ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี! กกร. ชี้ จัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้เร็ว มีผลเชิงบวกต่อตลาดเงินตลาดทุน ดึงความเชื่อมั่น จี้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาปากท้อง เร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จ่อยื่นสมุดปกขาวแก้ปัญหาเศรษฐกิจเดือนกันยายนนี้
วันนี้ (4 กันยายน) ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร. มีความยินดีที่รัฐบาลสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่และรัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นเอกภาพและศักยภาพ สามารถบริหารประเทศต่อไปได้
“ช่วงที่ผ่านมา นายกฯ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าพบ สามารถสร้างความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งก็มีผลสะท้อนเชิงบวกไปยังพัฒนาการของตลาดเงินตลาดทุนอีกด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
สำหรับข้อเสนอเร่งด่วน กกร. ขอให้รัฐบาลเร่งส่งผ่านเม็ดเงินเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะเม็ดเงินที่จะส่งไปสู่กลุ่มเปราะบาง และไม่จำเป็นว่าจะอยู่ในรูปแบบใด หรือไม่จำเป็นต้องเป็น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เพราะเม็ดเงินส่วนนี้มีผลต่อรายได้ของภาคครัวเรือนโดยตรง และจะสามารถส่งผ่านไปถึงร้านค้าภายในชุมชนได้ อีกทั้งสามารถสร้างบรรยากาศที่ ‘กระชุ่มกระชวย’ ให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว แม้แต่ ‘ข้าวไทย’ ยังเสี่ยงพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งเวียดนามและอินเดีย
- ไหวไหมเศรษฐกิจไทย? ส่งออกไม่ฟื้น ภาคการผลิตทรุด โรงงานแห่ปิดตัวกว่า 1,700 แห่ง
จี้กระตุ้นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เจาะกลุ่มเปราะบาง
“รัฐบาลต้องเร่งส่งผ่านเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยจะเรียกเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าส่งผ่านลงไปที่กลุ่มเปราะบางได้เร็วที่สุด ก็จะเป็นอะไรที่ทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวยกลับไปที่ฐานราก จะสร้างบรรยากาศและอารมณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีได้อย่างรวดเร็ว” ผยงย้ำ
ผยงกล่าวอีกว่า สำหรับมุมมองที่มีต่อนโยบายการเงินการคลัง ‘ต้องไม่ใช่แค่อัดฉีดเม็ดเงินหรือสภาพคล่อง’ รัฐบาลต้องเร่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคเอกชนควบคู่กันไป เพราะนโยบายคือการเชื่อมโยงระบบในหลายๆ ภาคส่วนเข้าด้วยกัน ให้สามารถนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ด้าน ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า วันนี้ถ้าดู ครม. ชุดนี้เทียบกับชุดที่แล้ว ชุดนี้น่าจะใสกว่าชุดที่แล้ว”
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ส.อ.ท. ได้เข้าพบกับนายกฯ และมีการนำเสนอในหลายเรื่อง เช่น เรื่องของค่าไฟฟ้า โดยค่าไฟฟ้าที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องจ่ายราว 3-4 หมื่นล้านบาทก็ได้รับการจ่ายคืนแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ช่วยให้เอกชนมีกระแสเงินสด
สำหรับแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไทยใน 5 ข้อเสนอเร่งด่วนที่สามารถทำได้ทันทีคือ
- ปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและการทุ่มตลาด
- ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT)
- การลดต้นทุนด้านการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
- การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs
ชงตั้งรองนายกรัฐมนตรีเป็น ‘หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ’
ขณะที่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีความเป็นเอกภาพดี สำหรับเสียงในสภาก็เพียงพอแล้ว เพราะฉะนั้นต้องดูว่าใครจะเข้ามาเป็นหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เพราะส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด จึงขอเสนอให้แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจโดยตรง เพื่อความคล่องตัวในการทำงานเมื่อมีความจำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นรองนายกฯ ที่จะเข้ามาดูในส่วนนี้ควรจะมีความชำนาญและมีประสบการณ์ประสานงานกับภาคเอกชนในภาคของเศรษฐกิจ
“ยกตัวอย่างการทำงานในสมัยอดีตนายกฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา การมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นรองนายกฯ ทำให้ติดต่อประสานงานกับประเทศจีนในช่วงวิกฤตโควิดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แต่เมื่อมีการพูดคุยกันระหว่างรองนายกฯ ก็ได้ผลทันทีใน 3 วัน เพราะตอนนี้เศรษฐกิจเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญที่สุด จำเป็นต้องมีท่านรองนายกฯ ที่ชำนาญ สามารถจะเป็นหัวหน้าทีมได้ และ กกร. ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติ” สนั่นกล่าว
สนั่นทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ประเทศไทยต้องมีการเจรจาการค้ากับต่างประเทศในด้านเศรษฐกิจให้มากขึ้น อาทิ สหภาพยุโรป (EU)
ทั้งนี้ เร็วๆ นี้ กกร. จะเร่งจัดทำสมุดปกขาวเพื่อสรุปข้อเสนอของภาคเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าภายในเดือนกันยายนนี้
เร่งแก้โจทย์ ‘สินค้าจีนทะลัก’
ด้าน วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า รัฐมนตรีใหม่น่าจะคล้ายชุดเดิม มีเพียงบางกระทรวงที่ปรับเปลี่ยน คงต้องดูแนวนโยบายว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รัฐบาลใหม่แล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจคาดหวังให้รัฐบาลแก้ไขอย่างรวดเร็วที่สุดคงเป็นเรื่อง ‘เศรษฐกิจ’
โดยการหมุนเวียนเงินในประเทศที่สามารถทำได้ทันที คือเงินงบประมาณที่จะลงมากระตุ้นการใช้จ่าย เพราะขณะนี้ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการรายเล็กที่รอคอย ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็คาดหวังเช่นกัน หากรัฐบาลสามารถเร่งรัดการใช้จ่ายจากงบประมาณได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้น ตั้งแต่ภาคประชาชนในกลุ่มเปราะบางไปจนถึงภาคเอกชน
“ตอนนี้เป็นช่วงขาลงมากๆ ของเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเหมือนกัน เพราะหลังจากโควิด ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือเรื่องเงินเฟ้อ ข้าวของแพง รัฐบาลจะต้องหาวิธีแก้ไขให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย”
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวก็ต้องเร่งปรับ เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มระดับรายได้ไม่สูงนักเริ่มชะลอการท่องเที่ยว ใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลกระทบต่อโรงแรมขนาดเล็ก เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวิธีการท่องเที่ยว ด้วยการเช่าที่พักแบบ Airbnb มากกว่า
“เรื่องสินค้าจีนก็ต้องทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ค่าแรงก็เป็นอีกด้านที่ต้องคำนึงถึง หากปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ทันจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน และในระยะยาวคือเรื่องกำลังซื้อที่คนไทยยังน้อยอยู่ หากเศรษฐกิจดีขึ้นจะช่วยได้มาก”
วิศิษฐ์ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการธุรกิจก็ติดตามอยู่ว่านโยบายต่างๆ จะช่วยได้ไหม และผู้ประกอบการเข้าถึงหรือเปล่า เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งจะต้องมาจากระดับฐานราก โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจระดับย่อยจนถึงระดับกลาง ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ถือว่าน่าเป็นห่วงน้อยที่สุด เพราะสามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้
“ในโค้งสุดท้ายของปีนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวัง คือการส่งออกน่าจะเริ่มนิ่งและเป็นบวก เติบโตขึ้นแม้เติบโตไม่ได้มากนัก แต่ยังคงรักษาฐานการส่งออกได้แม้การแข่งขันสูง”