×

มือชา อาการเตือนจากพังผืดข้อมือ รู้ทัน รักษาได้

21.09.2024
  • LOADING...

มือชา ในวัยทำงานเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยมากขึ้นกับคนทุกสาขาอาชีพ บางครั้งไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่ทำให้เกิดความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก สาเหตุของอาการมือชามีมากมาย ตั้งแต่อาการกล้ามเนื้อบ่าสะบักตึงตัว ปลายประสาทอักเสบ ไปจนถึงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นต้น อีกสาเหตุที่มักถูกพูดถึงบ่อยๆ ก็คืออาการมือชาจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นโรคที่ไม่น่ากลัวและสามารถป้องกันด้วยตัวเองได้ไม่ยาก หมอจะพาผู้อ่านไปสำรวจสัญญาณเตือนให้รู้เท่าทัน เพื่อที่จะป้องกันและรักษาได้

 


 

สาเหตุการเกิดโรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท

 

ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ในบริเวณข้อมือของมนุษย์จะมีเนื้อเยื่อ Fibrous Tissue (ในภาษาไทยเรียกว่าเนื้อเยื่อพังผืด) ล้อมหุ้มรอบบริเวณข้อมือ เพื่อเป็นท่อให้โครงสร้างต่างๆ ในแขนส่วนปลายจัดเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบก่อนวิ่งเข้าสู่มือ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือด เส้นเอ็นของนิ้วมือ และเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือฝั่งนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง และยังทำหน้าที่เลี้ยงกล้ามเนื้อกางยกนิ้วโป้งขนาดเล็ก (Abductor Pollicis Brevis Muscle) ที่อยู่บริเวณแก้มโคนนิ้วโป้งของเรา

 

เนื้อเยื่อพังผืดรอบข้อมือนี้จะทอดขวางข้อมือเป็นวงรอบข้อมือคล้ายสายนาฬิกา จึงถูกเรียกว่าเป็นอุโมงค์ข้อมือ เมื่อเนื้อเยื่อพังผืดนี้หนาตัวขึ้นจากการอักเสบหรือการเสียดสี ก็จะรัดเส้นเอ็น หลอดเลือด และเส้นประสาทมีเดียน ที่ทอดผ่านอุโมงค์นั้น ทำให้ปลอกประสาทของเส้นประสาทมีเดียนค่อยๆ เสื่อมลงจนทำให้เกิดอาการชามือได้ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Carpal Tunnel Syndrome หรือกลุ่มอาการจากอุโมงค์ข้อมือนั่นเอง

 

อาการของพังผืดข้อมือ หรืออุโมงค์ข้อมือทับเส้นประสาท

 

อาการเด่นที่สุดของโรคนี้คืออาการชาบริเวณฝ่ามือฝั่งนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง แต่ในบางครั้งก็พบอาการชาทั้งมือได้เช่นกัน อาการชานั้นมักเป็นลักษณะของการรับสัมผัสได้เบากว่าปกติ หรือจะเป็นความแสบยิบๆ ก็ได้ มักเกิดขึ้นหลังตื่นนอน หรือหลังจากอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในท่าพับหักข้อมือ (เช่น การพนมมือ การใช้เมาส์แบบหักข้อมือตั้งขึ้น ฯลฯ) อาการชามักจะหายไปหากขยับหรือสะบัดข้อมือ หรือการเปลี่ยนท่าการใช้ข้อมือก็เช่นกัน

 

เมื่อโรคดำเนินจนเป็นมากขึ้น อาการชาจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ร่วมกับพบว่ากล้ามเนื้อแก้มโคนนิ้วโป้งฝ่อลีบลง ซึ่งจะสังเกตได้จากกล้ามเนื้อบริเวณนั้นไม่เต่งตึงเท่าปกติและมีร่องของผิวหนังฝ่ามือที่ชัดเป็นริ้วมากขึ้น หากปล่อยไว้นานจะทำให้กล้ามเนื้อนี้อ่อนแรง หยิบจับของหล่นง่าย ส่งผลให้ใช้งานมือได้แย่ลงในชีวิตประจำวัน

 

โรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาทพบได้ในใครบ้าง

 

โดยทั่วไปโรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาทนั้นพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่เพศหญิงมีอุโมงค์ข้อมือที่เล็กกว่า แต่ก็ยังพบว่ามีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้มากขึ้น ได้แก่

 

  1. การใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานที่ละเอียดและต้องใช้นิ้วมือมากๆ โดยเฉพาะงานฝีมือ ทำให้เอ็นนิ้วมือขยับมากและเสียดสีจนพังผืดอุโมงค์หนาตัวขึ้น, การใช้เมาส์โดยหักข้อมือตั้งขึ้นเป็นเวลาหลายปี ทำให้เกิดแรงกดทับที่พังผืดอุโมงค์ข้อมือเป็นเวลานาน, การใส่นาฬิกาที่รัดแน่นข้อมือมากเกินไปตลอดเวลาเป็นเวลานาน เป็นต้น
  2. โรคอ้วน ซึ่งจะมีไขมันปกคลุมที่ข้อมือค่อนข้างมาก ทำให้ในพังผืดอุโมงค์ข้อมือมีความดันสูงขึ้นและกดทับเส้นประสาทมีเดียนมากขึ้น
  3. ภาวะบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์
  4. ภาวะที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของรอบๆ ข้อมือ เช่น กระดูกข้อมือแตก หรือกระดูกมือและข้อมือผิดรูปจากโรคข้ออักเสบเรื้อรังบางชนิด เช่น รูมาตอยด์ ฯลฯ
  5. ภาวะทางอายุรกรรมอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการบวมน้ำ หรือปลายประสาทอักเสบ เช่น โรคไทรอยด์ โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้กระทั่งภาวะหมดประจำเดือน ก็สามารถทำให้พบโรคนี้ได้มากขึ้น

 

การรักษาและป้องกันการเกิดโรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท

 

เราสามารถป้องกันการเกิดโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทได้จากการใช้มือและข้อมืออย่างเหมาะสม พักการใช้มือ แต่หากเริ่มมีอาการแล้วไม่ได้รับการรักษา ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการชามากจนเจ็บปวด และกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อโคนนิ้วโป้ง (Abductor Pollicis Brevis) นี้เป็นหนึ่งในกล้ามเนื้อหลักที่ทำให้มือสามารถหยิบจับและกำของให้แน่นได้ ในทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มการรักษาตั้งแต่ยังมีอาการไม่มาก กล่าวคือ หากเริ่มมีอาการชามือที่สงสัยว่าเป็นอาการของพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท ก็ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผลการรักษาดี และไม่แย่ลงจนสูญเสียการทำงานของมือไป

 

การดูแลรักษาอาการมือชาจากพังผืดข้อมือทับเส้นประสาทด้วยตนเอง ได้แก่

 

  1. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท เช่น การใส่นาฬิกาหรือรัดข้อมือให้หลวมขึ้น การใช้เมาส์ที่ถูกหลักการยศาสตร์คือข้อมือตรง ไม่ใช้ข้อมือเป็นฐานในการขยับเมาส์ การพักการใช้ข้อมือและมือเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกับงานฝีมือ
  2. หากอาการยังเป็นไม่มาก สามารถแช่น้ำอุ่นวันละ 20 นาที เพื่อลดการอักเสบที่เกิดจากการกดทับหรือเสียดสีของเนื้อเยื่อพังผืดอุโมงค์ในแต่ละวัน รวมถึงการฝึกขยับนิ้วแบบ Tendon Gliding Exercise กำ-แบ เพื่อให้เส้นเอ็นขยับได้คล่อง ไม่เบียดกับเส้นประสาทมีเดียน
  3. หากดูแลรักษาด้วยตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยแยกกับโรคอื่นๆ ที่ทำให้มือชา เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

 

เมื่อพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการของโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท แนวทางการรักษาจะมีตั้งแต่การปรับการใช้งานข้อมือและการออกกำลังกายที่กล่าวไปแล้ว และยังมีการให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการชา การให้ยาเพื่อลดอาการชา โดยเริ่มจากการกินยา หากยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อรักษา ซึ่งมักจะทำให้อาการชาดีขึ้นได้เร็ว หากอาการยังไม่ดีขึ้น การรักษาอื่นๆ ก็คือการผ่าตัดขยายพังผืดอุโมงค์ให้กว้างขึ้น

 

ในทุกการรักษานั้นสามารถทำให้อาการมือชาหายไป และช่วยป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อโคนนิ้วโป้งฝ่อลีบได้ แต่หากยังใช้งานข้อมือในแบบที่เป็นความเสี่ยงอยู่ อาการก็จะกลับมาไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้นการใช้งานมือและข้อมืออย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการจัดการอาการชามือจากสาเหตุนี้ให้ยั่งยืนได้

 

สรุปว่าอาการชามือจากโรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาทนั้นเกิดจากการสะสมการใช้งานซ้ำๆ หรือการใช้งานผิดวิธีเป็นเวลานาน ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็จะสามารถสร้างความรำคาญและส่งผลกระทบกับการใช้งานมือได้ในอนาคต ทั้งนี้การใช้งานมืออย่างถูกวิธีและพักกิจกรรมที่ใช้มือเป็นประจำ จะสามารถป้องกันการเกิดโรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาทได้ดีที่สุด

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X