เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้นำจีนสร้างความประหลาดใจให้กับโลกด้วยการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบด้าน และออกแถลงการณ์ถึงความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา กระตุ้นการบริโภค และฟื้นฟูตลาดทุน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2024
Deutsche Bank ระบุในรายงานการวิจัยเมื่อวันพฤหัสบดี (3 ตุลาคม) ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ ซึ่งรวมถึงแผนที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 7.5 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 1.07 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 6% ของ GDP ของประเทศในปี 2024 นี่อาจกลายเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ หากรัฐบาลดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศทั้งหมด
คาดจีนออก ‘ตราสารหนี้พิเศษ’ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีนกล่าวว่า จีนมีโอกาสจะเพิ่มมาตรการสนับสนุนทางการเงินสำหรับเศรษฐกิจได้ โดยออกตราสารหนี้พิเศษมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านหยวน (1.4 ล้านล้านดอลลาร์) สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นต่อปักกิ่งในการขยายการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เรียกร้องให้ทางการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาว และตราสารหนี้พิเศษในประเทศเพื่อกระตุ้นการลงทุน แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ ซึ่งทำให้เกิดการคาดเดาเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของมาตรการทางการคลัง
Jia Kang อดีตหัวหน้าสถาบันวิจัยสังกัดกระทรวงการคลัง มองว่าการออกตราสารหนี้จะมีมูลค่าหลายเท่าของพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาวมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนที่รัฐบาลวางแผนจะขายในปีนี้ แต่เขากล่าวว่านั่นจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนในปี 2008 เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากการวัดเป็นตัวเงิน (Nominal Terms)
การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนทำให้ตลาดหุ้นพุ่งสูงขึ้น โดยดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 กันยายน) ก่อนที่ประเทศจีนจะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวหนึ่งสัปดาห์ ดัชนีหุ้นจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 13 วันจากความเชื่อมั่นในตลาด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนกระทั่งปรับตัวลดลงในวันพฤหัสบดี ซึ่งดัชนีลดลง 1.58%
ธนาคาร Danske Bank ระบุว่า ความพยายามดังกล่าวเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก โดยธนาคารปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตในปีหน้าของจีนเป็น 5.2% จาก 4.8%
นโยบายการคลังต้องใช้จ่ายระมัดระวัง
ขณะนี้ความสนใจกำลังมุ่งไปที่มาตรการสนับสนุนทางการเงินที่จะเกิดขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าจำเป็นต้องมีการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ หลังจากที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 และร่วงสู่ระดับต่ำสุดในเดือนสิงหาคม
ในระยะสั้น นโยบายการเงินแบบเดิมจะถูกจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลอาจมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในภายหลัง โดยในช่วงปลายเดือนตุลาคม รัฐบาลอาจประกาศโควตาเพิ่มเติมสำหรับพันธบัตรรัฐบาลพิเศษหรือพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษ
Lu Ting นักเศรษฐศาสตร์จีนจาก Nomura กล่าวว่า รัฐบาลอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการเงิน ปักกิ่งเตรียมออกมาตรการทางการคลังและนโยบายสนับสนุนอื่นๆ มากมาย แต่ขนาดและเนื้อหาของมาตรการทางการคลังอาจขาดความรอบคอบและไม่แน่นอน เนื่องจากฟองสบู่หุ้นที่กำลังก่อตัว และการอภิปรายที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าปักกิ่งควรเน้นที่อะไร
นักเศรษฐศาสตร์ของ Morgan Stanley เตือนให้ระมัดระวังปัจจัยต่างๆ รวมถึงภาระหนี้ของประเทศจีนในปัจจุบัน เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ของจีนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 286% เมื่อต้นปีนี้ ตามข้อมูลจาก Bloomberg
อ้างอิง: