×

อ่านไฟลิ่ง SkillLane สตาร์ทอัพ EdTech ไทย ยื่นไฟลิ่ง IPO กับ 8 ข้อที่นักลงทุนควรรู้

19.09.2024
  • LOADING...

บริษัท สกิลเลน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์สัญชาติไทย ประกาศยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)

 

มีอะไรที่นักลงทุนควรรู้บ้าง? THE STANDARD WEALTH สรุปข้อมูลสำคัญจากเอกสารไฟลิ่งออกมาทั้งหมด 8 ข้อ เพื่อให้ทุกคนรู้จัก SkillLane มากยิ่งขึ้น ดังนี้

 

1. ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์แบบครบวงจร

 

SkillLane เป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษา (Education Technology: EdTech) สัญชาติไทย ให้ผู้เรียนสามารถเรียนออนไลน์ได้แบบครบวงจรตามความต้องการของผู้เรียน ปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีคอร์สเรียนมากกว่า 3,900 คอร์ส ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา

 

บริการของแพลตฟอร์มออนไลน์จาก SkillLane ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าหลักๆ 3 กลุ่ม ได้แก่

 

  • กลุ่มคนทั่วไปที่อยากอัปสกิลตนเอง (SkillLane for Public)
  • กลุ่มลูกค้าองค์กรที่อยากพัฒนาทักษะของพนักงานภายใน (SkillLane for Business)
  • กลุ่มคนที่ต้องการศึกษาปริญญา แต่มีข้อจำกัดด้านเวลาและการเดินทาง (SkillLane for Online Degrees) โดยปัจจุบันบริษัทร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับหลักสูตรปริญญาโทภายใต้โครงการ TUXSA

 

นอกจากนี้บริษัทยังทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา (SkillLane Innovation) ที่พัฒนานวัตกรรมระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ของผู้ใช้งาน ได้แก่ การพัฒนาแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับการเรียนรู้

 

2. ข้อมูลแผนการขาย IPO

 

แม้ราคาเสนอขายหุ้นและมูลค่าการเสนอขายจะยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่เอกสารไฟลิ่งระบุว่า บริษัทเตรียมจะเสนอขายหุ้นจำนวน 15,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังการเสนอขาย

 

3. ตัวเลขการเติบโตใน 4 ปีที่ผ่านมา

 

SkillLane สามารถสร้างรายได้ให้เติบโตขึ้นใน 3 ปีที่ผ่านมา ดังนี้ 211.77 ล้านบาท (ปี 2564), 221.04 ล้านบาท (ปี 2565), 236.58 ล้านบาท (ปี 2566) และในครึ่งแรกของปี 2567 บริษัททำรายได้ไปแล้ว 157.34 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ราว 35%

 

ในขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทคิดเป็นจำนวน 16.4 ล้านบาท (ปี 2564), 24.14 ล้านบาท (ปี 2565) 30.7 ล้านบาท (ปี 2566) และครึ่งแรกของปี 2567 บริษัททำกำไรขั้นต้นได้ 18.2 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.37 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2566

 

4. ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ

 

แม้ว่าบริษัทจะเจอกับการลดลงของรายได้ในกลุ่มลูกค้าบุคคลทั่วไป (SkillLane for Public) ไปบ้างเล็กน้อย แต่การเติบโตจากบริการการพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (Continuing Professional Development) ก็ยังคงเติบโตต่อได้ โดยผู้ใช้บริการบางกลุ่มได้ปรับพฤติกรรมตัวเองให้คุ้นชินกับการอบรมออนไลน์เพื่อเก็บชั่วโมง และเพื่อขอรับ และ/หรือขอต่อใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นกว่า

 

นอกจากนี้ลูกค้ากลุ่มธุรกิจก็สร้างรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มขึ้น จากการที่บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรในองค์กรมากขึ้น โดยที่พนักงานสามารถจัดสรรเวลาการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของ SkillLane มาจากเทรนด์การยอมรับปริญญาออนไลน์มากขึ้น ผู้เรียนได้ความสะดวก และหลักสูตรให้ความรู้ที่เท่าทันความต้องการด้านแรงงานในปัจจุบัน

 

5. วัตถุประสงค์การใช้เงิน

 

แผนการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปมีทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่

 

  • ใช้พัฒนาแพลตฟอร์มของบริษัท และพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)
  • ใช้ขยายบริการของหน่วยธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา (SkillLane Innovation)
  • ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

 

6. นโยบายการจ่ายเงินปันผล

 

บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ และหลังหักเงินสำรองต่างๆ

 

7. ความเสี่ยงของธุรกิจ

 

ตามข้อมูลในเอกสารไฟลิ่ง บริษัทมีปัจจัยความเสี่ยงเชิงธุรกิจหลายด้าน เช่น

 

  • การพึ่งพิงระบบเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ
  • ความปลอดภัยของข้อมูลและภัยคุกคามไซเบอร์
  • การวางจำหน่ายคอร์สเรียนออนไลน์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และ/หรือมีเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพและไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มของบริษัท
  • การถูกละเมิดลิขสิทธิ์ และ/หรือทรัพย์สินทางปัญญาของคอร์สเรียนออนไลน์
  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ
  • ความไม่แน่นอนในการขยายธุรกิจและการดำเนินธุรกิจใหม่
  • สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่อาจเปลี่ยนแปลงได้

 

8. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลัง IPO

 

กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SkillLane หลังการขาย IPO 5 อันดับแรก ได้แก่

 

  • กลุ่มครอบครัวพิสิฐวุฒินันท์ ถือรวม 23.73 ล้านหุ้น คิดเป็น 23.73%
  • กลุ่มครอบครัวอัศวรุจิกุล ถือรวม 22.78 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.78%
  • กลุ่มครอบครัวโอสถานุเคราะห์ ถือรวม 14.27 ล้านหุ้น คิดเป็น 14.27%
  • อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ถือรวม 7.22 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.22%
  • โรเบิร์ต อี คาลาเบร็ตต้า ถือรวม 4.71 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.71%

 

โดยประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะถือครอง 15 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 15% ของหุ้นทั้งหมด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising