×

ประธานรัฐสภาแนะ สส.-สว. ถอยคนละก้าว คำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชน เร่งหาข้อสรุปร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

โดย THE STANDARD TEAM
09.10.2024
  • LOADING...
ประชามติ

วานนี้ (8 ตุลาคม) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ กลับมาในรูปแบบการทำประชามติ 2 ชั้นว่า จะต้องนำกลับมาพิจารณาในสภา ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นก่อนจะปิดสมัยประชุม ดังนั้นสภาจึงจะต้องเร่งพิจารณาว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 2 สภาเพื่อพิจารณา จึงเห็นว่าควรได้ข้อยุติเบื้องต้นภายในสมัยประชุมนี้ เพื่อจะใช้เวลาในช่วงสมัยประชุมในการพิจารณาหาข้อยุติ

 

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยตั้งคณะกรรมาธิการร่วม โดยเมื่อมีการแก้ไขก็มักจะใช้กันไปก่อน เว้นแต่มีข้อขัดแย้งกันจริงๆ ซึ่งตนเห็นว่าแล้วแต่วิปรัฐบาลว่าจะเลือกใช้วิธีใดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่สิ่งสำคัญคือกฎหมายการทำประชามติจะต้องมี และทางออกที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชนควรจะต้องมีการประนีประนอมแทนที่จะไปนับหนึ่งใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องมีความสมดุลในการใช้อำนาจของแต่ละฝ่ายด้วย 

 

“เป็นเรื่องไม่ยาก หากคุยกันแล้วมีความปรารถนาดีและหวังดีต่อประเทศชาติ เชื่อว่าประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ ประชาชนมีความเชื่อมั่น ดังนั้นแต่ละฝ่ายควรถอยคนละก้าวสองก้าวก็ได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับประชาชน ดังนั้นเสียเวลาคุยกันเพื่อให้จบ โดยมีเป้าหมายคือทำประชามติให้ได้ แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ดีกว่า และคุยกันตั้งแต่ตอนแรกว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมหรือไม่ตั้ง ผมเชื่อว่าคุยกันได้” วันมูหะมัดนอร์กล่าว

 

ส่วนที่วิปรัฐบาลยืนยันที่จะให้กลับไปใช้ร่างของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า ตนเดาไม่ถูก เนื่องจากวิปรัฐบาลจะต้องฟังเสียงของแต่ละพรรคการเมืองด้วย

 

สำหรับกรณีที่ยังคงมีข้อถกเถียงว่าจะต้องทำประชามติ 2 รอบ หรือ 3 รอบนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า ยังคงไม่มีข้อยุติและไม่มีใครบอกได้ว่าจะต้องทำกี่รอบ เพราะเคยถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วแต่ศาลไม่ตอบ แต่ขอให้ไปดูคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ว่าชัดเจนแล้ว จึงทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างว่าต้องทำ 2 รอบ หรือ 3 รอบ โดยส่วนตัวมองว่าทำ 3 รอบก็ไม่เสี่ยง เพราะหากทำ 2 รอบเสร็จแล้วมีคนไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขณะนั้นก็ไม่ทราบว่าศาลจะตีความอย่างไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising