×

“เมื่อกี้จะเดินมาเอาอะไรนะ?” อาการขี้ลืมแบบนี้ธรรมดาหรือน่าเป็นห่วง?

15.10.2024
  • LOADING...
อาการขี้ลืม

ผู้อ่านเคยมีประสบการณ์แบบนี้ไหม? ตั้งใจจะไปทำอะไรสักอย่าง แต่พอไปถึงที่หมายกลับนึกไม่ออกว่าตัวเองมาทำไม

“เอ๊ะ เดินขึ้นมาชั้น 2 ฉันจะมาเอาอะไรนะ?

“กุญแจบ้านที่ถือมาเมื่อกี้ เอาไปวางไว้ไหนแล้วนะ?”

“สรุปว่าก่อนออกจากบ้านเมื่อกี้ปิดแอร์แล้วหรือยังนะ?”

 

อาการขี้ลืมแบบนี้เป็นเรื่องปกติของคนวัยทำงานที่ต้องจัดการหลายอย่างพร้อมกัน มันอาจเกิดขึ้นได้เป็นปกติ หรือว่าจริงๆ แล้วนี่เป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอย่างภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์กันแน่นะ? เรามาทำความเข้าใจกันหน่อยดีกว่าว่าอาการขี้ลืมแบบไหนที่ควรให้ความสนใจ

 

อาการขี้ลืมมันปกติหรือผิดปกติ?

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) อธิบายว่า “เมื่อเราอายุมากขึ้น สมองของเราก็เปลี่ยนแปลงไป แต่โรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อแก่ตัวลง ที่สำคัญมีถึง 40% ของกรณีภาวะสมองเสื่อมที่สามารถป้องกันหรือชะลอได้ การทำความเข้าใจว่าอะไรคือภาวะปกติและไม่ปกติของสุขภาพสมองจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

 

Dr.Michelle Sorweid ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและความผิดปกติทางสมองจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ กล่าวว่า “มีสาเหตุเป็นร้อยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความจำและความคิด และหลายสาเหตุอาจมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และการสูญเสียความจำระยะสั้นไม่ใช่อาการเดียวของภาวะความบกพร่องทางสติปัญญา”

Dr.Sorweid อธิบายต่อว่า “บางครั้งเราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพหรือแม้แต่ภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ผู้ป่วยอาจขาดความสนใจในกิจกรรมประจำวันและสิ่งที่เคยชอบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณว่ามีบางอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงในสมอง”

 

ระยะของภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์

 

ภาวะสมองเสื่อมคือการสูญเสียการทำงานของสมองในด้านการคิด การจำ และการใช้เหตุผล รวมถึงความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและกิจกรรมต่างๆ ความรุนแรงของภาวะนี้มีตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่เพิ่งเริ่มส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ไปจนถึงระยะรุนแรงที่ผู้ป่วยต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

 

ไม่ใช่ทุกอาการขี้ลืมที่เป็นโรคสมองเสื่อม

 

Dr.Sorweid เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวินิจฉัยที่แม่นยำ เธอเล่าถึงกรณีของผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการความจำเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและมีความคิดทำร้ายตัวเอง เมื่อออกจากโรงพยาบาลผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม แต่เมื่อมาพบ Dr.Sorweid พบว่าผู้ป่วยเพียงแค่มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง และหลังจากได้รับการรักษาภาวะซึมเศร้าอาการก็ดีขึ้นอย่างมาก

 

นอกจากนี้ Dr.Sorweid ยังชี้ให้เห็นว่าอาการอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, คอเลสเตอรอลสูง, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, การสูบบุหรี่ และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็อาจส่งผลต่อความจำและการคิด ซึ่งสามารถรักษาได้เพื่อป้องกันการเสื่อมถอยของสมองในอนาคต

 

“ไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนแปลงของความจำและการคิดที่จะนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อม แต่นั่นก็เป็นความเป็นไปได้ และยิ่งเรารู้เร็วเท่าไรก็ยิ่งสามารถทำอะไรได้มากขึ้นเพื่อส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนคนนั้น”

อย่าลืมว่าการดูแลสุขภาพสมองเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, พักผ่อนให้เพียงพอ, เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ, กินอาหารที่มีประโยชน์, ลดความเครียด และตรวจสุขภาพสมองเป็นประจำ การดูแลเหล่านี้จะช่วยให้สมองแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคุณกังวลเกี่ยวกับอาการขี้ลืมของตัวเองหรือคนใกล้ชิด อย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ การตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในระยะยาว

 
อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X