เมื่อเร็วๆ นี้ THE STANDARD WEALTH มีโอกาสเดินทางไปยังกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งหลายคนรู้จัก ‘อินโดนีเซีย’ ในมุมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างภูเขาไฟ หรือทะเลฝั่งเกาะบาหลี แต่หากดูขนาดของเศรษฐกิจประเทศในเวลานี้ ถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตน่าสนใจ
เนื่องด้วยโครงสร้างประชากรซึ่งมีมากกว่าไทยถึง 4 เท่า ราว 278.7 ล้านคน มีประชากรวัยหนุ่มสาวแรงงานกว่าครึ่ง (ราว 147.71 ล้านคน) เป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงและพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก สวนทางกับหลายประเทศที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีได้ เราก็ทำได้เช่นกัน! ‘อินโดนีเซีย’ ตั้งการ์ดสูงสกัดสินค้าจีนทะลัก จ่อเก็บภาษี 200% รัฐบาลประกาศลั่น ขอปกป้องธุรกิจ SME
- อินโดนีเซียผงาด! GDP พุ่งเกินคาด 5.05% เผยอีก 10 ปี เศรษฐกิจอาเซียนโตแรงแซงจีน
- ‘เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน’ ตัวเปลี่ยนเกมการค้าโลก? ทำไม 3 ยักษ์ใหญ่ เปอร์ตามิน่า-ปิโตรนาส-ปตท.สผ. มองเป็นสิ่งที่ต้องทำ
อีกทั้งความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และทรัพยากรแร่นิกเกิล ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นพี่ใหญ่ของอาเซียนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
อินโดนีเซียเตรียมโอนสถานะเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาบนเกาะชวา ไปยังนูซันตารา จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2045
นอกจากนี้ อินโดนีเซียมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพและเทคเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน รวมถึงมีเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สูงเป็นอันดับ 2 สูสีกับเวียดนาม
อนาคตคาดการณ์ว่าจะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2050 เพราะวันนี้เริ่มเดินหน้าเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง ทั้งโครงการรถไฟฟ้า เพื่อเตรียมรับเมืองหลวงใหม่ ‘นูซันตารา’ (Nusantara) ซึ่งนี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดอัตราเร่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน
แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงไม่สู้ดีเท่าไรนัก การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและการค้าที่ทวีความรุนแรงเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่อินโดนีเซียสามารถทำหน้าที่เป็นพี่ใหญ่ของภูมิภาคที่ผลักดันให้อาเซียนเดินหน้าอย่างโดดเด่นบนเวทีโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี และในระยะข้างหน้า
“ขณะนี้จึงเห็นการลงทุน FDI ที่น่าสนใจมากๆ มีหลายๆ อุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียต่อเนื่อง เฉพาะแค่อุตสาหกรรมอาหารก็คิดเป็น GDP ถึง 6.9% เศรษฐกิจอินโดนีเซียจึงมาแรงและน่าสนใจมาก” รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวภายหลังงาน Food ingredients Asia 2024 ซึ่งจัดที่กรุงจาการ์ตา
รุ้งเพชรฉายภาพถึงการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศอินโดนีเซียอย่างน่าสนใจว่า หากลงลึกเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหาร ถือว่าเป็นตลาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ด้วยอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรมากกว่า 270 ล้านคน จึงมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยอาหารกลุ่มเบเกอรีและซีเรียลได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภคด้วยมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่าประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียเป็นชาวมุสลิม เมื่อคิดสัดส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดมุสลิมจึงมีขนาดใหญ่ถึง 42%
ถามว่าสำคัญกับไทยอย่างไร ต้องบอกว่าประเทศไทยมีบทบาทสำคัญและมีศักยภาพในการเป็นฮับของการส่งออกวัตถุดิบอาหารของตลาดโลก อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จึงเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ในปีนี้งาน Food ingredients Asia 2024 ย้ายมาจัดที่ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารในประเทศอินโดนีเซียอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก
รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์
“ไทยได้แสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มในงาน เชื่อว่าสินค้าภายใต้แบรนด์ไทยในอุตสาหกรรมนี้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และจะมีโอกาสเพิ่มมูลค่ามากขึ้นหากสินค้าได้รับมาตรฐานฮาลาล เพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดมุสลิมใหญ่มาก นี่คือโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะหาคู่ค้าหรือพันธมิตร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 22,800 คน สร้างมูลค่าต่อยอดเครือข่ายทางธุรกิจได้มาก”
อุตสาหกรรมอาหารประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพ มีโปรดักต์หลากหลายมาก ซึ่งปัจจุบันสินค้าไทยในตลาดอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในหมวดสินค้าต่างประเทศ
โดยเฉพาะกลุ่มขนมหรืออาหารกินเล่นที่กินได้ทั้งวัน และมีแนวโน้มการเติบโตสูง เพราะตลาดที่นี่เป็นคนหนุ่มสาว ถัดมาเป็นกลุ่มอาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและขนมปัง โดยสินค้าไทยที่ส่งมาขายในตลาดอินโดนีเซียมักจะปรับปรุงรสชาติให้ต่างจากไทย เพราะคนอินโดนีเซียติดอาหารรสชาติหวานมัน แม้มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมน้ำตาลหรือการรณรงค์งดน้ำตาล แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้มากนัก
ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวอินโดนีเซียจะมีความหลากหลายมาก คนชอบกินอาหารนอกบ้านและคุ้นชินกับรสชาติหวานเป็นปกติ ทำให้สถิติการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ค่อนข้างสูง
อินโดนีเซียมีตลาดอาหารที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีมูลค่าสูงถึง 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ
“กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสัดส่วนสูงถึง 50% จึงเริ่มมองหาวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และประเทศไทยมีความถนัดในด้านเทคโนโลยีอาหาร สามารถส่งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเข้าสู่ตลาดอาหารอินโดนีเซียได้”
สินค้าไทยในสายตาชาวอินโดนีเซีย
รุ้งเพชรมองว่า ผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซียมองสินค้าอาหารของไทยเป็นหนึ่งในสินค้าคุณภาพ ชาวอินโดนีเซียยอมจ่ายเงินซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาในประเทศไทย เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย
“แต่สิ่งสำคัญคือต้องตามให้ทันและปรับตัวให้เร็ว ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนด เพราะเงื่อนไขนำของการปกป้องธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียจะซีเรียสมาก”
อย่างกฎหมาย Halal Regulations ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2024 จะใช้กับสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งกำหนดให้ต้องมีป้ายกำกับ ‘Halal’ หรือ ‘Non-Halal’ เท่านั้น ซึ่งมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ร่วมกับอินโดนีเซียได้ ประเด็นนี้อาจต้องหารือเพื่อลงนามสัญญาระหว่างประเทศกำกับ เพราะหากขายสินค้าในอินโดนีเซียได้ ก็ขายกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งมีตลาดใหญ่กว่าได้เช่นกัน
อินโดนีเซียมีนโยบายปกป้องธุรกิจและผู้ประกอบการในประเทศ นักลงทุนจึงเข้ามาตีตลาดได้ยาก หากจะตั้งโรงงานต้องทำ Joint Venture
จุดแข็งอินโดนีเซียปกป้อง ‘อุตสาหกรรมในประเทศ’
รุ้งเพชรบอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า อย่างที่ระบุข้างต้นว่าอินโดนีเซียจะปกป้องธุรกิจในประเทศมาก ซึ่งน่าสนใจมากว่าอินโดนีเซียมีกระทรวงนวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs อินโดนีเซียจึงแข็งแกร่ง และนี่คือจุดแข็งของเขา หมายความว่าการที่อินโดนีเซียมีนโยบายปกป้องธุรกิจและผู้ประกอบการในประเทศของตัวเองนั้น สามารถสกัดสินค้าต่างชาติ หรือนักลงทุนจะเข้ามาตีตลาดได้ยาก
“เห็นได้จากนโยบายล่าสุดที่รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 200% เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ต้องบอกว่าภาครัฐของอินโดนีเซียไม่ได้ปิดประตูตายไม่ต้อนรับทุนต่างชาติเสียทีเดียว การมีกระทรวงที่พัฒนาธุรกิจการค้าที่ทำงานร่วมกันกับ SME ท้องถิ่น ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเติบโตแบบยั่งยืน
“นี่คือจุดแข็งของประเทศนี้ เป็นประเทศที่ปกป้อง Domestic Market อุตสาหกรรมภายในประเทศ คุณจะมาตั้งโรงงานเลยไม่ได้ ทางเดียวคือคุณต้องผ่านเงื่อนไขกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ร่วมลงทุนกับคนในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น เขาต้อนรับทุกคนก็จริง แต่เงื่อนไขต้องเป็นการร่วมทุนเพื่อปกป้องธุรกิจ SME ด้วย”
ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาคือ ขณะนี้เห็นการลงทุน FDI ที่สนใจลงทุนในหลายอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียต่อเนื่อง นับเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารก็คิดเป็น 6.9% ของ GDP หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดก็มีบริษัทระดับโลกทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ทั้งร่วมทุนตั้งโรงงานและรับจ้างผลิต เศรษฐกิจอินโดนีเซียจึงมาแรง โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่มีเสน่ห์ หลากหลาย และน่าสนใจ
อินโดนีเซียมีตลาดอาหารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย
ขณะที่ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารในเอเชียมีตลาดใหญ่ คือ อันดับ 1. จีน 2. อินโดนีเซีย 3. ไทย และหากเปรียบเทียบในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซียถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และนำหน้าประเทศไทยไปในหลายๆ ประการ
แม้ว่าวัตถุดิบการผลิตอาหารจะคล้ายกัน แต่การผลิตและส่งออกของอินโดนีเซียสูงกว่า เช่น มะพร้าวที่นำไปทำกะทิ บางครั้งประเทศไทยต้องนำเข้าจากอินโดนีเซียและนำไปแปรรูปในช่วงผลผลิตขาดแคลน โดยจำกัดปริมาณการนำเข้าประมาณ 1-2 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกรในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็ยังมีโอกาสบุกตลาดอินโดนีเซียในด้านอาหารฮาลาล แต่มาตรฐานฮาลาลของไทยกับมาตรฐานฮาลาลของอินโดนีเซียยังไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ จุดนี้ถือเป็นอุปสรรคที่ใหญ่พอสมควร ‘แต่ยิ่งยาก ยิ่งเป็นโอกาส’
โดยไทยจะเน้นมุ่งส่งออกอาหารไปที่จีน อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี โซนอาเซียน และยุโรป ฉะนั้นการเข้าไปตลาดอินโดนีเซียจะทำได้มากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย เพราะรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการเจรจาการค้า (FTA) และการโปรโมตสินค้า
วิศิษฐ์มองว่า ปัจจุบัน Future Food หรืออาหารอนาคต ถือเป็นกลุ่มอาหารที่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยก็ร่วมมือกันพัฒนาหลายด้าน ตั้งแต่งานวิจัยและนวัตกรรมที่จะนำไปต่อยอดให้ประสบความสำเร็จ
โดยเฉพาะในแง่มุมด้านการผลิตถือว่าโดดเด่นไม่แพ้ใคร อาจมีส่วนผสมบางอย่างที่ยังขาดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่น รสชาติ หรือฟังก์ชัน ทำให้อาหารแข็งตัว คงตัว ยืดหยุ่น ที่เรียกว่า ‘Food Ingredient’ ในจุดนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยไปยังตลาดโลกได้
อาหารแห่งอนาคตเป็นอาหารดาวรุ่งของโลก
โดยไทยส่งออกสินค้ากลุ่ม Functional Food มากที่สุดสัดส่วน 90% เติบโต 19% มูลค่ากว่า 1.23 แสนล้านบาท รองลงมาคือ Alternative Protein สัดส่วน 4.5% เติบโต 9% คาดการณ์ว่าเป้าหมายมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทยในปี 2027 จะสูงถึง 5 แสนล้านบาท
“แม้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ภาพรวมของอาหารแห่งอนาคตในปีนี้ไม่หวือหวา แต่ต้องบอกว่าอาหารแห่งอนาคตเป็นอาหารดาวรุ่งของโลกและไทย”
อุตสาหกรรมอาหารไทยมีการแข่งขันสูง เนื่องจากสินค้าอาหารที่เป็นรูปแบบเดิมส่วนใหญ่จะอยู่ในสังคมชุมชน ทำให้ต้องผลิตมากขึ้นเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ ในขณะที่อาหารแห่งอนาคตจะตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ แต่การแข่งขันยังไม่รุนแรง แต่มาในรูปแบบแตกย่อย
ดังนั้น แม้ไทยจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอาหาร แต่กลับนำเข้า Food Ingredient มากถึง 3 หมื่นล้านบาท เช่น สารสกัดพืชสมุนไพร สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติ แร่ธาตุ วิตามิน และกรดอะมิโนที่สามารถลงลึกไปถึงหน่วยย่อยของร่างกาย ส่วนการส่งออกมีมูลค่าเพียง 6.5 พันล้านบาท
“วัตถุดิบเหล่านี้เรายังสามารถพัฒนาได้อีกเยอะ และยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะวิธีการผลิตบางอย่างเรายังทำไม่ได้มากนัก ขณะเดียวกันผู้ผลิตอาหารในหลายประเทศมักมีคู่ค้าที่คอยซื้อวัตถุดิบกันอยู่แล้ว หากเราพัฒนาได้จะเปิดตลาดส่งออกได้มากขึ้น อย่างเช่นที่นี่ อินโดนีเซีย” วิศิษฐ์กล่าว
นี่เป็นเพียงอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น ยังไม่นับการลงทุนด้านอื่นๆ ทั้ง EV, เหมือง, ปิโตรเคมี, สตาร์ทอัพ และอีคอมเมิร์ซ ที่นับวันยิ่งเห็นการรุดหน้าพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งนับเป็นจุดเด่นที่ทำให้อินโดนีเซียก้าวไปข้างหน้า
โดยรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า อินโดนีเซียจะพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (High-Income Country) ภายในปี 2045 แม้ต้องเผชิญเหตุการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลกและปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ แต่อินโดนีเซียยังคงแสดงความแข็งแกร่ง และแสดงความพร้อมที่จะนำทัพภูมิภาคอาเซียนอย่างโดดเด่นและมีพลวัตบนเวทีเศรษฐกิจโลก
อ้างอิง: