ปัญหาสำคัญที่สุดแต่ถูกละเลยมากที่สุดของประเทศเรา คือ การปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และเจ้าของวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย
กลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 60 กลุ่มในประเทศไทยเป็นผู้สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันมั่งคั่งให้กับสังคมไทย คือ ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ ของชาติที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์เองที่สั่งสมและสืบทอดประสบการณ์ทางวัฒนธรรมมาหลายศตวรรษ จนก่อตัวเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับธรรมชาติ
แต่ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญกับสถานการณ์ท้าทาย สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอัตลักษณ์และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพราะขาดการคุ้มครองทางกฎหมายที่รับรองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
แม้ว่าในวันนี้สังคมไทยกำลังจะมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการปกป้องและคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ก้าวที่สำคัญนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างแท้จริง
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นต้นทุนวัฒนธรรม เพราะนอกจากจะนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็น ‘ทุนความรู้’ ที่ใช้จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลและยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องป่าของชาวปกาเกอะญอที่เกิดจากการสังเกตคุณลักษณะและรูปแบบของสภาพทางธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ในสายตาของชาวปกาเกอะญอ ป่าไม่ได้มีเพียงต้นไม้และสัตว์ป่า แต่คือพื้นที่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทำให้สามารถจำแนกป่าของชาวปกาเกอะญอที่เรียกว่า ‘เกอะเนอ’ (ป่าดงดิบ) ได้เป็น เกอะเนอหมื่อ คือ ป่าดิบชื้นหรือป่าผู้หญิง และเกอะเนอพา คือ ป่าดิบเขาหรือป่าผู้ชาย
หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง ชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยอีค่าง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำความรู้เรื่องป่าของชาวปกาเกอะญอมาใช้จัดการป่าในชุมชน
ภาพ: Lakpa Nuri Sherpa / AIPP (The Asia Indigenous Peoples Pact)
ความรู้เรื่องป่าอย่างลึกซึ้งนี้ทำให้ หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง สตรีชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยอีค่าง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถจัดสรรพื้นที่ป่าขนาด 60 ไร่ให้เป็นป่าเพื่อผู้หญิง เพื่อสืบทอดองค์ความรู้สตรีชาวปกาเกอะญอ
แม้จะเป็นป่าเพื่อผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วคือป่าของทุกคน เพราะมีอาหารและสมุนไพรให้กับทุกเพศทุกวัยในชุมชน ถือเป็นรูปธรรมของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งชาติ
กรณีของชาวมานิ กลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆ ปัจจุบันเหลือประชากรอยู่ไม่ถึง 600 คน วิถีชีวิตในป่าแถบเทือกเขาบรรทัดทำให้ชาวมานิผูกพันและเรียนรู้ธรรมชาติ จนมีความรู้เรื่องสมุนไพรที่สามารถนำมาทำเป็นอาวุธและยารักษาโรคต่างๆ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นคลังความรู้ที่ใช้เป็นภูมิคุ้มกัน รับมือ และต่อรอง กับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบกับชุมชน ถือเป็นศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ภูมิปัญญาการทำลูกดอกอาบยางไม้ที่มีฤทธิ์เป็นยาชาใช้สำหรับการล่าสัตว์ของชาวมานิแถบเทือกเขาบรรทัด ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่าไม้และความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรต่างๆ ในป่า
ภาพ: ภัทราพันธ์ อุดมศรี
วิถีชีวิตของชาวมานิแถบเทือกเขาบรรทัดที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ
ภาพ: ภัทราพันธ์ อุดมศรี
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ยังสำคัญต่อประเทศในฐานะหลักประกันการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะยิ่งมีมรดกภูมิปัญญาที่หลากหลายก็ยิ่งมีทุนความรู้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มรดกภูมิปัญญาไม่เพียงแต่มีคุณค่า แต่สามารถสร้างมูลค่า เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนและประเทศ หลายชุมชนชาติพันธุ์นำเอาภูมิปัญญามาต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งจากฐานราก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันในระดับโลกได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ โดยหันมาให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม จนเกิดเป็นกระแสกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาที่ยอมรับบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชนชาติพันธุ์ ในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) โดย UNESCO ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าวและระบุว่า
“ชุมชนชาติพันธุ์มีบทบาทพิเศษและเฉพาะเจาะจงในการจัดการมรดกอย่างยั่งยืน โดยเป็นผู้สร้าง, ส่งเสริม, รักษา และสร้างมรดกเหล่านี้ขึ้นใหม่ ดังนั้นจึงเป็นผู้ที่ช่วยทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นรุ่มรวยยิ่งขึ้น”
พิธีบวชป่าของชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ด้วยแนวคิด ‘อยู่ร่วม อยู่รอด’ สะท้อนวิธีคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วยวิถีภูมิปัญญา
ภาพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยยังไม่เข้าใจและยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยมองความเป็นชาติพันธุ์เป็นความแตกต่าง ความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์จึงถูกลดทอนคุณค่า ขณะที่นโยบายและกฎหมายก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางวัฒนธรรม กลายเป็นการจำกัดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ จนสูญเสียความรู้และทักษะแบบดั้งเดิม ทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ถูกละเลย สูญเสียโอกาสใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หลายกรณีเกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรง เช่น กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกอพยพจากพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยสามารถดำรงวิถีชีวิตและพึ่งตนเองได้ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นชุมชนที่ต้องปรับวิถีชีวิตและสูญเสียศักยภาพในการพึ่งตนเอง
พิธีบวชป่าของชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ด้วยแนวคิด ‘อยู่ร่วม อยู่รอด’ สะท้อนวิธีคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วยวิถีภูมิปัญญา
ภาพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ตลอด 30 ปีหลังอพยพย้ายชุมชน แม้รัฐจะมีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ความขัดแย้งกลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะแนวคิดและกระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ กลับทำให้ปัญหามีความซับซ้อน กลายเป็นความเปราะบางที่สร้างความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมให้กับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ความท้าทายที่กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในฐานะทุนวัฒนธรรม ทำให้หลายภาคส่วนในสังคมไทยหันมายอมรับและเห็นคุณค่าความเป็นชาติพันธุ์ ทั้งภาครัฐโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ภาคการเมืองโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) รวมทั้งภาคประชาชนโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ได้ร่วมกันผลักดันกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมชีวิตชาติพันธุ์ เพื่อโอบรับความหลากหลายของทุกกลุ่มวัฒนธรรม
โดยคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม และปรับกระบวนทัศน์จากการให้ความช่วยเหลือแบบประชาสงเคราะห์ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สูญเสียความสามารถพึ่งพาตนเอง มาเป็นการเสริมศักยภาพที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของความเป็นชาติพันธุ์ ทำให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการยอมรับและนำมาเป็นทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ
ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยที่กำลังจะมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม เพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของกลุ่มชาติพันธุ์ และรักษาไว้ซึ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่หลอมรวมมาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
ชาวไทโส้ บ้านโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม กับการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าให้กับเยาวชน
ภาพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยอมรับ และเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม กฎหมายนี้จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิในฐานะพลเมืองไทยอย่างเสมอภาค สร้างความมั่นคงในชีวิต และเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงตัวตนทางวัฒนธรรม โดยสนับสนุนและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะทุนวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง ปี 2567 ถือเป็นปีที่มีความก้าวหน้าและมีความหมายอย่างยิ่งกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพราะเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ล่าสุดร่างกฎหมายฉบับนี้ได้บรรจุเป็นวาระการพิจารณาตามกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อลงมติเห็นชอบ โดยคาดว่าภายในต้นปี 2568 ประเทศไทยจะมีกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรก
ห้วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่คนไทยทุกคนจะได้เปิดใจเรียนรู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์มิใช่ใครอื่น แต่คือพลังสร้างสรรค์ของประเทศ ที่ควรโอบนับรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย จึงอยากเชิญชวนทุกคนในสังคมไทยร่วมกันผลักดันกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้มีความสำคัญเพียงเพื่อคุ้มครองความหลากหลายของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่มีความสำคัญกับคนไทยทุกคน เพราะการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์คือการรักษามรดกทางภูมิปัญญาของชาติ ที่จะใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
คำอธิบายภาพแรก: ชาวมานิแถบเทือกเขาบรรทัด กับ ‘บอเลา’ อาวุธประจำกายชายชาวมานิ
ภาพ: ภัทราพันธ์ อุดมศรี
ผู้เขียน: อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิดเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ของไทยและประเทศใกล้เคียง แต่ละฉบับมีผู้เขียนที่แตกต่างกัน ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น