NASA ตัดสินใจปิดอุปกรณ์สำรวจพลาสมาบนยาน Voyager 2 เพื่อช่วยยืดอายุให้ยานอวกาศทำงานจากสุดขอบระบบสุริยะได้ถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย
หลังจากเดินทางในอวกาศมานานกว่า 47 ปี และเดินทางไปไกลกว่า 20,500 ล้านกิโลเมตรจากโลก ทีมวิศวกรของภารกิจVoyager2 ได้ส่งคำสั่งปิดการทำงานของอุปกรณ์สำรวจพลาสมา นับเป็นอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ตัวที่ 6 ของยานที่ถูกสั่งปิด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประหยัดพลังงานของภารกิจ
ก่อนหน้านี้ทีมวิศวกรของ NASA ได้พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อช่วยประหยัดการใช้พลังงานโดยไม่กระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากยาน Voyager 1 และ 2 เป็นยานอวกาศเพียง 2 ลำที่ยังทำงานได้ ระหว่างปฏิบัติภารกิจในบริเวณช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ หรือ Interstellar Space นอกเหนือขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ทำให้ข้อมูลจากยานอวกาศทั้ง 2 ลำเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อนักวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง
อุปกรณ์สำรวจพลาสมา หรือ Plasma Science มีหน้าที่ในการวัดปริมาณและทิศทางการเคลื่อนที่ของพลาสมา เช่น ในสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์, ลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ และในพื้นที่ช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ดังกล่าวเริ่มมีข้อจำกัดในการตรวจวัดพลาสมา เนื่องจากตำแหน่งที่ไม่สัมพันธ์กับทิศทางการไหลของพลาสมานอกขอบเขตลมสุริยะดวงอาทิตย์ โดยทีมภารกิจบนโลกจะได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์ที่สุดในทุก 3 เดือน เมื่อยานVoyager 2 หมุน 360 องศาเพื่อหันเข้าหาดวงอาทิตย์
และเพื่อยืดอายุภารกิจของVoyager 2 ให้สามารถทำงานต่อไปได้นานที่สุด ทีมวิศวกรภารกิจจึงตัดสินใจยุติการทำงานของอุปกรณ์สำรวจพลาสมาลง โดยเหลือระบบตรวจวัดรังสีคอสมิก, อุปกรณ์วัดอนุภาคมีประจุที่มีพลังงานต่ำ, เครื่องวัดสนามแม่เหล็ก และระบบตรวจวัดคลื่นพลาสมา ที่ยังคงทำงานอยู่ทั้งบนยาน Voyager 1 และ 2
ทีมวิศวกรภารกิจได้ตรวจดูสุขภาพและการทำงานของยานอวกาศทั้ง 2 ลำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดสรรทรัพยากรและรีดพลังงานจากเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี (Radioisotope Thermoelectric Generator) ที่ได้พลังงานมาจากการสลายตัวของพลูโตเนียม-238 ซึ่งมีการสูญเสียพลังงานไป 4 วัตต์ในทุกปี โดยอาศัยการปิดระบบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นบนยาน เพื่อยืดอายุให้อุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์สามารถใช้งานได้ยาวนานที่สุด
ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ NASA คาดการณ์ว่ายานVoyager2 จะมีพลังงานเหลือให้ทำงานได้ถึงปี 2030 โดยมีอุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 1 ตัวที่ยังใช้งานได้
ภาพ: NASA
อ้างอิง: