×

จับตาเศรษฐกิจก้าวข้ามสู่ยุคใหม่ ทั้งวงจรดอกเบี้ยโลกเข้าสู่ขาลง สหรัฐฯ เปลี่ยนผู้นำใหม่ ทำนโยบายเศรษฐกิจเปลี่ยน

11.09.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจ

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัย เศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า แนวโน้มภาพ เศรษฐกิจ และการลงทุนในไตรมาส 4 ปี 2024 มี 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1 เศรษฐกิจ โลกกำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ (Entering the new era) มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น โดยภาพรวมเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized Recovery) แต่เศรษฐกิจของฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะเริ่มมีภาพการผลิตที่ชะลอตัวลง ดังนั้นภาพเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะนำไปสู่ภาคการผลิตของเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตามหลังในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า

 

โลกเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง

 

ประเด็นที่ 2 สถานการณ์ของดอกเบี้ยโลกที่เปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งมีความชัดเจนว่าปัจจุบันธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเฉพาะธนาคารกลางชั้นนำขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 17-18 กันยายนนี้

 

อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) ปัจจุบันยังมีอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อของทั่วโลกกำลังมีทิศทางปรับลดลง ดังนั้นหาก Fed เริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้ธนาคารกลางในเอเชียปรับลดดอกเบี้ยลงตาม

 

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของ Fed คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยจากเดิม 2 ครั้ง เพิ่มเป็น 3 ครั้ง ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนหลังจากผลการประชุมออกมาในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ ซึ่งจะมีการคาดการณ์และข้อมูล Dot Plot ออกมา

 

พร้อมทั้งประเมินว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องอีกครั้งละ 0.25% ของการประชุมทุกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 โดยลดดอกเบี้ยได้จำนวน 6 ครั้ง รวมกันที่ 1.5%

 

“มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลงครั้งละ 0.50% เพราะอาจจะทำให้นักลงทุนกังวลว่า Fed เห็นข้อมูลอะไรที่นักลงทุนไม่รู้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะทำให้นักลงทุนทั่วไปรวมถึงภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ส่วนภาคประชาชนก็จะชะลอการบริโภคสินค้าขนาดใหญ่ตามไปด้วย”

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ จากเดิมที่คาดว่า Fed จะทยอยปรับลดดอกเบี้ยในทุกไตรมาส แม้ว่าปัจจุบันข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีทิศทางที่ดี แต่เริ่มมีสัญญาณชัดเจนว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ มีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นมาเกินระดับ 4.2% ชั่วคราวในช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2%

 

หากดูตัวเลขข้อมูลตำแหน่งการเปิดรับสมัครงานใหม่ ยังมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นหลังจากปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 8 ล้านตำแหน่ง จึงมีความเสี่ยงจะส่งผลกระทบให้อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นไประดับเกิน 4-4.2% หากทรงตัวเป็นระยะเวลายาวนานมีความเสี่ยงที่จะกดให้ตัวเลขดังกล่าวปรับลดลงมาได้ค่อนข้างยากลำบาก

 

จากภาพดังกล่าวที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ Fed จะต้องเร่งลดดอกเบี้ยในอัตราสูงขึ้นจากเดิม เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถดำเนินอยู่ได้และไม่มีความจำเป็นในการเลิกจ้างหรือปลดพนักงานมากเกินไป

 

การเมืองสหรัฐฯ เปลี่ยน ยุคหลังเลือกตั้ง

 

ประเด็นที่ 3 ที่ต้องติดตามต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2024 ถึงปี 2025 คือปัจจัยการเมืองของโลกที่มีการเปลี่ยนยุค โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งปัจจุบันจากโพล คามาลา แฮร์ริส มีคะแนน 48.1% นำคู่แข่งขันคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีคะแนน 46.3%

 

ทั้งนี้ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างมีนโยบายที่แตกต่างกัน เช่น กรณีของทรัมป์ที่มีนโยบายลดภาษีนิติบุคคล รวมถึงลดกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งต่อต้านผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย และมีนโยบายในทำสงครามการค้า (Trade War) อีกทั้งยังสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิล

 

ขณะที่แฮร์ริสมีนโยบายสนับสนุนสวัสดิการของประชาชน ต้องการควบคุมราคาอาหาร ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงลดภาษีให้กับกลุ่มคนจน รวมทั้งปรับขึ้นภาษีกับกลุ่มคนรวยและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ถือเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและภาคการลงทุนค่อนข้างชัดเจน ดังนั้นหากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง ตลาดทุนอาจจะมองภาพในเชิงลบ

 

ในขณะที่ฝ่ายของทรัมป์ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากมีนโยบายในการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% ลงเหลือ 15%, ปรับลดกฎระเบียบต่างๆ ให้ผ่อนคลายลง เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชน, นโยบายการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจากปัจจุบันที่ 20% เป็น 60% ตลอดจนเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มอีกเฉลี่ย 10%

 

ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามต่อเนื่องหลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าพรรคใดจะสามารถครองเสียงสภาคองเกรสที่มีทั้งสภาบนและสภาล่าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ ในอนาคต

 

Digital Wallet ช่วยปั๊มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4

 

สำหรับเศรษฐกิจโลก ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นของการชะลอตัวระยะต่อไปของเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่คือสหรัฐฯ และจีน โดยประเมินว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะขยายตัวในระดับประมาณ 1.4-1.6% จากช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตเฉลี่ยในระดับ 3%

 

ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนเริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวที่ชะลอตัวลงชัดเจนเช่นกัน โดยฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของจีนในปีนี้จากระดับ 5% ลงมาเหลือ 4.8% ส่วนในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจของจีนจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงเหลือระดับประมาณ 4.5%

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และไทย มีโอกาสเห็นทิศทางที่ปรับดีขึ้น โดยเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าจะกลับมาฟื้นขยายตัวในระดับประมาณ 1% ส่งผลให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจทั้งโลกจะขยายตัว 0.8% และในปีหน้าจะขยายตัวได้ 1.3%

 

ส่วนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ค่อนข้างย่ำแย่ ภาพรวมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะดูดีขึ้นบ้าง ส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นทั้งปีนี้อาจจะไม่เห็นการเติบโต และคาดว่าในปีหน้าจะกลับมาขยายตัว

 

ด้านเศรษฐกิจของไทย คาดว่าจะได้อานิสงส์จากโครงการ Digital Wallet ซึ่งในเฟสแรกจะแจกเงินเข้าสู่ระบบ 1.4 แสนล้านบาท รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เป็นปัจจัยบวก โดยมีบางนโยบายเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้ค่อนข้างดี ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจของไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้เริ่มดูดีขึ้น

 

ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ จึงปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 ปี 2024 จากขยายตัว 2.9% เป็น 3.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้มีโอกาสที่จะขยายตัวในระดับ 2.5% และในปีหน้าประเมินว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3%

 

นอกจากนี้ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ 1 ครั้ง และคาดว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีหน้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X