×

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยระยะสั้น พร้อมหนุนหุ้น ‘ไฟแนนซ์ ค้าปลีก และเฮลท์แคร์’

25.09.2024
  • LOADING...
ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

หลังจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ช่วงปี 2555-2556 เป็น 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ หลังจากนั้นค่าจ้างขั้นต่ำก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

 

เมื่อต้นปี 2567 ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 330-370 บาทต่อวัน ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศแนวทางในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ที่เดิมทีจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม แต่ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า การดำเนินการอาจจะไม่ทันตามกรอบเวลาเดิม แต่ยังคงยืนยันว่าจะเดินหน้าทำตามนโยบายนี้ต่อไปในอนาคต 

 

แล้วการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ ในมุมผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนและเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร?

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

 

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไรจึงเหมาะสม?

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เราสามารถมองได้ 2 มุมคือ มุมของลูกจ้างที่ทุกวันนี้รายได้โตไม่ทันรายจ่าย เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากที่อ่อนแอ เพราะฉะนั้นการขึ้นค่าจ้างในระดับที่น้อยเกินไปหรือไม่ขึ้นเลยจะทำให้กำลังซื้อระดับล่างอ่อนแอ 

 

ในมุมของธุรกิจ หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่โดยทั่วไปจะจ่ายค่าจ้างสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่เสียงเรียกร้องส่วนใหญ่จะมาจาก SMEs เพราะกลุ่มนี้ประสบปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่ายเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโตแค่ระดับกลางบน 

 

“เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่อยากเห็นมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ควบคู่กันไป รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่แจกเงินชั่วคราว และควรจะหาวิธีเพิ่มรายได้ให้กลุ่มแรงงานนอกระบบด้วย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่พูดถึงกันอยู่นี้จะเป็นกลุ่มแรงงานในระบบ” 

 

ดร.อมรเทพ กล่าวต่อว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรจะพิจารณา 3 คำถามสำคัญ ได้แก่

  1. ควรจะขึ้นในอัตราเท่ากันทุกจังหวัดหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการในบางจังหวัดอาจไม่สามารถรองรับได้ 
  2. ควรจะขึ้นในอัตราเท่ากันทุกอุตสาหกรรมหรือไม่ ซึ่งบางอุตสาหกรรมเติบโตสูง บางอุตสาหกรรมเติบโตต่ำ
  3. ควรจะขึ้นในอัตราเท่ากันทุกทักษะหรือไม่ เพราะการขึ้นค่าจ้างควรจะมาพร้อมทักษะที่ดีขึ้น และหากแรงงานไม่ปรับตัวอาจเป็นความเสี่ยงให้เกิดการเลิกจ้าง

 

การขึ้นค่าจ้างแบบไม่เท่ากันและลงรายละเอียดเช่นนี้ “เข้าใจว่าอาจทำได้ยาก (ในทางปฏิบัติ) แต่อย่างน้อยให้ปรับขึ้นไม่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ” ดร.อมรเทพ กล่าว 

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

 

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่บทความชื่อ ‘หากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน: กระทบใคร และกระทบอย่างไร’ โดยมีประเด็นสำคัญคือ 

 

  • อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันแตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด อยู่ในช่วงประมาณ 330-370 บาท หากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ จังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับสูงที่สุด เช่น ภูเก็ต ก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับต่ำ 

 

  • โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นของภูเก็ต คิดเป็น 8.2% ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่บางจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับต่ำ เช่น น่าน ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 18-21% 

 

  • ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายด้าน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในมิติเชิงโอกาสและมิติเชิงเศรษฐกิจ ค่าจ้างที่แท้จริงนั้นไม่ได้มีการเติบโตมากนักในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าของแรงงานในเรื่องรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

 

“อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลที่ไม่คาดคิดในมิติอื่นๆ เช่น ธุรกิจขนาดเล็กอาจจะปิดตัวลง และแรงงานมีการโยกย้ายจากธุรกิจขนาดเล็กไปยังธุรกิจขนาดใหญ่ หรือหากรัฐจำเป็นต้องออกมาตรการอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็อาจจะส่งผลในวงกว้างได้เช่นกัน อาทิ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ลดลง และกลับกลายเป็นว่าไปลดประสิทธิภาพของภาษีซึ่งเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้อีกประเภทหนึ่ง หรือหากไปลดอัตราสมทบของกองทุนประกันสังคมก็จะส่งผลต่อสถานะของกองทุนฯ ซึ่งมีประเด็นเรื่องความยั่งยืน”

 

“ดังนั้น ชุดนโยบายที่จะมาแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพอควรจะมองรอบด้านและแก้ทั้งปัญหาระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมๆ กัน หากต้นตอของปัญหาค่าจ้างต่ำคือ แรงงานไทยส่วนใหญ่มีผลิตภาพไม่สูงนักและค่าจ้างที่ผ่านมาก็สะท้อนผลิตภาพดังกล่าว การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ซึ่งทำได้ตั้งแต่การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ การเพิ่มโอกาสในตลาดแรงงานโดยไม่มีการกีดกันทางเพศและอายุ ลดการใช้เส้นสาย การพัฒนาผลิตภาพการผลิต ไปจนถึงการส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจต่างๆ เพื่อลดการผูกขาดทั้งในฝั่งการจ้างงานและการขายสินค้าและบริการ”

 

ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย

 

สำหรับผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งตลาดหุ้นไทย สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ทุกๆ 1% ของค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นจะกระทบกำไรบริษัทจดทะเบียนราว 0.25% จากประมาณการกำไรปี 2568 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 9.8 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นในรอบนี้คาดว่าเป็นไปได้ที่ปรับขึ้น 10% ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจถูกกระทบประมาณ 2.5%

 

อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีเพียงผลกระทบด้านลบ แต่ยังมีผลกระทบด้านบวกจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้น แต่การประเมินผลบวกในลักษณะนี้ทำได้ค่อนข้างยาก 

 

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้และเสียประโยชน์

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า เชื่อว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่กระทบต่อภาพรวมของตลาดหุ้นมากนัก เพราะจะมีทั้งอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ 

 

จากสถิติในอดีต หากค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับขึ้นเกิน 5% จะทำให้หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ค้าปลีก และเฮลท์แคร์ ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด 

 

กลุ่มไฟแนนซ์ได้ประโยชน์จากคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นและสินเชื่อขยายตัวมากขึ้น ส่วนค้าปลีกได้ประโยชน์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และช่วยชดเชยต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นบางส่วน ขณะที่เฮลท์แคร์เป็นกลุ่มที่ทนทานต่อเงินเฟ้อ หากค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้น เงินเฟ้อมักจะปรับขึ้นตาม ทำให้หุ้นกลุ่มนี้จะได้รับความสนใจมากขึ้น

 

ส่วนกลุ่มที่น่าจะโดนผลกระทบเชิงลบ คือกลุ่มที่มีต้นทุนแรงงานสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น รับเหมาก่อสร้าง และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะส่งผ่านต้นทุนไม่ทัน

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)​ เชื่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นบวกมากกว่าลบ เพราะจะช่วยให้ปัญหาหนี้สินทุเลาลง และช่วยเพิ่มกำลังซื้อ 

 

โดยหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์และบริหารจัดการหนี้เป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อข่าวนี้ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มักจะจ่ายค่าจ้างเกินขั้นต่ำอยู่แล้ว ทำให้ผลกระทบไม่มากนัก

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X