567)​ ซึ่งขอเน้นว่ายังไม่เห็นหรือรวมผลกระทบจากการที่เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่​ โดยตัวเลขที่น่าสนใจจะเป็นตัวเลขสิ้นสุดไตรมาส​ 3 (กันยายน​ 2567)​ ซึ่งจะออกมาในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิ​กายน​ 2567

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

จากภาพที่แสดง​มีความหมายดังนี้

 

  1. จากฐานข้อมูล​สถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโร ​ครอบคลุมหนี้สินรายย่อยของประชาชนที่ไม่รวมลูกหนี้นิติบุคคลนั้น ซึ่งรวบรวมจากสถาบันการเงิน​สมาชิกเครดิตบูโร​กว่า​ 158 แห่ง พบว่า ​มียอดสินเชื่อ​ 13.63 ล้านล้านบาท​ มีการเติบโต​ ​0.8%YoY, 0.0%MoM คือแทบไม่มีการเติบโต​

 

  1. หนี้เสีย หรือ​ NPL มาหยุดอยู่ที่​ 1.18 ล้านล้านบาท เคลื่อนที่ช้าๆ ไปสู่จุด​ 1.2 ล้านล้านบาท ตามที่คาดการณ์​ไว้เมื่อต้นปี​ 2567​ คิดเป็นอัตราส่วน​ 8.7% ของยอดสินเชื่อรวม

 

แน่นอนว่าหนี้เสียก้อนนี้ที่ค้างเกิน​ 90 วัน​ กำลังรอมาตรการแก้ไขแบบแรงๆ​ มีแรงจูงใจสูงทั้งเจ้าหนี้​ ลูกหนี้​ ให้เข้ามาตกลงกัน​ ภายใต้กติกาที่ผู้กำกับดูแลน่าจะได้ขยับเข้ามากระชับพื้นที่​ 

 

 

  1. หนี้กำลังจะเสีย หรือหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือ​ SM ในเดือนสิงหาคม​ 2567 ในระบบของเครดิตบูโร ​มาหยุดอยู่ที่​ 6.4 แสนล้านบาท คิดเป็น​ 4.7% นิ่งๆ ซึ่งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ​ Preemptive​ Debt​ Restructure (DR) ที่เริ่มให้บันทึกข้อมูล​ในระบบเครดิตบูโรตั้งแต่เดือนเมษายน​ 2567 ตอนนี้มียอดสะสมจนถึงเดือนสิงหาคม​ 2567​ คิดเป็น​จำนวน​ 1 ล้านบัญชีเศษ​ 

 

“ผมก็ไม่รู้ว่าทำกันมากน้อย เพราะไม่มีตัวเลขเปรียบเทียบก่อนหน้าเดือนเมษายน​ 2567​ เพราะไม่ได้รับอนุญาต​ให้เก็บข้อมูล​นี้ จำนวนเงินที่ทำ​ DR​ สะสมจนถึงตอนนี้​ 5.4 แสนล้านบาท”

 

มาตรการนี้เป็นเหมือนฝายทดน้ำไม่ให้​ SM ไหลไปเป็น​ NPLs เพราะตามเกณฑ์​การให้สินเชื่อที่รับผิดชอบ​ เจ้าหนี้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้ ถ้าเห็นว่าลูกหนี้จะผ่อนตามเงื่อนไขเดิมไม่ไหว​ กล่าวคือปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะค้างเกิน​ 90 วัน​ ที่กำลังมีจำนวนทวีเพิ่มคือ​ลูกหนี้เริ่มร้องมาที่เครดิตบูโร​ว่า​ พอไปทำ​ DR มันกลายเป็นเหตุที่ทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้​ ถูกปฏิเสธ​ หรือลูกหนี้บางรายบอกว่าเขายอมเข้าโครงการ​ DR เพราะนึกว่าไม่ใช่การปรับโครงสร้างหนี้ที่จะใส่รหัสไว้ในรายงานเครดิตบูโร​ บางรายก็บอกว่าข้อเสนอเจ้าหนี้ที่ให้ทำ​ DR ไม่ได้พูดชัดเจนว่าถ้าทำแล้วอาจได้รับผลกระทบอะไรบ้าง​ กล่าวสรุปคือบอกว่า​ ถ้ารู้ว่าจะโดนปฏิเส​ธสินเชื่อก็อาจไม่เข้าโครงการ​ DR 

 

“ท่านที่ออกกติกาครับ​ โปรดลงไปพูดจาให้เกิดการปฏิบัติอย่างที่ท่านมุ่งหมายด้วยนะครับ​ เป้าตัวเลขที่อยากได้​จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ กับปริมาณ​คำร้องที่มันเริ่มทวีมากขึ้น​ ท่านต้องรับด้วยนะครับ ถ้าเอาใจลูกหนี้มากก็เละ​ ถ้าไม่ชัดกับเจ้าหนี้มันก็ละล้าละลัง​กันไปทั้งขบวน สถานการณ์​แบบ ‘กลับก็ไม่ได้​ ไปก็ไม่ถึง’ ถ้ายังเป็นแบบนี้​ ขยันทำอยู่ผิดที่ 10 ปีก็ไม่ถึงเป้าหมายครับ”

 

 

 

  1. ภาพต่อมาคือข้อมูล​บางส่วนที่ท่านเลขาฯ​ กนง. นำออกมาแถลงชี้แจงผลการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายของ​ กนง. กล่าวคือท่านผู้อ่านจะเห็นว่าการเติบโตของสินเชื่อทุกประเภทที่แสดงนั้นเติบโตในอัตราลดลง​ โดยเฉพาะเส้นสีฟ้าคือสินเชื่อ​ SME ติดลบ​ 3.3% ขณะที่​ NPLs​ ของสถาบันการเงิน (โปรดดูคำนิยามนะครับว่าครอบคลุมใครบ้าง​ เดี๋ยวจะงงว่าครบไม่ครบ)​ โดยเฉพาะ​ SMEs มันไปถึง​ 9.1% (ดูคำนิยามด้วยครับว่าใครคือ​ SME​s) ต่อด้วยสรุปประเด็นสำคัญจากการตัดสินใจของ กนง. ว่าเหตุปัจจัยที่ออกมา​ 5:2 ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นคืออะไร

 

มีข้อมูล​เพิ่มเติมเล็กๆ คือบัญชีสินเชื่อที่ถือว่าเป็นหนี้เรื้อรังที่ควรต้องได้รับการแก้ไข​ (Severe PD) ได้รับข้อเสนอจากเจ้าหนี้ให้เข้าโครงการแก้ไข​ และลูกหนี้ตอบรับการเข้ากระบวนการแก้ไขมีจำนวน​เพียง 5,300 บัญชี จากจำนวน​ 5 แสนบัญชีที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง (ข้อมูล​ตามการแถลง)​ คิดเป็นเงินที่เก็บข้อมูล​ได้​ว่า เข้าโครงการปิดจบใน​ 5 ปีที่ดอกไม่เกิน​ 15% มีจำนวน 247 ล้านบาท จากยอดที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง​ทั้งหมดประมาณ​ 9.7 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล​ตามการแถลงเช่นกัน)

 

สุดท้าย​ผมใคร่ขอเสนอเพื่อเป็นเครื่องเจริญสติ​ว่า เมื่อเรามีตำแหน่งหน้าที่ตามที่เรามุ่งหวัง​ ทะเยอทะยาน​ มุ่งมั่นเติบโต​จนมาถึงตำแหน่งแห่งที่นี้ หรือตัวเราในอดีตสมัครเข้ามาทำหน้าที่นั้นแล้ว​ อย่าลืม​วันนั้น อย่ากลัววันนี้ที่จะเสียตำแหน่ง​ แต่ควรกลัวที่จะไม่ได้ใช้ตำแหน่งแห่งที่​ อำนาจวาสนานั้น​ในเวลานี้ที่อยู่ในมืออย่างเต็มศักยภาพ​ คุ้มกับค่าจ้าง คุ้มกับความสนับสนุน​เพื่ออำนวยผลประโยชน์​ในทางบวกแก่ผู้คน (เปราะบาง แม้ไม่มีคำนิยามชัดจนถูกกล่าวว่ามันคือเพียง ‘วาทกรรม’ เพื่อให้ดูดี)

 

ตำแหน่งอยู่ไม่นาน​ ตำนาน (การทำเรื่องดีๆ) ​นั้นอยู่ตลอดไป​

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X