×

รวมนโยบายเศรษฐกิจ ทรัมป์ vs. แฮร์ริส ในดีเบตครั้งแรก! ใครพูดถึงข้อมูลเศรษฐกิจถูก-ผิดแค่ไหน?

11.09.2024
  • LOADING...
นโยบายเศรษฐกิจ ทรัมป์ แฮร์ริส

นักลงทุนเฝ้าจับตาการโต้วาทีระหว่างสองผู้สมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อช่วงค่ำของวันอังคารที่ 10 กันยายน ตามเวลาสหรัฐอเมริกา อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน และ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคเดโมแครต เพื่อจับตาแนวโน้มและความชัดเจนของนโยบายทั้งสองฝ่าย โดยหลังการโต้วาทีเสร็จสิ้นลง ตลาดจะขยับตัวให้น้ำหนักไปทางฝั่งของแฮร์ริส

 

ในการโต้วาทีที่ดุเดือดนี้ ทรัมป์และแฮร์ริสถกกันอย่างดุเดือดในทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจไปจนถึงการตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งคดีความของทรัมป์ด้วย

 

โดยทั้งสองฝ่ายมีการพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจหลายด้าน ตั้งแต่ภาษีศุลกากร, ภาษีนิติบุคคล, อัตราเงินเฟ้อ และข้อเสนอเกี่ยวกับพลังงาน เป็นต้น 

 

หลังจบการดีเบต ผู้ชมบางส่วนมองว่าแฮร์ริสทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดไว้ และอาจทำให้สินทรัพย์บางประเภทเริ่มแกว่งตัวไปในทิศทางที่อิงไปกับการที่แฮร์ริสจะได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

 

อีริก บีย์ริช ผู้จัดการกองทุนของ Sound Income Strategies มองว่า​ “ทั้งคู่ไม่สามารถชูจุดแข็งในมุมมองของภาคเศรษฐกิจได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสทำผลงานออกมาได้ดีกว่าทรัมป์ในจุดนี้” และกล่าวต่อว่า “ตลาดไม่ต้องการวาทกรรมที่คมเท่ แต่ต้องการความชัดเจน”

 

สำนักข่าว Reuters เปิดเผยว่า หลังจบการดีเบต ผลสำรวจออนไลน์ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า โอกาสชนะของแฮร์ริสเพิ่มขึ้นเป็น 56% จาก 53% ขณะที่โอกาสของทรัมป์ตกลงไปที่ 48% จาก 52%

 

สินทรัพย์ต่างๆ ตอบรับอย่างไรหลังจบการดีเบต

 

ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากตลาด Futures ค่อยๆ กลับมาทรงตัว หลังจากที่การโต้วาทีได้เริ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (Dollar Index) ก็ปรับตัวลดลง 0.2%

 

ด้านค่าเงินหยวน ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกกดดันหนักในช่วงสงครามการค้าสมัยยุคทรัมป์เป็นประธานาธิบดี กลับแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์

 

โซนู วาร์แกส นักกลยุทธ์ภาคเศรษฐศาสตร์มหภาคจาก Carson Group กล่าวว่า “ผมคิดว่าการดีเบตครั้งนี้จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากจำนวนฐานเสียงของทั้งสองฝ่ายต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” และกล่าวต่อว่า “ผลชี้วัดเดียวในตอนนี้ที่สามารถสรุปได้คือ แฮร์ริสกำลังทำผลงานได้ดีกว่าที่โพลต่างๆ คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันยังเป็นไปอย่างสูสีมาก”

 

แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางส่วนที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในผลโพลเพียงเล็กน้อยจะสามารถชี้ผลแพ้-ชนะของการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ เมื่อเทียบผลสำรวจของ The New York Times จะพบว่า ผู้สมัครทั้งสองคนมีผลโพลที่ใกล้เคียงกันมากถึง 7 รัฐสำคัญ (Battleground States) เพราะฉะนั้นในท้ายที่สุดแล้วผลแพ้-ชนะอาจตัดสินกันเพียงแค่เสียงโหวตเพียงหลักหมื่นเท่านั้นในบางรัฐสำคัญ

 

รวมนโยบายเศรษฐกิจ ทรัมป์ vs. แฮร์ริส ในศึกดีเบตครั้งแรก!

 

ทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะลดภาษีนิติบุคคลและตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมองว่าการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่านักวิเคราะห์บางส่วนจะมองว่านโยบายของทรัมป์อาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และทำให้ดอลลาร์แข็งค่าก็ตาม

 

ขณะที่แฮร์ริสประกาศแผนนโยบายในเดือนที่ผ่านมาว่า จะปรับอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 21% เป็น 28% ซึ่งนโยบายนี้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนบางกลุ่มว่าอาจกระทบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ

 

ตรวจสอบความจริง! ทรัมป์และแฮร์ริสพูดถึงข้อมูลเศรษฐกิจถูกต้องมากแค่ไหน? 

 

ภาษีนำเข้า

 

แฮร์ริสอ้างถึงข้อเสนอของทรัมป์เกี่ยวกับภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจากต่างประเทศว่าเป็น ‘ภาษีการค้าของทรัมป์’ (Trump Sales Tax) โดยกล่าวว่า สุดท้ายแล้ว ครอบครัวชนชั้นกลางจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากมาตรการนี้

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะบังคับใช้ภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด 10% และเพิ่มภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่ผลิตในจีนเป็น 60% หรือมากกว่านั้น ซึ่งจะสร้างรายได้ให้สหรัฐฯ ได้หลายล้านล้านดอลลาร์

 

สอดคล้องกับบรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่กล่าวว่า ในที่สุดแล้วชาวอเมริกันจะต้องจ่ายต้นทุนที่สูงขึ้น และมาตรการดังกล่าวอาจจุดชนวนเงินเฟ้ออีกครั้ง

 

กระนั้นทรัมป์ก็ยังตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนยังคงใช้มาตรการภาษีส่วนใหญ่ที่เขากำหนดไว้อยู่ โดยคำกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องจริง เนื่องจากฝ่ายบริหารของไบเดนกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า จะคงมาตรการภาษีต่างๆ ไว้ และอาจเพิ่มมาตรการภาษีเพิ่มด้วย

 

การจ้างงาน

 

ทรัมป์อ้างว่า ในช่วงที่ตนเองดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ชาวอเมริกันสูญเสียงานเป็นผลโดยตรงจากการระบาดของโควิด แต่กล่าวว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนทำให้คนอเมริกันสูญเสียตำแหน่งงานในภาคการผลิตไป 10,000 ตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว

 

ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นเท็จ เนื่องจากจริงๆ แล้วในเดือนสิงหาคมเดือนเดียว มีการสูญเสียตำแหน่งงานในภาคการผลิตไป 24,000 ตำแหน่ง

 

เงินเฟ้อ

 

ทรัมป์กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ในช่วงที่ไบเดนดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องมีบริบทประกอบ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผู้บริโภคสะสมภายใต้การบริหารของไบเดนและแฮร์ริสน่าจะสูงกว่าประธานาธิบดีคนอื่นๆ นับตั้งแต่ จิมมี คาร์เตอร์

 

แต่นโยบายและข้อจำกัดด้านห่วงโซ่อุปทานในยุคของทรัมป์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อทั้งปีของสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022

 

ทรัมป์ยังกล่าวด้วยว่า ในยุคของเขาไม่มีภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นเท็จ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% เมื่อเขาดำรงตำแหน่ง และพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 2.9% ในปี 2018 หรือระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง และอยู่ที่ 1.4% เมื่อเขาออกจากตำแหน่ง

 

งบประมาณ

 

แฮร์ริสกล่าวว่า แผนงบประมาณของทรัมป์จะทำให้เกิดการขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยอ้างคำพูดของ The Wharton School of the University of Pennsylvania เนื่องจากแผนของทรัมป์จะเพิ่มการขาดดุลมากถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปี 

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและงบประมาณระบุว่า แผนของแฮร์ริสจะขยายการขาดดุลเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

โซนู วาร์แกส กล่าวอีกว่า ยังไม่เห็นนัยสำคัญอะไรในช่วงการถกกันเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ โดยนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองผู้สมัครไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และมองว่านโยบายเหล่านี้ที่จะได้เห็นในปีหน้านั้นต้องผ่านการกลั่นกรองและถูกปรับจากสภาล่างและสภาสูงของสหรัฐฯ ก่อน

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising