‘เงินบาทแข็ง’ เป็นประเด็นที่ทำให้นักลงทุนไทยปวดหัวหนักในช่วงนี้
แม้ในทางทฤษฎี ทิศทางของเงินบาทจะเป็นบวกกับความมั่งคั่งของคนไทยโดยรวม แต่หลายคนนำเงินลงทุนไปต่างประเทศแล้วช่วงนี้จึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนนักลงทุนที่ยังไม่ได้นำเงินออกไปก็เกิดความกังวลเรื่องจังหวะการลงทุน ว่าเงินบาทจะแข็งไปกว่านี้ไหม
ผมจึงชวนวิเคราะห์แนวโน้มเงินบาทแข็งที่กำลังเกิดขึ้นและอนาคต เพื่อประเมินกลยุทธ์การลงทุนไปพร้อมกับทุกท่าน
เริ่มแรกมองไปที่ตัวแปรและเหตุผลหลักที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าก่อน สาเหตุหลักมีด้วยกัน 3 เรื่อง
หนึ่งคือนโยบายการเงินสหรัฐฯ กลับทิศ กดดันให้ยีลด์ปรับตัวลง ส่วนต่างยีลด์ต่ำ เงินลงทุนไหลสู่ตลาดเกิดใหม่
ประเด็นนี้มีผลกับเงินบาทก่อนหน้านี้แน่นอน เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยพลิกกลับช่วงเวลาเดียวกับเงินบาทแข็งค่า
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าผลกระทบของความคาดหวังนี้เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว ยีลด์สหรัฐฯ ที่เคยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดราว 4.9% ปลายเดือนตุลาคมปีก่อน ลดลง 130 bps เหลือเพียง 3.6% ในปัจจุบัน
และไม่ใช่แค่ยีลด์สหรัฐฯ ลดลงเร็ว บอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปีก็ลดลงจาก 3.4% มาที่ 2.5% คิดเป็นการปรับลง 90 bps ในช่วงเดียวกัน ส่วนต่างของยีลด์จึงแคบลงก่อนที่ Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายน
ทางทฤษฎี การลดดอกเบี้ยควรกดดันดอลลาร์ให้อ่อนค่า แต่เมื่อยีลด์ลดลงก่อนก็เปรียบเสมือนตลาดรับรู้แนวโน้มดอกเบี้ยและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปแล้ว
ผมเชื่อว่าเมื่อไรที่ Fed ให้ความชัดเจนเรื่องเป้าหมายดอกเบี้ยที่ต้องการ จังหวะนั้นจะเป็นจุดสิ้นสุดของแนวโน้มบาทแข็งจากนโยบายการเงิน
ในทางกลับกัน โอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่ากลับจะเกิดขึ้นบ้างเมื่อ ธปท. ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยบ้าง
สองคือทิศทางของเงินดอลลาร์และมุมมองนักลงทุนต่อการลงทุนทั่วโลกและไทย ประเด็นนี้อนาคตเป็นได้ทั้งบวกและลบ
มองจากจุดกลับตัวที่บาทพลิกแข็งค่า นอกจากนโยบายการเงินก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนให้เห็นทั้งฝั่งสหรัฐฯ และไทย
เริ่มที่สหรัฐฯ ธีม AI ที่ช่วยหนุนตลาดมาตลอดครึ่งปีแรกเริ่มไม่สามารถสร้างเซอร์ไพรส์ได้ ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เผยแนวโน้มชะลอตัวให้เห็น
ขณะเดียวกันกับที่ฝั่งการเมือง พรรคเดโมแครตตีตื้นขึ้นมาได้ ทำให้โอกาสการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ลดลง คลายความเสี่ยงสงครามการค้าเต็มรูปแบบ
ส่วนฝั่งไทย ก่อนหน้านี้การเมืองในประเทศผันผวนมาก เงินทุนไหลออก ล่าสุดเมื่อมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีความเสี่ยงเหล่านี้จึงหายไป พอดีกับที่ดอลลาร์เริ่มอ่อนเงินทุนจึงไหลเข้าเงินบาทอย่างรวดเร็ว
สุดท้ายแนวโน้มทองคำขาขึ้นสามารถหนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง
แม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 เราจะไม่ได้เห็นความสัมพันธ์ของทองคำและเงินบาทมากนัก เพราะราคาทองคำปรับตัวขึ้นไม่หยุด ขณะที่เงินบาทเพิ่งมาแข็งช่วงนี้
แต่มองด้านโครงสร้างการส่งออกของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทองคำ (ไม่นับรวมทุนสำรองระหว่างประเทศ) กลายเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักที่มีสัดส่วนราว 1% ต่อ GDP มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านปกติที่การค้าทองคำมีสัดส่วนเพียงราว 0.1-0.2%
ด้วยโครงสร้างนี้ เงินบาทและทองคำจะเคลื่อนไหวไปในทิศเดียวกัน เพราะในช่วงทองคำขาลง นักลงทุนในประเทศจะซื้อดอลลาร์ไปซื้อทองดันให้บาทอ่อน เมื่อทองคำเป็นขาขึ้นจะมีแรงขายทำกำไรและซื้อเงินบาทกลับ จากความสัมพันธ์ในอดีต เมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้น 5% เงินบาทจะแข็งค่าลงราว 1%
ช่วงปีที่ผ่านมาเป็นคนละเหตุผล เพราะมีทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เข้มงวดผิดปกติ หรือแรงซื้อทองมาจากธนาคารกลาง หรือการเมืองไทยไม่นิ่ง
แต่เมื่อเหตุการณ์ข้างต้นกลายเป็นอดีตไปหมดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาทและทองคำจะกลับมาเป็นบวกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
เมื่อนำทั้ง 3 ตัวแปรมาประเมินพร้อมกัน ผมมองว่าจะได้แนวโน้มเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่ามากกว่าอ่อนค่า ช่วงท้ายปี 2024 ถึงปี 2025
สำหรับใครที่อยากเห็นบาทอ่อน กรอบที่ควรมองหาคือช่วง 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย ตลาด Risk Off ทองไม่ลง พร้อมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง
แต่กรณีฐานของผม คือดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะลดลงเหลือ 3.50% เศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing และ คามาลา แฮร์ริส ชนะเลือกตั้ง
คาดว่าจะเห็น Dollar Index อ่อนค่าลง 2-5% หนุนราคาทองคำเป็นขาขึ้นต่อ กดให้เงินบาทแข็งค่าในกรอบ 31.7-32.3 บาทต่อดอลลาร์ในปีหน้า
ส่วนใครที่รอบาทแข็ง ให้จับตาไปที่กรณีแฮร์ริสและเดโมแครตชนะเลือกตั้งทั้งหมด พร้อมกับ Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่า 3.5% อาจได้กลับไปเห็นระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์เหมือนก่อนวิกฤตโควิด
สำหรับนักลงทุน ผมมองว่าเงินบาทแข็งควรเป็นโอกาสการลงทุนมากกว่าความเสี่ยง และถ้าไม่อยากเสี่ยงก็คุ้มที่จะมองหาการลงทุนหรือเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเตรียมไว้ให้พร้อมตั้งแต่ตอนนี้ครับ