ชวนดู ‘ดอกไม้ไฟ’ จากบรรดาดวงดาวเยาว์วัย ณ ชายขอบทางช้างเผือก ในภาพถ่ายล่าสุดจากกล้องเจมส์ เว็บบ์
นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ถ่ายภาพกระจุกดาวฤกษ์เกิดใหม่ในบริเวณชายขอบกาแล็กซีทางช้างเผือก เพื่อศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในอวกาศที่แตกต่างกัน
ภาพถ่ายดังกล่าวเผยให้เห็นพื้นที่เมฆโมเลกุล Digel Cloud 2S ที่ประกอบด้วยกระจุกดาวฤกษ์อายุน้อยจำนวนมาก ด้วยรายละเอียดสุดคมชัด จากการใช้อุปกรณ์ NIRCam บันทึกภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ และอุปกรณ์ MIRI ในช่วงอินฟราเรดกลาง
Digel Cloud 2S อยู่ห่างจากใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก 58,000 ปีแสง และห่างจากโลกไปประมาณ 40,000 ปีแสง ทำให้ถูกเรียกว่าเป็นบริเวณชายขอบของกาแล็กซี (เพื่อเทียบให้เห็นภาพ โลกและระบบสุริยะอยู่ห่างจากใจกลางทางช้างเผือกประมาณ 26,000 ปีแสง)
บริเวณดังกล่าวมีธาตุที่หนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียมค่อนข้างน้อย คล้ายคลึงกับยุคแรกเริ่มของกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งการศึกษาบริเวณ Digel Cloud 2S เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ในชายขอบของทางช้างเผือก ช่วยให้นักดาราศาสตร์ทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของดาวฤกษ์ประเภทต่างๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในบริเวณต่างกันในกาแล็กซีได้เพิ่มเติม
ข้อมูลจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ ช่วยให้นักดาราศาสตร์พบเจ็ตของวัตถุต่างๆ ที่พุ่งออกจากขั้วดาวฤกษ์หลายดวงอย่างรวดเร็ว และเป็นการยืนยันว่ามีกระจุกดาวขนาดเล็กซ่อนอยู่ ณ มุมขวาบนของกระจุกดาวหลักเป็นครั้งแรก
นักดาราศาสตร์เตรียมศึกษาพื้นที่ชายขอบของระบบสุริยะเพิ่มเติม เพื่อเข้าใจถึงความหลากหลายของดาวฤกษ์ในบริเวณต่างกัน เช่นเดียวกับไขปริศนาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ ผ่านการมองย้อนไปดูดาวฤกษ์ที่กำลังถือกำเนิดขึ้นมา ด้วยอุปกรณ์และกล้องโทรทรรศน์ต่างๆ จากบนโลก
ภาพ: NASA / ESA / CSA / STScI / M. Ressler
อ้างอิง: