วันนี้ (10 กันยายน) ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แถลงมติการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐครั้งที่ 6/2567 ว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานการประชุม ได้ลงนามคำสั่ง 14/2567 แต่งตั้งรองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ 2 คน คือ 1. ภัครธรณ์ เทียนไชย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และ กาญจนา จังหวะ สส. ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 20 คน มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ และยังให้กำหนดมาตรการชั่วคราวระหว่างการพิจารณาด้วย โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมอบหมายให้ไพบูลย์นั่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมีกรอบระยะเวลาตรวจสอบภายใน 60 วัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ 20 สส. พรรคพลังประชารัฐนั้น ไพบูลย์กล่าวว่า ต้องมีการตรวจสอบการกระทำว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคหรือไม่ ซึ่งกรอบการพิจารณาว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ มีหลายข้อที่ต้องให้กรรมการไปตรวจสอบเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ยังไม่ตรวจสอบว่าขัดต่อบังคับแล้วหรือไม่ โดยยืนยันว่าจะไม่มีการส่งชื่อนั่งกรรมาธิการวิสามัญ และขับออกจากพรรค เพราะไม่มีเหตุผลจำเป็น แต่จะใช้วิธีอื่นในการลงโทษ
เมื่อถามว่า วิธีนี้จะเป็นการบีบ สส. ให้ลาออกเองหรือไม่ ไพบูลย์ระบุว่า ไม่ได้เป็นการบีบ แต่เป็นการดำเนินตามนโยบายของพรรค
ขณะที่ พล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า สส. พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมโต๊ะแถลงข่าวกับ ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ว่า ต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 หรือไม่
ทั้งนี้ ร.อ. ธรรมนัส ยังเป็น สส. พรรคพลังประชารัฐ คงจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับพรรคต่อไป วันนี้คณะกรรมการบริหารพรรคมีการพูดคุยกัน สส. พรรคพลังประชารัฐที่กระทำผิดข้อบังคับจะถูกพิจารณาตามหลักฐานและพฤติกรรมที่ปรากฏ โดยมีไพบูลย์ และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3-4 คน ร่วมกันพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ส่วนผลจะเป็นอย่างไรจะต้องรอ เพราะเพิ่งตั้งคณะทำงานในวันนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะส่งผลสั่นคลอนต่อรัฐบาลแพทองธารหรือไม่ พล.ต.ท. ปิยะ กล่าวว่า นายกฯ ต้องพิจารณา เพราะไม่ใช่หน้าที่ของพรรคพลังประชารัฐ นายกฯ เป็นผู้นำประเทศ ผู้บริหารรัฐบาล จะต้องทำตามกฎหมายโดยเคร่งครัด หากนายกฯ ยอมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาครอบครอง ครอบงำ หรือครอบครัว มันผิดกฎหมายชัดเจน ไม่ใช่แค่ในเรื่องที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องเรียน แต่ก็มีคนอื่นอีกเป็นร้อยเป็นพันมาร้องเรียน ถ้าทำผิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ ก็จะมีคนแจ้งความหรือดำเนินคดีต่อไปเรื่อยๆ
ไพบูลย์ยังตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีการเชื่อมโยงคดีร้องเรียนนายกฯ โดยยืนยันว่า ไม่มีแน่นอน ข่าวโคมลอย ไม่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนกระแสที่ข่าวระบุว่า กระบวนการร้องเรียนต่างๆ มาจากคนตัวสูง ผิวขาว สวมแว่น ไพบูลย์ปฏิเสธ และบอกว่า ไม่เคย ไม่มี และที่เรืองไกรเดินหน้าร้องเรียนนั้นทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่นามพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะเอาผิดกับคนที่เปิดโปงเรื่องนี้หรือไม่ ไพบูลย์กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องอะไรทั้งนั้น ยืนยันว่าเราไม่ทำอย่างนั้น
เมื่อถามถึงกรณีที่เรืองไกรไปยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไพบูลย์กล่าวว่า ท่านทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามพรรค
พล.ต.ท. ปิยะ กล่าวเสริมว่า ตนขอแสดงความเห็นใจนายกฯ เพราะเพิ่งรับตำแหน่งก็มีหลายคนจองกฐิน ทั้งนี้ประเทศไทยปกครองด้วยนิติรัฐ ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการที่ผู้ใดกระทำการโดยไม่ยึดกฎหมาย บุคคลใดก็สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดคนนั้นได้ ดังนั้นสิ่งที่นายกฯ หรือรัฐบาลควรทำคือ เลี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย
พล.ต.ท. ปิยะ กล่าวต่อว่า จากที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่ามีรัฐมนตรีที่สิ้นสุดการรักษาการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 และ 168 แต่ก็ยังมีภาพปรากฏต่อสื่อมวลชน จึงมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 อย่างชัดเจน หากนายกฯ ยังปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการใดๆ คิดว่าคงมีประชาชนร้องทุกข์ต่อไปเรื่อยๆ ง่ายที่สุดคือทำตามกฎหมาย และอย่าทำผิด