ท่ามกลางวันชาติของปี 2024 ในวันนี้ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เศรษฐกิจจีนปีนี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ มิติ
โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีน (PBOC) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ใน 3 เมืองใหญ่ ถือเป็นมาตรการที่ไม่เคยมีมาก่อนหากนับตั้งแต่จีนเปิดประเทศ หลังการระบาดใหญ่ของโควิด ทว่าจะช่วยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้แค่ไหน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะประกอบไปด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็น การลดอัตราดอกเบี้ย, ลดการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพิ่มอีก 0.25-0.50% ตลอดจนพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่นคงของตลาดหุ้น และจะปลดล็อกเงินทุนอย่างน้อย 8 แสนล้านหยวน เพื่อสนับสนุนตลาดหุ้นจีนที่ประสบปัญหา
ทั้งยังเดินหน้าสร้างกระแสเชิงบวกมิติสังคม ประกาศแจกเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบางหรือพลเมืองที่ด้อยโอกาส อีกทั้งให้คำมั่นว่าจะให้เงินอุดหนุนแก่บัณฑิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและกำลังหางานทำ
โดยรายงานข่าวจาก CNN วิเคราะห์ว่า ขณะนี้จีนกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน เริ่มตั้งแต่หนุ่มสาวจีนเผชิญปัญหาการว่างงาน, พนักงานออฟฟิศต้องเผชิญกับการลดเงินเดือนและการเลิกจ้าง, ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินทุนสำหรับธุรกิจและชำระหนี้, ครอบครัวชนชั้นกลางต้องเผชิญกับความมั่งคั่งที่ลดลงเนื่องจากราคาบ้านที่ตกต่ำ ไปจนถึงคนรวยต้องแย่งชิงเงินออกจากประเทศ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงยอมรับว่าจีนมี ‘ปัญหาใหม่’ เกิดขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาที่เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายทางการคลัง เพื่ออุ้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ และปรับปรุงการจ้างงานสำหรับบัณฑิตใหม่และแรงงานต่างด้าว
“เนื่องจากชาวจีนไม่น้อยมองว่าเวลานี้ประเทศติดอยู่ในช่วงเวลาที่มืดมน แทบไม่มีความหวังว่าจะพลิกกลับมาได้ ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ปี 2019) โดยครั้งนั้นนักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่าจีนอาจแซงหน้าสหรัฐอเมริกา และกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
ทว่าในปัจจุบันรัฐบาลจีนเองก็พยายามประคองเศรษฐกิจที่ซบเซาไม่ให้ซ้ำรอย ‘ทศวรรษที่หายไป’ เฉกเช่นญี่ปุ่น หลังจากที่เกิดวิกฤตฟองสบู่แตกในช่วงปี 1990
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คาดรัฐบาลแจกเงินสดมูลค่า 2-3% ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ควักกระเป๋าแจกแล้ว 1.55 แสนล้านหยวน
- มหาวิทยาลัยจีนประกาศเปิดหลักสูตรการแต่งงานแห่งแรก! เมื่อเศรษฐกิจซึมและสังคมยังฝังรากลึก ‘ซื้อบ้านและรถก่อน’ ทำให้หนุ่มสาวเลือกเป็นโสด
- ปีนี้อาจไม่ใช่ปีของจีน? เหตุใดหนุ่มสาวจีนยุคใหม่ลังเลที่จะแต่งงาน กลัวการมีลูก และอัตราการหย่าร้างปีนี้ก็พุ่งถึง 1.97 ล้านครั้ง
- ส่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉบับ ‘จีนยุคใหม่’ ในวันที่เศรษฐกิจซึม ให้นายจ้างเพิ่มวันหยุดแบบมีค่าจ้าง ลดเงื่อนไขซื้อรถ EV หนุนจัดคอนเสิร์ต
ผุดมาตรการอสังหาริมทรัพย์
ล่าสุดจึงเห็นแผนผลักดันอย่างจริงจังเพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยรายงานข่าวระบุว่า กวางโจวจะเป็นเมืองแรกที่ยกเลิกข้อจำกัดในการซื้อบ้าน โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ซื้อบ้านและจะไม่จำกัดจำนวนการเป็นเจ้าของบ้านต่อคน
ส่วนอีกสองเมือง (เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น) จะเอื้อให้ผู้คนซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น โดยประกาศว่าจะลดเงินดาวน์สำหรับบ้านหลังแรกและหลังที่สองลงเหลือ 15 และ 20% ตามลำดับ เนื่องจากปัจจุบันมีอพาร์ตเมนต์ว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก
ซู่เทียนเฉิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Economist Intelligence Unit กล่าวว่า การเปิดตัวมาตรการต่างๆ พร้อมกันในสัปดาห์ที่ผ่านมามีให้เห็นไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน และคิดเป็น 70% ที่สะท้อนความมั่งคั่งของครัวเรือน ขณะนี้ยังคงไม่สู้ดีนัก
หลังจากที่เฟื่องฟูมานานหลายทศวรรษ แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนกำลังหดตัวเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่ตกอยู่ในวิกฤตครั้งใหญ่เมื่อปี 2020 โดยราคาบ้านใหม่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า รัฐบาลวางแผนออกพันธบัตรรัฐบาลชุดพิเศษมูลค่า 2 ล้านล้านหยวนในปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
มาร์ก วิลเลียมส์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของ Capital Economics ประเมินว่า แพ็กเกจกระตุ้นทางการคลังจะมีผลทำให้ GDP จีน เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับไม่มีมาตรการ
“แม้ว่าตอนนี้จะเป็นช่วงปลายปี แต่การออกมาตรการเป็นแพ็กเกจใหม่เช่นนี้น่าจะเพียงพอที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมายประมาณ 5%”
ประชากรลดลง – Gen Z หมดไฟ – หนุ่มสาวตกงาน อีกด้านปัญหาใหญ่ของจีน
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านความท้าทายของเศรษฐกิจจีนกลับเผชิญปัญหาอันเลวร้ายนั่นคือ ปัญหาการลดลงของประชากรที่ลดลงติดต่อกัน 2 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตในอนาคตของเศรษฐกิจ
แม้รัฐบาลจะมีความพยายามส่งเสริมการมีบุตรต่อเนื่อง แต่กลับล้มเหลว คนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเลื่อนการแต่งงานและไร้แผนสืบทายาท หลายคนรู้สึกเบื่อหน่ายหรือหมดไฟ ทำให้คนหนุ่มสาวรู้สึกสิ้นหวัง บางคนพบว่าเส้นทางชีวิตไม่สอดคล้องกับเส้นทางที่คาดว่าจะก้าวหน้าขึ้นตาม ‘ความฝันจีน’ ของสีจิ้นผิง ที่ครั้งหนึ่งได้ประกาศวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ในการฟื้นฟูชาติที่ไม่อาจหยุดยั้ง
เพราะการเติบโตในยุคที่เศรษฐกิจโตอย่างรวดเร็วและค่าครองชีพที่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้คนรุ่นใหม่ Gen Z ของจีน คิดหนักว่าอาจทำได้ไม่ดีเท่ารุ่นพ่อแม่
ขณะที่การปราบปรามภาคเอกชนของสีจิ้นผิงตั้งแต่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ไปจนถึงการสอนพิเศษ ทำให้หนุ่มสาวบัณฑิตจบใหม่ว่างงาน วันนี้อัตราการว่างงานของเยาวชนจึงพุ่งสูงถึง 18.8% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่รัฐบาลพยายามหามาตรการเมื่อปีที่แล้ว ทั้งหมดนี้คือปัญหาใหญ่ของจีน
งัดมาตรการแจกเงิน กระตุ้นจับจ่ายในประเทศช่วง Golden Week
ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีนกำลังเตรียมรับมือกับการเติบโตที่ซบเซาในช่วงวันหยุดยาวที่จะมาถึงนี้ ในส่วนนี้รัฐบาลจะเริ่มแจกเงินสดไปยังประชาชนในมณฑลต่างๆ เพื่อหวังให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
เนื่องจาก Golden Week ถือเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงการเดินทางที่คึกคักที่สุด ซึ่งน่าสนใจว่าปีนี้การจองห้องพักในช่วงดังกล่าวบ่งชี้ว่า ค่าโดยสารทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลของเว็บไซต์ Trip.com Group
โดยสายการบินต่างๆ คาดว่าจะให้บริการเที่ยวบินโดยสาร 1.15 แสนเที่ยวบินในช่วงวันหยุด ซึ่งหากเทียบค่าเฉลี่ยรายวันในปีนี้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 6.2% ส่วนชาวต่างชาติเดินทางไปจีนครึ่งปีแรกราวๆ 14.64 ล้านครั้ง คิดเป็นประมาณ 70% ของระดับปี 2019 ส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ดังนั้น แม้ว่าการใช้จ่ายในครัวเรือนจะลดลง แต่ภาคการท่องเที่ยวก็เป็นความหวัง เนื่องจากการเดินทางภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นหลังจากที่จีนยุติมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวด จำนวนคืนที่พักปีที่แล้วที่ชำระเงินในตลาดภายในประเทศสูงกว่าปี 2019 ถึง 14%
แต่สัญญาณที่เพิ่มมากขึ้นของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เช่น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอยลง ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง และการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ก็เน้นย้ำถึงความอ่อนแอในความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนระบุว่า รัฐบาลควรมีการสนับสนุนทางการเงินเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงระบุผ่านสถานีโทรทัศน์ CCTV วานนี้ว่า “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมานั้น รัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ และจะปรับปรุงนโยบายพร้อมศึกษาแบบค่อยเป็นค่อยไป”
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2024/09/30/business/china-national-day-economic-downturn-intl-hnk/index.html
- https://www.reuters.com/markets/asia/chinas-central-bank-cuts-banks-reserve-requirement-ratio-by-50-bps-2024-09-27/
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-09-29/china-policymakers-vow-to-study-new-incremental-econ-policies?srnd=phx-economics-v2&sref=CVqPBMVg
- https://asia.nikkei.com/Economy/China-economic-slowdown-sends-chill-through-golden-week-holidays
- https://www.reuters.com/markets/asia/china-issue-284-bln-sovereign-debt-this-year-help-revive-economy-sources-say-2024-09-26/