วันนี้ (15 มิ.ย. 61) เวลา 11.00 น. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอตามมาตรา 28 (9) แห่งพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติต่อที่ประชุมว่า 20 ปีเป็นตัวเลขที่ใช้ในหลายประเทศ แต่แนวคิดของรัฐบาลคือ ช่วงอายุของคนคนหนึ่ง โดยสมมติถ้าเด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นในปีนี้ก็จะเติบโตไปกับความเจริญตามยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อถึงวัยที่บรรลุนิติภาระ เด็กคนนี้ก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ทั้งนี้ช่วงเวลา 20 ปี ถูกวิจารณ์ว่านานจนไม่ดูเหตุการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กฎหมายกำหนดไว้แล้วว่าต้องทบทวนทุก 5 ปี และเปิดช่องให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอปรับปรุงแก้ไข ผ่านการเสนอ ครม. และรัฐสภาตามลำดับ ยืนยันว่าไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลใหม่ในอนาคตจนทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่ถ้ายุทธศาสตร์ชาตินี้ยังอยู่ ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามก็ต้องแก้ไขเสียก่อน
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ และมีกฎหมายลูกรองรับ ซึ่งจะผูกมัดรัฐบาลในการแถลงนโยบายต่อสภา โดยรัฐบาลทุกคณะต่อจากนี้ต้องแถลงนโยบายโดยคำนึงว่าต้องไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ ถ้ายุทธศาสตร์ชาติกำหนดว่าเรื่องนั้นต้องทำอย่างไร รัฐบาลจะแถลงในทางตรงข้ามไม่ได้
นอกจากนี้ยังผูกพันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งแผนพัฒนาต่าง ๆ
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง และสิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลใหม่จะเสนอโครงการใหม่ และยกเลิกโครงการที่มีอยู่แล้ว ทำให้ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว
ยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาการมีรัฐบาลระยะสั้นๆ ซึ่งทุกคนมักทำตามนโยบายตัวเองและยกเลิกนโยบายเก่า ขณะที่ในต่างประเทศนั้น ฝรั่งเศสมีแผน 10 ปี สิงคโปร์มีแผน 20 ปี ส่วนมาเลเซียก็มีแผนพาประเทศสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
สำหรับการอภิปรายของ สนช. นั้นทุกคนล้วนเห็นด้วยและชื่นชมการมียุทธศาสตร์ชาติ โดยมีสมาชิกร่วมอภิปรายในประเด็นต่างๆ จำนวน 13 คน สนับสนุนให้มียุทธศาสตร์ชาติเพราะเปรียบเสมือนหางเสือในการขับเคลื่อนประเทศ ส่วนการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านนั้นมีความครอบคลุม
แต่มีประเด็นที่สมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตคือ ตัวชี้วัดของแต่ละด้านยังไม่มีความชัดเจน และการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้กว้างอาจทำให้ปฏิบัติได้ง่าย แต่อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากนั้นที่ประชุม สนช. ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ 38 คน ศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมกำหนดเวลาพิจารณาภายใน 22 วันนับตั้งแต่วันนี้ และต้องส่งรายงานให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนวันที่ 7 ก.ค. นี้